วิจัยชี้ผู้สูงอายุเสี่ยงเกิด ‘ลองโควิด’ มากกว่า วัคซีนช่วยป้องกันไม่ได้

วิจัยชี้ผู้สูงอายุเสี่ยงเกิด ‘ลองโควิด’ มากกว่า วัคซีนช่วยป้องกันไม่ได้ 

ผลการศึกษาชิ้นใหม่ในสหรัฐแสดงให้เห็นว่าอาการลองโควิด สามารถเกิดขึ้นได้แม้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่มีอาการติดเชื้อรุนแรง ขณะที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับผลกระทบด้านความเสี่ยงที่จะเกิดลองโควิดมากกว่าคนกลุ่มอื่น

การศึกษาล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ติดเชื้อขั้นรุนแรงจะมีอาการลองโควิดตามมา

ขณะที่รายงานแยกอีกชิ้นหนึ่งจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) ระบุว่า ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 1 ใน 4 คน จะมีปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากลองโควิดอย่างน้อย 1 ประการภายในหนึ่งปีหลังจากติดเชื้อ เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่าที่อัตราส่วนผลกระทบด้านสุขภาพจากลองโควิดอยู่ที่ 1 ใน 5

แม้ว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในระยะแรกและช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีการเจ็บป่วยร้ายแรง แต่ผลการวิจัยที่เพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ช่วยป้องกันอาการลองโควิดได้มากเท่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดหวังในตอนแรก

ในงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature Medicine ที่ติดตามการฉีดวัคซีนโควิดในทหารผ่านศึกซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 3 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าประมาณ 1% หรือเกือบ 34,000 คนมีอาการติดเชื้อขั้นรุนแรง

การติดเชื้อขั้นรุนแรงรวมถึงมีอาการลองโควิดพบได้บ่อยในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มของโมเดอร์นาหรือไฟเซอร์ และไม่ทราบว่าในจำนวนนี้มีใครได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่

ในภาพรวม 32% มีอาการลองโควิดนานถึง 6 เดือนหลังการติดเชื้อขั้นรุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับทหารผ่านศึกที่ไม่ได้รับวัคซีนใดๆ ที่ติดเชื้อและมีอาการลองโควิดที่ 36%

การฉีดวัคซีนลดโอกาสที่จะมีอาการลองโควิดได้เพียง 15% เท่านั้น แม้ว่าจะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจและการแข็งตัวของหลอดเลือดลงได้ครึ่งหนึ่งก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจนสำหรับอาการลองโควิด ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนและใช้วิธีป้องกันตนเองอื่นๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ อย่างการสวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการติดเชื้อและอาการลองโควิดในระยะยาว