อ.สิริพรรณ อ่านฉันทามติชัชชาติ ยกผลลต.ใหญ่ปี’62 เทียบส.ก. ชี้คนนิยมฝ่ายค้านเพิ่ม 4%

อ.สิริพรรณ อ่านฉันทามติชัชชาติ ยกผลเลือกตั้งใหญ่’ปี 62 เทียบคะแนนส.ก. ชี้ฝ่ายค้านได้แต้มเพิ่ม 4%

 

วันที่ 25 พฤษภาคม รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความอัศจรรย์ของตัวเลข (ใช้ตัวเลขกลมๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย)

1. คะแนน ส.ก. สะท้อนฐานเสียงของพรรคการเมือง ได้ดีกว่า คะแนนผู้สมัคร เปรียบเทียบผลเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ กับผลเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 จะพบว่า ตัวเลขฐานเสียงของ 3 พรรคการเมืองหลัก แทบไม่เปลี่ยนแปลง (ดูภาพประกอบ) กล่าวคือ

1.1 เพื่อไทย ปี 62 ได้ 19% หรือ 600,000 จาก 20 เขต หากคำนวณ 30 เขต เพื่อไทยจะมีฐานเสียงที่ประมาณ 800,000 หรือ 26% เท่ากับ คะแนนเสียง ส.ก.ของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

1.2 อนาคตใหม่ ปี 62 ได้ 25% หรือ 800,000 เสียง แต่หากไม่มีการยุบไทยรักษาชาติ น่าจะต้องคืนประมาณ 200,000 เสียงให้เพื่อไทย จึงเหลือประมาณ 600,000 เสียง หรือ 20% ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนคะแนนของก้าวไกลในครั้งนี้

1.3 ในการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง ประชาธิปัตย์ ได้ 15% ของคะแนนเสียง หรือประมาณ 340,000 เสียง ครั้งนี้ 470,000 เสียง ครั้งก่อน

2.สัดส่วนคะแนนเสียงของฝั่งฝ่ายค้าน คือ เพื่อไทย 26% ก้าวไกล 20% และ ไทยสร้างไทย 10% รวมกันเท่ากับ 56% เพิ่มขึ้นมาประมาณ 4% จากปี 62 ที่เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย และ เศรษฐกิจใหม่รวมกันได้ 1,600,000 เสียง หรือประมาณ 52%

3.คะแนนของพลังประชารัฐลดลงมากที่สุด จาก 25% เหลือเพียง 11% แต่หากรวมรักษ์กรุงทเพ 8% และกล้า 2% จะได้ 21% หรือ หายไป 4% ที่เพิ่มไปให้เข่งฝ่ายค้าน

**อาจสรุปได้ว่า คะแนนเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นจริง โดยเปลี่ยนแปลงในทางบวกประมาณ 4%**

4.ชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ นั้นมาจาก 3 ประสาน คือ 1 เพื่อไทยส่วนใหญ่หรือทั้งหมด + 2 ก้าวไกล (ส่วนต่างระหว่างคะแนน ส.ก. ก้าวไกล- คะแนนคุณวิโรจน์ ประมาณ 220,000) + 3 อนุรักษ์นิยมก้าวหน้าที่เลือก ส.ก. พรรค/กลุ่มอื่นๆ แต่ ข้ามฝั่งมาเลือกอาจารย์ชัชชาติ และรวมถึงประมาณ 160,000 เสียงจากไทยสร้างไทย ที่เลือกสูตรผสม ส.ก.พรรค ผู้ว่าชัชชาติ

คะแนนเสียงของอาจารย์ชัชชาติ จึงสะท้อนคุณสมบัติ ความสามารถ และความเหมาะสมส่วนบุคคล ที่ทำให้ผู้เลือกตั้งตัดสินใจ โดยมองข้ามความขัดแย้งของพรรคการเมือง และขั้วการเมือง

ในหน่วยเลือกตั้งที่อยู่เป็นตัวอย่างที่ดี หน่วยนี้อยู่ในเขตพญาไท เคยเป็นฐานสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เพราะอยู่ใกล้ที่ตั้งพรรค แต่การเลือกตั้งปี 62 มากกว่า 90% คนในหมู่บ้านย้ายไปเลือกพลังประชารัฐ แต่ครั้งนี้ เลือกอาจารย์ชัชชาติ หากรวมที่เลือก คุณสกลธี คุณอัศวิน คุณสุชัชวีร์ และคุณรสนาในหน่วยนี้ก็เกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว

กระนั้น ในการเมืองระดับชาติ ทั้งฝั่งฝ่ายค้าน และฝั่งรัฐบาล ยากที่จะหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับอาจารย์ชัชชาติ เพื่อจะได้รับชัยชนะแบบฉันทามติเช่นนี้ได้

5.คำถามหนึ่งที่ถูกถามคือ ถ้าคุณสุชัชวีร์ลงสมัครอิสระ จะได้คะแนนมากกว่านี้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” ดูง่าย ๆ จากตัวเลขคะแนนรวมของผู้สมัคร ส.ก.ประชาธิปัตย์ 340,000 เสียง ซึ่งมากกว่าคะแนนส่วนตัวที่คุณสุชัชชีวร์ได้ ที่ 250,000 เสียง หมายความว่า ประมาณ 90,000 เสียงที่กาให้ ส.ก. ประชาธิปัตย์ กาให้ผู้สมัครผู้ว่า คนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะไปกองอยู่ที่อาจารย์ชัชชาติ

6.คำถามที่ค้างคาใจที่สุดจากผลเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่กลับมาปักหมุดหลักการผู้บริหารที่มาจากเสียงประชาชนคือ จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2,635,283 หรือ ประมาณ 60% น้อยกว่าการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งสุดท้ายในปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 63.9% หรือลดลงจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2562 กว่า 400,000 คน ที่การใช้สิทธิอยู่ที่ 72.5% หรือ 3,102,280 คน ทั้งๆ ที่กล่าวกันว่าคนกรุงน่าจะกระหายการเลือกตั้งที่รอคอยกันมานานกว่า 9 ปี

แน่นอนว่า 400,000 กว่าคนนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนผลเลือกตั้งผู้ว่าได้ เพราะต่อให้ยก 400,000 คะแนนให้ผู้สมัครท่านใดไปทั้งหมดก็ยังแพ้ อาจารย์ชัชชาติแบบไม่เห็นฝุ่นอยู่ดี