WEF : ผลพวงศึกรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตอาหารโลกทำนานาชาติชูนโยบายกีดกันการค้า

ผลพวงศึกรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตอาหารโลกทำนานาชาติชูนโยบายกีดกันการค้า

 

เวทีเสวนา World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า วิกฤตอาหารโลกที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลพวงจากสงครามในยูเครน ทำให้มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ พากันหันไปใช้มาตรการกีกกันทางการค้า ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าในวงกว้างตามมา

สัญญานของการเพิ่มขึ้นของการนำโยบายกีดกันทางการค้ามาใช้มีตั้งแต่ที่แหล่งข่าวของรัฐบาลบอกกับรอยเตอร์ว่า อินเดียอาจจำกัดการส่งออกน้ำตาลครั้งแรกในรอบ 6 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำตาลในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่อินโดนีเซีย ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็จะยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร และแทนที่ด้วยการกำหนดราคาสูงสุดสำหรับวัตถุดิบป้อนโรงกลั่นท้องถิ่น

กีตา โกปินาถ รองกรรมการผู้จัดการคนที่ 1 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่า “นี่เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าจะพูดกันตรงๆ แล้ว ฉันคิดว่าปัญหาที่รอเราอยู่ข้างหน้านั้นใหญ่กว่าปัญหาที่ผ่านมาแล้วมาก”

โกปินาถกล่าวว่า การบริโภคของผู้คนในแถบซับซาฮาราของแอฟริการาว 40% ถูกใช้ไปกับอาหาร ค่าของชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาอย่างมาก เช่นเดียวกับการปรับขึ้นของราคาสินค้าที่ทำให้เกิดการกักตุนสินค้าของภาครัฐ

โกปินาถระบุด้วยว่า ขณะนี้มีประเทศมากกว่า 20 ประเทศที่จำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ย ซึ่งด้านการซ้ำเติมปัญหาและยังทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง

การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้เกิดวิกฤตทางอาหารขึ้นอย่างกระทันหัน กระนั้นก็ดีนายเดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ ระบุว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตด้านอาหารที่ไม่ปกติอยู่แล้วก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ในยูเครน ซึ่งทำให้ต้นทุนอาหาร ราคาสินค้า โภคภัณฑ์ ไปจนถึงค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า สามเท่า และสี่เท่า

“จำนวนคนที่เดินหน้าไปสู่สถานะแห่งความอดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านคน เป็น 276 ล้านคนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา”บีสลีย์กล่าว และว่า การปิดท่าเรือต่างๆ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึงในยูเครนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หมายถึงการประกาศสงครามกับอุปทานอาหารทั่วโลก

ประเด็นเกี่ยวกับการกีกกันทางการค้ากลายเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีหารือที่ดาวอส กระตุ้นให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการเจรจาอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบ แต่บีสลีย์ระบุว่า บริษัทหลายแห่งในดาวอสได้ติดต่อเข้ามาว่าพวกเขาจะสามารถให้ความช่วยเหลือในวิกฤตอาหารโลกได้อย่างไร