“จาตุรนต์” จี้รัฐลดต้นทุนผลิตให้เกษตรกร-ผู้ผลิต อุดหนุนค่าอาหาร-พลังงานให้ปชช. แก้วิกฤตของแพง

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจด้านภาคการเกษตรของไทย ต่อเนื่องหลังการร่วมพบปะพูดคุยกับเกษตรกรในแปดริ้ว โดยได้เสนอทางออกเบื้องต้นในการบรรเทาปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำแต่ค่าครองชีพสูงขึ้นจนกระทบต่อชีวิตประชาชนว่า

ช่วยลดต้นทุนการผลิต อุดหนุนค่าปุ๋ย ช่วยค่าอาหารคนไม่มีรายได้

ราคาปุ๋ยแพงขึ้นทั่วโลกมา 1-2 ปีแล้ว สงครามรัสเซียบุกยูเครนมีผลกระทบต่อการส่งออกพืชผลการเกษตรและอาหารอย่างรุนแรง มาตรการแซงค์ชั่นที่ใช้กันทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นมากซึ่งส่งผลให้ปุ๋ยขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีก

เมื่อเร็วๆนี้ WHO ออกมาเตือนว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตอาหารโลกในเร็วๆนี้และอาจต่อเนื่องหลายปี ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจต้องประสบปัญหาถึงขั้นมีคนจำนวนมากอดอยากหรืออดตาย

เมื่อ 2-3 วันก่อน IMF ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในวิกฤตด้วยการอุดหนุน (subsidize) ค่าอาหารและพลังงานแก่ประชาชนโดยตรง

ข้อเสนอนี้น่าคิดสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกพืชผลเกษตรโดยเฉพาะอาหาร รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เกษตรลดการผลิตหรือผลิตแล้วต้องขาดทุนจนเดือดร้อนเป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้น ควรจะปรับการประกันรายได้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อดูแลเกษตรกรได้มากขึ้น แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอและไม่ตรงจุด สิ่งที่ควรทำก็คือการหาทางลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรด้วยการอุดหนุนเป็นเงินเช่นค่าปุ๋ยและค่าน้ำมัน เป็นต้น

ถ้ามองปัญหาระยะปานกลางและระยะยาว ควรจะหาทางส่งเสริมให้มีการนำเข้าปุ๋ยหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยให้หลากหลายไม่ผูกขาดอยู่กับแต่รายใหญ่ ส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยในประเทศและใช้วัตุถดิบในประเทศให้มากขึ้นโดยเฉพาะส่งเสริมให้เกิดผู้ผลิตปุ๋ยรายย่อยจากการรวมตัวกันของเกษตรกรและผู้ประกอบการ SME ลดข้อจำกัดทางกฎหมายและหาทางดูแลเรื่องมาตรฐานคุณภาพ

ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลเรื่องอาหารนั้น ประเทศไทยก็ไม่ควรมองข้าม วิกฤตอาหารโลกอาจจะรุนแรงกว่าที่เราคิด เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าและเติบโตไม่ทั่วถึง เป็นไปได้สูงที่คนจำนวนมากขึ้นๆไม่มีรายได้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินซื้อข้าวกินก็ได้ การดูแลให้คนไทยมีหลักประกันว่าจะมีอาหารกินในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องที่ควรคิดไว้ล่วงหน้า อาจจะไปศึกษาการใช้คูปองอาหารในบางประเทศไว้บ้างก็ได้

ย้อนกลับไปเรื่องที่ผมเคยเสนอว่าเมื่อประเทศไทยต้องการเป็นครัวโลก ก็ต้องไม่กลัววิกฤตอาหาร แต่ต้องส่งเสริมให้เราสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรและอาหารทั้งเพื่อส่งออกและให้นักท่องเที่ยวมาบริโภค ถ้ารัฐช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรและผู้ผลิตอาหาร ถึงจะมีกำลังซื้อมากขึ้นจากต่างประเทศ อาหารก็จะไม่แพงมากตามไปด้วยถ้าการผลิตอาหารก็มากขึ้นตามไปด้วย

ท่ามกลางวิกฤตที่ของแพงและค่าครองชีพสูงจะเป็นปัญหาไปอีกนานจะใช้วิธีบอกให้ประชาชนกินน้อยใช้น้อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาทางทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มรายได้ให้ประชาชน และสำหรับประชาชนที่ไม่มีรายได้ ยากจนเดือดร้อน รัฐก็ต้องหามาตรการดูแลให้มีอาหารพอกินเหมือนที่องค์กรระดับโลกเขาแนะนำประเทศต่างๆอยู่

ที่พูดไปนี้รัฐบาลจะฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่รับปากพี่น้องเกษตรกรที่ไปคุยกันมาแล้วว่าจะพูดแทนให้ ก็ต้องพูดครับ