ไบเดนผนึก 12 ชาติพันธมิตรตั้งร่วมมือเศรษฐกิจคานจีน รวมไทยด้วย

ไบเดน ประกาศแผนเจรจาเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF จับมือชาติพันธมิตรเอเชีย ค้านอำนาจการค้าจีน

 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุมไตรภาคี 4 ชาติ หรือกลุ่ม Quad ได้ประกาศแผนการจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าใหม่ที่จะช่วยให้สหรัฐสามารถทำงานใกล้ชิดกับชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้มากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การค้าดิจิทัล พลังงานสะอาด และการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

ภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF จะประกอบด้วยชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐในเอเชีย 12 ชาติ ประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย เข้าร่วมกรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งทั้ง 12 ชาติมีอัตราจีดีพีรวมถึง 40% ของจีดีพีทั่วโลก ไร้รายชื่อของไต้หวันเข้าร่วมกรอบความร่วมมือดังกล่าว

ตามข้อมูลของรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวว่า IPEF ไม่ใช่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยกเว้นกำแพงภาษีการค้า หรือการเปิดตลาดเสรี แต่เป็นการยกระดับความร่วมมือภายใต้กรอบข้อกำหนดใหม่สำหรับเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21 สำหรับการบาลานซ์อำนาจการค้าในภูมิภาคดังกล่าว แม้รัฐบาลสหรัฐจะไม่ได้ระบุตรง ๆ ว่านัยสำคัญของกรอบการค้านี้คืออะไร แต่เชื่อว่ามีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการคานอำนาจทางการค้าของอิทธิพลจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า กรอบข้อตกลงการค้า IPEF เป็นกรอบการค้าที่อาจดูเลื่อนลอย เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้ชาติที่เข้าร่วมได้รับผลประโยชน์ด้านภาษีตามที่บรรดาชาติในอินโด-แปซิฟิกคาดหวัง ทว่าอย่างไรก็ตาม ไบเดนให้คำมั่นว่ากรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ IPEF จะต้องก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน