‘ไอติม’ แนะ ‘ประยุทธ์’ ต่อยอดเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ขานรับข้อเสนอกระจายอำนาจ

‘ไอติม’ แนะ ‘ประยุทธ์’ ต่อยอดจากเลือกตั้งผู้ว่า กทม. โดยการขานรับข้อเสนอการกระจายอำนาจของคณะก้าวหน้า เพื่อให้ผู้บริหารสูงสุดของทุกจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง 

 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าวถึง คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งใน กทม. ไม่สะท้อนกระแสนิยมของรัฐบาล เพราะเป็นเพียงการเลือกตั้งในจังหวัดเดียว ว่าเป็นคำพูดที่ชวนให้ตั้งคำถามต่อ ว่าทำไม กทม. จึงเป็นเพียงจังหวัดเดียว ที่มีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในพื้นที่
.
เพราะแม้จังหวัดอื่นทั่วประเทศ มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่สังกัดราชการส่วนท้องถิ่น แต่อำนาจส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการจังหวัด กลับตกอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการแต่งตั้งโดยราชการส่วนกลาง ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นทั้งยังต้องเจอกับข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในแต่ละจังหวัดได้เท่าที่ควร
.
นอกจาก กทม. จะผูกขาดอำนาจ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และบริการสาธารณะที่มีคุณภาพไว้แล้ว ความแตกต่างในเชิงโครงสร้างการบริหารจังหวัด ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง กทม. และ จังหวัดอื่นๆ ที่เรื้อรังมายาวนาน
.
พริษฐ์ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. นับเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับชาว กทม. ที่ได้ขีดเส้นทางอนาคตของตนเอง หลังจากกว่า 9 ปี ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ กว่า 12 ปี ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร โดยผลเลือกตั้งที่ปรากฎเป็นสัญญาณที่ส่งออกมาชัดเจน ว่าพวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับผลงานของรัฐบาลและที่มาอันไม่ชอบธรรมซึ่งสืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร
.
แต่พริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า เขาหวังว่าความตื่นตัวของคนทั่วประเทศต่อการเลือกตั้ง กทม. “จะนำไปสู่พลังในการสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการแก้กติกาให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดในจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ แต่ต้องรวมถึงการทำให้ผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้น มีอำนาจและงบประมาณเพียงพอในการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองด้วย”
.
“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นกลไกที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการกระจายความเจริญไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยการกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัด จะช่วยให้คนที่เกิดในจังหวัดอื่นๆ มีความจำเป็นน้อยลงที่จะต้องยอมแยกจากครอบครัวและย้ายถิ่นฐานเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ งานที่หลากหลาย และสวัสดิการที่มีคุณภาพ ที่อาจจะหาได้ยากกว่าในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง”
.
“การแก้ปัญหา กทม. เอง ก็ต้องไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมอง กทม. เป็นสุญญากาศ ที่ตัดขาดจากส่วนอื่นของประเทศ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมอง กทม. เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ที่จะต้องไม่พัฒนาแบบสวนทางกับจังหวัดอื่น แต่ต้องพัฒนาไปควบคู่กับจังหวัดอื่น”
.
“ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่การรัฐประหาร หลายคนอาจรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศไทยและประชาธิปไตย ผมหวังว่าผลการเลือกตั้ง กทม. ครั้งนี้ จะเป็น “รุ่งอรุณใหม่แห่งความหวัง” ที่นำไปสู่การที่สังคมร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการทลายปัญหาของ “รัฐราชการรวมศูนย์” และผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” พริษฐ์ระบุ
.
หากท่านใดเห็นด้วยในเรื่องนี้ สามารถร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้าได้ที่ : https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization