อดีต กกต. เคลียร์ปมเก็บป้ายหาเสียง ตรงไหนไม่ผิดกฎหมาย “ชัชชาติ” ชี้ไม่เป็นประเด็น

อดีต กกต. แจง ปมป้ายหาเสียงใครเก็บแทนผู้สมัครเจอข้อหาลักทรัพย์ได้ พร้อมนำไปทำประโยชน์ถ้าเจ้าของป้ายไม่ได้สัญญาจะให้ไม่ผิดกฎหมาย ‘ชัชชาติ’ เชื่อปชช.แห่เก็บป้าย ไม่เป็นประเด็น เพราะป้ายคนอื่นก็ถูกนำไปมุงหลังคา

 

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนสอบสวน ชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงไวนิลที่สามารถรียูสด์นำมาใช้เป็นกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน ว่าเข้าข่ายในทางจัดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้หรือไม่

เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 23 พฤษภาคม ที่สวนลุมพินี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และกลุ่มเพื่อนชัชชาติ ร่วมวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า หลังได้รับชัยชนะ ด้วยคะแนน 1.38 ล้านเสียง โดยตลอดเส้นทางการวิ่งมีประชาชน และกลุ่มเพื่อนนักวิ่งเข้ามาทักทาย และจับมือทักทายกับนายชัชชาติ เพื่อให้กำลังใจในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ต่อไป

ต่อมาได้ให้สัมภาษณ์ใน กรณีที่ประชาชนนำป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋า นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดูอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งเราก็พยายามเก็บป้ายกลับให้มากที่สุด แต่เท่าที่ตนเห็นประชาชนก็นำป้ายของคนอื่นไปมุงหลังคา บังเอิญของเรานำมารีไซเคิลแล้วสวยดี เลยเก็บกลับไป

ด้านนายสมชัยศรี สุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ว่าด้วย การเก็บป้ายหาเสียง 1. ป้ายหาเสียงเป็นทรัพย์สินของผู้สมัคร ซาเล้ง หรือคนทั่วไปไปเก็บแทน มีข้อหาลักทรัพย์ ยกเว้นเจ้าของป้ายไม่ติดใจเอาความ

2. เป็นหน้าที่ของผู้สมัคร ต้องตามเก็บป้ายของตัวเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการทำสัญญากับร้านที่ติดตั้งว่า รวมค่าจ้างถอดป้ายด้วย

3. หากผู้สมัครไม่เก็บป้าย เจ้าของพื้นที่คือ กทม. หรือเทศบาล หรือหน่วยราชการที่ดูแลในพื้นที่จะเป็นผู้จัดเก็บ เรียกค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บพร้อมดำเนินคดี ตาม กม. รักษาความสะอาด

4. การเอาป้ายไปทำประโยชน์อื่นของประชาชน เช่นทำฝาบ้าน บังแดดร้านขายกล้วยแขก หรือเอาไปตัดเย็บกระเป๋า หากเจ้าของป้ายไม่ได้เป็นการสัญญาว่าจะให้ ก็ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง