ผลวิจัย ม.รังสิต ชี้ คนกรุงเทพฯ 99% ทุกอาชีพ รายได้ การศึกษา ไม่เอาแล้วผู้ว่าฯแต่งตั้ง

ผลวิจัย ม.รังสิต ชี้ คนกรุงเทพฯ 99% ทุกอาชีพ รายได้ การศึกษา ไม่เอาแล้วผู้ว่าฯแต่งตั้ง

 

เมื่อวานนี้ (19 พฤษภาคม 2565) รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยผลวิจัยของนายภาณุพัฒน์ เหลือพร้อม นางสาวพิมพ์ณัฐชยา โรจนโยทิน นางสาวฐรดา สิรปวเรศ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เรื่อง “ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565” เจาะลึกเขตดอนเมือง เขตพระนคร และเขตจอมทอง ตามลำดับ ซึ่งเก็บแบบสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป เขตละ 400 คน รวม 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 เมษายน ถึง 8 พฤษภาคม 2565

โดยมีคำถามเกี่ยวกับความต้องการ ผู้ว่าฯกทม.มาจากการแต่งตั้ง หรือเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ได้ผลสรุป ดังนี้

ผู้ว่าฯกทม. แต่งตั้ง 5 คน 0.4%
ผู้ว่าฯกทม. เลือกตั้ง 1,188 คน 99%
ไม่มีความเห็น 7 คน 0.6%

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังสรุปข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่

1.นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลรัฐประหาร คสช. ได้ปลดผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยอำนาจตามมาตรา 44 เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 และแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพฯแทน ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับความประสงค์ของประชาชนที่ต้องการผู้ว่าฯกทม. มาจากเลือกตั้งที่สูงมากถึง 99%

2.ความปรารถนาให้มีผู้ว่าฯกทม. จากเลือกตั้งโดยประชาชนที่สูงมาก สอดคล้องกับการที่คนกรุงเทพฯ ไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557 ที่สูงมากถึง 93.0%

3.ทั้งชายหญิงเพศทางเลือก ทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่มรายได้ ทุกกลุ่มการศึกษา ทุกอาชีพแม้แต่ข้าราชการพนักงานของรัฐ ไม่เอารัฐประหาร คสช. และต้องการผู้ว่าฯกทม.มาจากการเลือกตั้ง

4.เท่ากับประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้คัดค้านที่มาของผู้ว่าฯกทม. ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 มาตรา 252 ที่จะให้ผู้ว่าฯกทม. นั้น “จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้” ไม่ใช่จากเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

ผลวิจัยนี้สอดคล้องกับผลที่ว่าคนกรุงเทพฯไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557

ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

ด้านเพศ ชาย 554 คน 46.2% หญิง 618 คน 51.5% เพศทางเลือก 28 คน 2.3%

ด้านอายุ Gen Z (อายุ 18-25 ปี) 300 คน 25.0% Gen Y (อายุ 26-42 ปี) 572 คน 47.6% Gen X (อายุ 43-57 ปี) 247 คน 20.6% Gen Baby Boomer ขึ้นไป (อายุ 58 ปีขึ้นไป) 81 คน 6.8%

ด้านรายได้ต่อเดือน รายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10,000 มี 86 คน 7.1% รายได้ 10,001-20,000 มี 498 คน 41.5% รายได้ 20,001-30,000 มี 404 คน 33.7% รายได้ 30,001-40,000 มี 130 คน 13% รายได้ตั้งแต่ 40,001 ขึ้นไป มี 56 คน 4.7%

ด้านการศึกษา ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 10 คน 0.8% มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 179 คน 14.9% อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 412 คน 34.3% ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 506 คน 42.2% สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 93 คน 7.8%

ด้านอาชีพ นักเรียนนักศึกษา 154 คน 12.8% พนักงานเอกชน 416 คน 34.7% รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 171 คน 14.2% เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 131 คน 10.9% ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 199 คน 16.6% พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน 7.8% อื่นๆ 36 คน 3.0%

คำถาม ท่านเห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. พ.ศ.2557 หรือไม่ (1,200 คน)

เห็นด้วย 32 คน 2.7%
ไม่เห็นด้วย 1,116 คน 93.0%
ไม่มีความเห็น 52 คน 4.3%