ถอดบทเรียน ’30 ปี พฤษภามหาโหด’ ชี้ทหารถอนตัวจากการเมืองยังไม่พอ แนะยึดหลักการให้มั่นมากกว่าตัวบุคคล

วงเสวนา ’30 ปี พฤษภามหาโหด’ ร่วมถ่ายทอด-ถอดบทเรียน ชี้คำถามทหารเรียนรู้อะไรบ้าง หวั่นไม่เลิกคิดข้องแวะการเมือง ย้ำมีหน้าที่ปกป้องประเทศไม่ใช่ปกครองประชาชน “สมบัติ” แนะอย่ายึดติดตัวบุคคล เชื่อมั่นต่อหลักการ “ปริญญา” แนะเห็นต่างยังไงก็ไม่ฆ่ากันอีก

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลมติชน ได้ร่วมกันจัดงานเนื่องในวาระ 30 ปี เหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลของประชาชน นำไปสู่การปราบปรามครั้งใหญ่ของไทยในปี 2535 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 18-20 พฤษภาคม เมื่อ 30 ปีก่อน โดยได้เชิญผู้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ทางกาารเมืองครั้งใหญ่ของทศวรรษ 2530 ได้แก่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเวลานั้น พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารเกษียณและคอลัมนิสต์ประจำของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเป็นนักกิจกรรมกลุ่มละครมะขามป้อม มาร่วมให้มุมมองและสะท้อนบทเรียนแห่งเจตนารมย์สู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2540 แต่กลับต้องหยุดชะงักจากการรัฐประหาร 2549 และถดถอยลงจากการรัฐประหาร 2557

ปริญญา กล่าวว่า ผมขอเรียกตามแบบอ.ชาญวิทย์ว่า “เหตุการณ์พฤษภา35” ชื่องานที่เรียกว่า “พฤษภามหาโหด” ก็เรียกโหดมาก แต่ถ้ามองในเหตุการณ์จริงก็โหดจริง นับตัวเลขศพคราวนั้น พฤษภา35 จำนวน 44 ศพ แต่สูญหาย 700 กว่า เวลาผ่านไป 30 ปี เอกสารราชการตามกฎหมาย มีอายุ 20 ปี ควรต้องเปิดเผยได้แล้ว กองทัพเองก็ควรอโหสิกรรมกับญาติผู้สูญเสีย อนุสรณ์สถานที่คุณอานันท์ไปร่วมแถลงควรเสร็จตั้งนานแล้ว น่าเศร้าผ่านมา 30 ปี กว่าจะสร้างก็เพิ่งไม่กี่ปีนี้เอง

สิ่งที่มีประโยชน์ของการพูดเรียกนี้คือ เราได้เรียนรู้อะไร จากเหตุการณ์มหาโหดนี้?

ผมอยากกล่าวว่า ในปลายปี 2533 หนังสือวิเคราะห์รายสัปดาห์ มีสำนักหนึ่งที่ดังมากคือ “ข่าวพิเศษ” ทุกคนต้องอ่าน ไม่ว่านักวิชาการ นักการเมือง นักกิจกรรมต้องอ่าน ฉบับธันวาคม 2533 ระบุว่า “ลาที รัฐประหาร” นี่เป็นความรู้สึกร่วมของสังคม เชื่อว่ามีการเลือกตั้งในปี 2529 หลังพล.อ.เปรมวางมือ จากนี้ไปการแก้ไขปัญหาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีรถถังยึดอำนาจอีก แต่เพียง 2 เดือนต่อมา 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีการรัฐประหาร

เราคิดว่า รัฐธรรมนูญออกมาสงสัยแย่ แต่คนในสังคมค่อนข้างสบายใจ เพราะสุจินดาสัมภาษณ์อย่างยิ้มแย้มว่า บ้านเมืองจะถอยหลังเพียงก้าวเดียว แต่เดินหน้าเป็น 10 ก้าวแล้วจะมีการเลือกตั้ง
ตอนนั้นมีองค์กรนักศึกษา 24 มหาวิทยาลัยของรัฐรวมตัวกัน เราติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ แต่คำพูดของสุจินดาไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งส.ว.ชุดแรก และมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เราไม่ยอมจึงไปประท้วงที่รัฐสภา จนเขาถอยและเอาอำนาจส.ว.ออกจากร่างฯ แต่พอวันที่ 7 เมษายน 2535 สุจินดามาเป็นนายกฯคนนอก ก็เกิดการประท้วง

ผมไม่เชื่อว่าการที่ทหารจะเอาปืนยิงใส่่ผู้ชุมนุมจะเกิดขึ้นแต่ก็เกิดขึ้น สิ่งที่มีประโยชน์พูดกันคือ ทำยังไงไม่ให้เกิดขึ้นอีก ถามตัวท่านเองว่าบ้านเมืองดีกว่า 30 ปีก่อนไหม ธันวาคม 2533 สังคมไทยเห็นตรงกันว่ารัฐประหารจบแล้ว แต่ตอนนี้เรากลับไม่เชื่อ

ส่วนคณะรัฐประหารเองก็ชื่อคล้ายๆกัน คณะรัฐประหารปี 2534 เรียกเป็น รสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แล้วรัฐประหาร 2557 เรียกตัวเองว่า คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แถมใช้บริการ มีชัย ฤชุพันธุ์ มาออกกฎหมาย กรณี อ.มีชัยสรุปบทเรียนแล้ว ถ้าไม่ใส่อำนาจ ส.ว.ในร่างตั้งแต่แรกก็ไม่มีการประท้ววง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 34 ถูกแก้ 3 ครั้ง ครั้งแรกแก้หลังสุจินดาลาออก แก้ 3 เรื่องแรก พอปี 2538 แก้ไขหมวด 3 แล้วปี 2539 คราวนี้ร่างใหม่กลายเป็น รธน.ฉบับประชาชน

ผมเจออ.มีชัยแล้วสรุปว่า แก้เยอะมาก ทำให้คราวนี้ทำสูตรให้แก้ยาก ตอนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534
ว่าด้วยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ถูกเสนอโดยประธานวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง แล้วก็มีบรรดาพรรคการเมืองอัญเชิญและมีการล็อบบี้จากกองทัพ แต่พอรัฐธรรมนูญ 2540 การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องใช้สภาโหวต นั้นจึงเป็นที่มา ส.ว.แต่งตั้งการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก พอเรามีการเลือกตั้ง เราเห็นต่างได้ แต่จบที่การเลือกตั้ง นี่คือวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม ทุกคนมีเสียงเท่ากัน แต่เลือกตั้ง 2562 ไม่จบเพราะมีส.ว.แต่งตั้ง

แล้วอันที่ 2 รัฐธรรมนูญปี 2534 เรายังไม่มีองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นผลมาจาก 2540 แต่ส.ว.ที่แต่งตั้งองค์กรอิสระที่มาในปี 2540 มาจากการเลือกตั้ง

ผมพูดทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า ถ้าอยากเห็นความสงบสุข ต้องมีความเป็นธรรม ผมว่าเราโตพอในการเลือกพรรค เราชอบต่างกันได้ แสดงออกในวันเลือกตั้งแล้วจบ แต่ของเราไม่เป็นธรรม เลือกตั้งไปไม่จบ กล่าวสรุปคือ

เราต้องกลับสู่วิถีทางที่เจ้าของประเทศ เคารพกติกา เลือกตั้งจบ รัฐบาลอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุล ฟังเสียงประชาชน เราต้องกลับสู่จุดหนึ่ง ถึงเวลาแล้ว วันนี้ไม่ใช่แค่ครบรอบ 30 ปี พฤษภา 35 แต่ปีนี้ยังครบ 9 ทศวรรษประชาธิปไตยไทย เรามีต้นไม้ประชาธิปไตยที่พยายามแผ่กิ่งแต่ถูกโค่นลงหลายครั้ง ผมเชื่อว่าความขัดแย้งแตกต่างไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

ด้านสมบัติ กล่าวว่า บรรยากาศการชุมนุมในปี 35 เทียบกับปี 53 นั้น ผมไปประท้วงหลัง 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผมประท้วงอยู่ที่ธรรมศาสตร์ เล่นละครใบ้กลุ่มมะขามป้อม ถ้าผมใช้ละครใบ้พวกเขาจะตีความไม่ได้ ผมเล่นเรื่อง “อำนาจ” แล้วถูกจับ ต่อมาฝ่ายอาคารฯแปะภาพผมไว้เป็นบุคคลถูกห้ามเข้า ไม่ทราบด้วยเหตุผลอันใดหลายปีต่อมา ผมได้พูดที่หอประชุมเล็ก แล้วไม่รู้ใครเอารูปผมออกจากตึกกิจกรรม ผมเห็นว่า ผมเรียนรู้เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา ผมเล่นละครรำลึกทุกปี ผมคิดว่าเรื่องจบไปแล้ว

แสดงอยู่ทุกปี เหตุการณ์หลังปี 35 นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ผู้สอบสวนเหตุการณ์ สรุปว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร 2534 นั้นเป็นบทเรียนของเอ็นจีโออย่างผมหรือรสนา ถอดบทเรียนหมด เพราะข้างหลังเวทีชุมนุม เต็มไปด้วยเอ็นจีโอและอดีตฝ่ายซ้าย พวกนี้ รวมถึงหลายคนทำงานบริษัทออกแบบก็ปิดบริษัทแล้วลงถนน คนประท้วงในมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นเกือบทันที โดนจับ 15 คน ที่ผมจำได้เพราะต้องรวบรวมเงินไปประกันตัว

ตอนปี 34-35 ผมสิงอยู่ในรามคำแหง ผมบอกว่ามีทำตึกสีดำไว้อาลัยเถอะ หลังจากนั้น ทุกคนทาตึกเป็นสีดำ ผมจำได้วันหนึ่ง ผมอยู่ที่ YT ในฐานะองค์กรจัดตั้งของหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย เป็นขุมกำลังในภาคประชาชน พวกนี้สนับสนุนเครือข่าย เดินสายหลายมหาวิทยาลัย ต้องเกาะกลุ่มให้เคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจของรสช.

รุ่นพี่อย่าง ทองใบ ทองเปาว์ ผมจำได้ว่าเป็นที่ทำงานเอ็นจีโออีกแห่ง มีคนทำงาน 20 คน พี่ทองใบบอกว่าเป็นประชุมลับ ห้ามเอาเรื่องราวไปเล่าข้างนอก แต่ในขณะที่กำลังคุยว่าต้องทำยังไง ปรากฎว่า สันติบาลโทรมาที่ออฟฟิศ ถามว่าพวกคุณประชุมอะไรกัน ประธานที่ประชุมบอกเลิกประชุม บรรยากาศจะเป็นแบบนี้ จนถึงมีการประท้วงสารพัด ต้องชื่นชมรามคำแห่ง จะเห็นจตุพร และเด็กหลายคนตอนนั้นเป็นการ์ด ชนกับทหาร-ตำรวจ พวกเขาเป็นกำลังหลักและพัฒนาจนมาเป็นพฤษภา35

ผมจะบอกว่า บทเรียนที่ได้จากหมอประดิษฐ์ มองเหตุรัฐประหาร 2549 ผมนัดประชุมเอ็นจีโอ แล้วก็ปิดออฟฟิศ ออกเคลื่อนไหวในนาม 19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร สิ่งที่ผมจำได้ ที่เป็นชุดความคิดในปี 2535 นั้นคือ อย่าให้การรัฐประหารสำเร็จ

ตำราของยีน ชาร์ป แพร่หลายมากในปี 2535 สิ่งเหล่านี้ เติบโตในวงการ แต่ที่น่าเสียใจปี 49 แม้แต่ 57 คือ พวกเขาที่เป็นประชาชนและได้บทเรียน แตกแยกกัน พี่ๆส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายสนับสนุนหรือนิ่งเฉยกับฝ่ายยึดอำนาจ ภาคประชาสังคมอ่อนแอ จริงๆเราเรียนรู้แต่ไม่สามารถนำบทเรียนจากปี 35 มาช่วยต่อสู้ต่อต้านรัฐประหาร ตอนรัฐประหาร 49 ผ่านไป 4 วัน มีโทรศัพท์บอกผมว่า อย่าเพิ่งรีบขยับ

ขณะที่ พล.อ.บัญชร กล่าวว่า ระยะหลัง เกษียณอายุมา 15 ปี ก็มีเพื่อนฝูงในสื่อ มาถามผมว่า ทหารรุ่นปัจจุบันคิดยังไงกับบทบาททหารระดับนำที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นี่เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่าจะอยากถ่ายทอด พฤษภา35 การต่อสู้ 2 แนวทางในกองทัพ

หลายท่านอาจจำบทบาทคณะทหารยังเติร์ก และเห็นแนวทางสรุปอีกเรื่อง คือแนวทางก้าวหน้าของคนในกองทัพ เรื่องการต่อสู้ 2 แนวทางในกองทัพ คนนอกไม่รู่้ แม้แต่คนในกองทัพเอง ผมค้นคว้าจนผลึก แน่นอนเรียกว่าเป็นข้อสังเกต แต่ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ ตามงานเขียนของชัยอนันต์ สมุทวณิช “ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย” ที่อธิบายที่ชัดเจนและยังใช้ได้อยู่ตอนนี้ แม้ออกมาหลายสิบปี นั้นคือคุณค่าเดิมกับคุณค่าใหม่ในกองทัพ

คุณค่าเดิมในทหารนั้นคือ เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาการ สายการบังคับบัญชาและระบบอาวุโส เป็นเรื่องธรรมดาของทหารที่ต้องเชื่อฟัง ส่วนคุณค่าแบบใหม่ ความมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น การผลักดันความคิด การกระทำเพื่อก่อเกิดความเปลี่ยนแปลง การยึดเหตุผลและความถูกต้อง มากกว่าระบบอาวุโสที่ตั้งอยู่บนความไม่สงสัยหรือตั้งคำถาม

เริ่มจากการปฏิวัติสยาม 2475 ไม่เพียงระบอบการเมืองที่เปลี่ยนแปลง ฝ่ายทหารเองก็มีการยกเลิกตำแหน่งนายพล สูงสุดแค่พันเอก ไม่ว่าเหตุผลใดก็ถือเป็นกุศโลบายที่แยบยลในการกวาดล้างนายทหารหัวเก่าในกองทัพ คณะราษฎรสายทหาร แล้วเหลือ 4 ทหารเสือเป็นผู้นำ พระยาพหลฯเป็นผู้บัญชาการ นอกจากไม่มี

นายทหารในยุคนั้น เป็นนายทหารตามอุดมคติ ด้วยความสุจริตใจในการใช้อำนาจ เป็นไปอย่างชอบธรรม แต่น่าเสียดาย เหตุการณ์เปลี่ยนไป 2481 จอมพลพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกฯ ยุโรปร้อนด้วยไฟสงครามโลก ในยุคนั้นจอมพลป.

เส้นทางการปกครองประเทศ การผสานคณะราษฎรระหว่างพลเรือนและทหารเปลี่ยนไป ญี่ปุ่นบุกอินโดจีนหลายประเทศ จอมพลป.อ่านสถานการณ์ได้ ว่าต้องเตรียมประเทศให้เข้มแข็ง นี่เป็นด้านหลัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจอมพลป.ใช้อำนาจมากขึ้นจนเกิดระบอบอำนาจนิยมทหาร

สโลแกน “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เกิดขึ้น แม้ประสบความสำเร็จในการบริหารจากกรณีพิพาทอินโดจีน 2484 หรือการต่อต้านการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น ลัทธิอำนาจนิยมทหารเริ่มขึ้นในยุค จอมพลป. เหตุการณ์ผ่านไป กรกฎาคม 2487 กลุ่มปรีดีนำโดยเสรีไทยเข้มแข็งมากขึ้่น

นอกจากเตรียมตัวกรณีญี่ปุ่นแพ้และไม่เห็นด้วยกับอำนาจนิยม จอมพลป.ลาออกเนื่องจากแพ้โหวตในสภา รัฐบาลใหม่นำโดยควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลที่ผสานกับคณะราษฎรสายพลเรือน ช่วงนี้เอง กองทัพก็กลับมาสู่ความเป็นทหารอาชีพ ไม่ยุ่งการเมือง บทบาทสำคัญอย่างหนึ่ง

กองทัพบกก็เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยเต็มตัว ตัดมาปี 2488 วันที่ 15 ธันวาคม ญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลอยู่ในแนวทางคณะราษฎรสายพลเรือน แต่ทหารรู้สึกน้อยใจ จากหลายกรณีในตอนนั้น อย่างกรณีนับหมอนรถไฟ

ถ้าจะสรุปคือ เรารู้ประวัติศาสตร์จริงไหม? ในที่สุด เหตุการณ์นำไปสู่การรัฐประหาร 2490 ครั้งนี้ผมขอเรียนว่าต้องศึกษาให้มาก เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะบทบาททหาร ทหารรู้จักแต่เงินเดือนที่ได้รับจากทางการ แต่การรัฐประหาร 2490 ทุนนิยม สงครามเย็นเข้ามาในไทย
การค้าแบบเสรีเกิดขึ้น

จอมพลป. ด้านหนึ่งตอนเป็นนายกฯรอบ 2 ต้องเดินตามสหรัฐฯในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ก็ตั้งกฎหมายเพื่อกีดกันคนจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน ธุรกิจของไทยตอนนั้นขยายตัว กลุ่มทุนเริ่มขยาย ธนาคารกรุงเทพเป็นตัวละครสำคัญ การกดดันคนจีนของจอมพลป. คนจีนพยายามหาทางเลือก

ผมบันทึกและเรียกว่า นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน หาไม้กันหมา แล้วตอนนั้นเองตำรวจนำโดยเผ่า และทหารนำโดยสฤษดิ์ ได้รับผลประโยชน์อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน มีรายได้พิเศษ เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่ง ก็เกิดความหวงแหน มั่นใจในกรอบโครงสร้างอำนาจในกองทัพ จากนั้นกองทัพอยู่ใต้อิทธิพล จอมพลสฤษดิ์
ทุกอย่างอยู่กับข้างบน ห้ามหือตั้งคำถาม ในแง่รับคำสั่ง ทำทันทีไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คนออกคำสั่งเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมหรือไม่ แต่คุณค่าที่เคยมีกลับไม่มี

จากจอมพลสฤษดิ์ สู่จอมพลถนอม เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ระบอบเผด็จการถนอม-ประภาส นอกจากถูกทำลาย ระบบทหารที่เป็นปึกแผ่น ถูกทำลายลงด้วย หลัง 14 ตุลา 16 รวมถึงก่อนหน้า เกิดโครงสร้างซ้อนขึ้น นั้นคือ พล.อ.กฤษณ์ ศรีวรา แล้วคุณค่าใหม่ได้เกิดขึ้น ทหารกลุ่มหนึ่งคือ จปร.รุ่น 7 ผมจบมาแล้ว ไปรบหลายแห่ง แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ทหารแต่งเครื่้องแบบไม่ได้ ทำไมพวกเราถึงตกต่ำอย่างนี้ ทำไมสังคมรังเกียจเรา กลุ่มที่พยายามหาคำตอบนี้คือ จปร.7 แล้วจะรู้จักในนาม ทหารหนุ่มยังเติร์ก ในขณะเดียวกันก็มีทหารอีกกลุ่ม เป็นเสนาธิการ และขยายบทบาทในปี 2526 ในชื่อ ทหารประชาธิปไตย เริ่มคิดปัญหาในกองทัพจริงจัง

หากสรุปรวบรัด ทหารยังเติร์กเป็นกลุ่มหวังดีต่อบ้านเมือง แต่จำกัดอยู่ในปัญหาเฉพาะหน้า เพียงแต่เกิดอำนาจใหม่ในโครงสร้างเดิม ไม่รู้จะซ้ำรอยเดิมไหม แต่ทหารประชาธิปไตยเสนอแนวทางสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เป็นจริง คณะทหารหนุ่มมีส่วนร่างรธน.ปี 21 และก็พอใจกับที่พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตต์เรียกว่า ปชต.ครึ่งใบ

แต่ทหารประชาธิปไตย ถ้ายังเติร์กเป็นนักปฏิวัติ ต้องไม่ให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น แล้วเสนอเอาระบอบประชาธิปไตย ทหารถอนตัวออกจากการเมือง ในที่สุด ก็เกิดเหตุการณ์ เมษาฮาวาย คณะทหารประชาธิปไตยก็สลายตัว เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่เล่าให้ฟัง

2475 ก่อเกิดทหารนักคิดแต่อยู่ไม่นาน แล้วเกิดทหารการเมืองในปี 2490 ก่อนพังในปี 2516 แล้วเกิดทหารยังเติร์กในปี 2521 ก่อนล่มสลายในปี 2526 กลุ่ม จปร.รุ่น 5ขึ้นมาแทน กองทัพไทยก็กลับสู่ความคิดแบบเก่า แล้วเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35

นับว่า การเมืองจะยิ่งซับซ้อน ตอน 2475 คณะราษฎรสู้กับระบอบเก่า แต่พอถึงปัจจุบัน ตัวละครที่ไม่รู้จักมีมากขึ้น สมการหลายชั้น บ้านเมืองทุกวันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ง่ายๆแต่ทำยาก ถ้าทหารถอนเมืองจากการเมือง อย่างน้อยการเมืองก็คงลดตัวแปรไปซักตัว แต่จะทำได้หรือไม่ ก็ลองคิดถึงข้อสังเกตของบทบาททหารตลอดประวัติศาสตร์

ผมลองเสนอตัวเลขแบบนี้ 2435 รัชกาลที่ 5 ปฏิรูประบบราชการ กองทัพกระทรวงกลาธิการ แล้วตอนนี้ครบ 100 ปีในปี 2535 ทหารคงหมดหน้าที่ แต่ฟังจากผมก็มาใคร่ครวญคิดต่อว่าจริงไหม

รัฐประหาร 2549 จนถึง 57 ทหารไม่ยอมจบจริง?

ปริญญากล่าวว่า ประเด็นสำคัญ มี 2 เรื่อง อันแรกคือ เป็นการเรียกการชุมนุมอย่าง ม็อบมือถือ ทั้งที่ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือ แฟกซ์และทีวีดาวเทียม ภาพเหตุการณ์จากช่องซีเอ็นเอ็นออกอากาศ ก็ทำให้เรื่องใหญ่โต ทหารคาดไม่ถึงในภาพเหตุการณ์ออกอากาศผ่านดาวเทียม ไม่เหมือนที่ออกช่อง 3,5,7,9 และอีกอย่างคือบทบาทของรามคำแหงไปตั้งหลัก ทำให้เหมือนยังไม่แพ้

นี่เป็นสิ่งที่ ทหารคุมไม่ได้ แฟกซ์ส่งกันไม่หยุด แต่แล้วตอนรัฐประหาร 19 กันยา มีอินเตอร์เน็ต แล้วมารัฐประหาร 57 แม้มีโซเชียลมีเดีย ทำไมถึงยึดอำนาจสำเร็จ ผมบอกว่า ปี 2535 ประชาชนไม่ได้แตกแยกกัน และทหารมีอยู่กลุ่มเดียวคือ อภิรักษ์จักรี ถามว่าวันที่ 7 พฤษภาคม ทำไมจำลองพาเดินไป แม้ไม่เห็นด้วยแต่เป็นเรื่องภายใน แล้วก็ดำเนินต่อ ไม่แตกแยกกัน ทำให้สุจินดาอยู่ได้เพียง 47 วัน ก็ลาออก แล้วทำไมพล.อ.ประยุทธ์ ถึงยังอยู่ได้และจะมุ่งอยู่ต่อ แม้มีประเด็นวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ทำไมถึงอยู่นาน ก็เพราะเราแตกแยกกัน แล้วสมัยก่อนไม่มีการล้อมหน่วยเลือกตั้ง การยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเพียงข้อเสนอของแกนนำไม่กี่คน แล้วก็มีคนค้านว่าไม่เป็นสันติวิธี แต่วิธีการที่แย่ที่สุด ทหารก็ต้องถอนต่อ แต่ไม่เห็นด้วยกับยึดหน่วยเลือกตั้ง

ทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศไม่ใช่ปกครองประชาชน อย่าลืมว่า 5 สิงหาคม 2558 ประยุทธ์บอกว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ดูตอนนี้สิ แต่ก็เพราะเราแตกแยก ก็ต้องติดตามเรื่องวาระ 8 ปีจะยังไง เพราะหลายครั้งขึ้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยแพ้เลย

สมัยก่อน ผมจะประท้วง หนูหริ่งจะประท้วง ต้องเขียนผ้าใบและหาจุดที่สนใจ ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กางป้ายผ้า อ่านแถลงการณ์ หวังว่านักข่าวจะลง แต่วันนี้ไม่ต้อง สันติบาลก็เหมือนกัน เมื่อก่อนดักฟัง และแทรกซึม แต่สมัยนี้ แค่เปิดมือถือและรอดูแล้วจะรู้ว่าทำอะไรต่อ แต่ในทางสำคัญ เครื่องมือของประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจมีมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แม้ดูประชาธิปไตยทั่วโลกจะถอยหลัง เพราะมีพรรคการเมืองขวาจัดมากขึ้น แต่ผมจะบอกว่า สิ่งที่ถดถอยคือประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่จะทดแทนด้วยประชาธิปไตยทางตรง ผ่านสมาร์ทโฟนที่ประชาชนแสดงออก ซึ่งทหารจะไม่มีที่ทางเลย

ผมยกตัวอย่างนะ ใครจะมีสิทธิกำหนดอนาคต ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน แล้วเสนอชื่อตามรัฐธรรมนูญ แต่ประยุทธ์มีสิทธิมากกกว่าเรา 1 คน มีถึง 250 เสียง ทำยังไงให้ประชาชนปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนรู้มากแล้วแต่รัฐธรรามนูญฉบับนี้ขวางอยู่ สรุปก็คือ ผมคิดว่าในวาระ 30 ปี พฤษภา35 เราจะก้าวต่อไปซะที

แต่ความคิดของทหาร ก็ยังมีอยู่ว่า หากมีความเหมาะสมก็จะทำ แล้วก็ต้องหาทางไม่ให้ทหารยึดอำนาจและทำให้ศาลไม่รับรองการยึดอำนาจ สรุป รัฐประหารต้องหมดไป ประชาชนต้องกำหนดอนาคตเอง ผ่านการเลือกตั้ง

สมบัติกล่าวว่า ตลอดเกือบสิบปี หลังพฤษภา 35 จนถึงรัฐประหาร 49 ผมเป็นเสียงส่วนน้อยในขบวนการ เชื่อว่าทหารไม่ทำแบบนั้นอีก ไม่ว่ารัฐประหารหรือปราบปรามประชาชน แต่ผมคิดผิดหมด ผมมองโลกอีกแบบของตัวเอง แล้วคิดว่าคนอื่นจะมองเหมือนกัน มีคนตำหนิผมว่า ผมไม่สามารถเข้าใจความคิดผู้มีอำนาจเพราะคิดแบบไพร่

ถ้าคิดแบบนั้นจะมองอีกแบบ แต่ถ้าเราลองเป็นทหาร เวลาเกิดรัฐประหาร 49 ผมเคยนอนในค่ายทหาร ครั้งล่าสุด แม้เลี้ยงดูผมดี นายทหารที่มาคุยกับผม ผมสังเกตเขาเป็นทหารหนุ่ม และสังเกตพลังความรู้สึกมีอำนาจ เขามีอำนาจสูงกว่าผม สิ่งที่ผมกังวล การมีรัฐประหาร อาจทำให้ทหารหนุ่มคิดเชื่อว่า วันหนึ่งเขาจะถูกหวยขึ้นมา

ผมบอกได้ว่า ใครเป็นแม่ทัพภาค 1 หรือผบ.ทบ.ทุกคนในความคิดเขา จะต้องมีความคิดชุดหนึ่ง ว่ามีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นวิธีคิดเฉพาะกลุ่มมาก เชื้อความคิดแบบนี้ที่อยู่ในหมู่ทหารหนุ่มและอาจส่งทอด บ่มเพาะอำนาจนิยม การสร้างกลไกป้องกันจะต้องเปลี่ยนสิ่งนี้ รร.นายร้อยจปร. มีเอ็นจีโอมาบรรยายกับนักเรียน เป็นคุณูปการเห็นโลกกว้างมากขึ้น แต่รัฐประหาร 49 จนถึง 57 กลับถดถอย แต่ให้โลกก้าวหน้า แต่ทหารมีความคิดเรื่องการไต่อำนาจสูงสุดคือต้องมีกำลัง นั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาคิด

“ทหารสายประชาธิปไตยยังมีอยู่ไหม ไม่ทราบจริงๆ เพราะตนเกษียณอายุมานานแล้ว ผมมีรายได้จากงานเขียน ผมระวังอย่างยิ่งว่า ไม่รู้คือไม่รู้ ไม่กล้าตอบ” พล.อ.บัญชร กล่าว

ทั้งนี้ บทสรุปจาก 30 พฤษภา35 ปริญญากล่าวว่า ผมเป็นห่วงว่ากองทัพเรียนรู้อะไรบ้าง และขอคืนศพผู้สูญหาย รายงานการสอบสวนของกลาโหมซึ่งมีแต่แถบคาดดำ ผ่านมา 30 ปี แล้ว ควรได้เวลาเปิดเผย ทำให้จบในแง่ข้อเท็จจริงและช่วยกันป้องกัน เห็นต่างยังไงก็ไม่ฆ่ากันอีก นี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันบอก ทั้งทหารด้วย ทั้งประชาชน ทั้งฝ่ายตุลาการ สิ่งใดก็แล้วแต่ทำให้ประชาธิปไตยวนเวียนอย่างนี้ ต้องหยุดลง

พล.อ.บัญชร กล่าวว่า ย้ำอีกว่าการเมืองเรา เป็นสมการหลายชั้น ตัวละครลับเยอะมาก ถ้าทหารถอนตัวเองออกมา อย่างน้อยตัวแปรลดลง บ้านเมืองไปข้างหน้าได้เร็ว แต่โจทย์ถอนตัวออกมาไม่ง่าย การรัฐประหาร 57 ไม่รู้ใครยุใคร ทหารไปยุพลเรือนปิดกรุงเทพมาเรียกทหารออก หรือประชาชนอยากเรียนทหารออกมาจริงๆ เพราะฉะนั้น จะยกภาระมาให้ทหารถอนตัวยังไม่พอ ยังมีตัวแปรอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้าทหารถอนตัว โจทย์การเมืองจะหายไป

สมบัติ กล่าวว่า การเมืองภาพใหญ่จะถดถอยหรือไม่ ความตื่นตัวของประชาชนก้าวหน้ากว่าในอดีต แม้จะขัดแย้ง ไม่เป็นทางเดียวกันจนดูเป็นโทษ แต่นั้นเป็นกระบวนการที่สังคมวิวัฒน์ นี่คือการถกเถียงใหญ่ในภาคประชาสังคมว่าอยู่ปีกอะไร เรื่องต่อมา สิ่งที่ใดจากการร่วมต่อสู่จากปี 34 จนถึงปัจจุบัน ผมได้สรุปอันหนึ่งว่า อย่ายึดติดตัวบุคคล คนที่ผมเคยเดินตามในอดีต แต่ปี 49 กลายเป็นอีกคน 57 กลับเป็นอีกคน ฉะนั้นจงยึดมั่นหลักการ ไม่ใช่บุคคล แม้ถูกตำหนิเป็นพวกลัทธิคัมภีร์ แต่หลักการพอเวลาผ่านไป หากยึดมั่นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั้นดีกว่าเดินตามบุคคล