ทำความรู้จัก “ฝีดาษลิง” หลังพบติดเชื้อในอังกฤษ 7 ราย-สหรัฐฯรายแรก

โรคฝีดาษลิง หรือ ไข้ทรพิษลิง ติดจากสัตว์สู่คน หลังอังกฤษผวาหนัก เจอผู้ติดเชื้อ 7 ราย ก่อนพบรายแรกในสหรัฐฯ ซีดีซี เร่งสืบสวนโรค

 

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Health Security Agency : UKHSA) เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน ในจำนวนนี้ 3 รายพบในกรุงลอนดอน ขณะที่อีกรายพบในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ส่งผลให้ล่าสุดยอดสะสมผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็น 7 ราย ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษแจ้งเตือนว่า หากมีอาการเช่นเป็นผื่นหรือรอยโรคไม่ว่าจะส่วนใดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทันที

ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยในสหราชอาณาจักร โดยครั้งแรกมีการบันทึกในปี 2018 ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการติดเชื้อไวรัสจากผู้เดินทางกลับมาจากประเทศในไนจีเรีย ดร.ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุขระดับโลกที่มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน กล่าวว่า กรณีล่าสุดอาจเป็นการแพร่ระบาดของไข้ทรพิษลิงครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ว่าติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่สิ่งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน และไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็น่าจะเป็นไปไม่ได้

“ไม่มีหลักฐานว่ามันเป็นไวรัสติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น HIV ยิ่งไปกว่านั้น การสัมผัสใกล้ชิดระหว่างกิจกรรมทางเพศหรือความสัมพันธ์ รวมถึงการสัมผัสทางผิวหนังกับผิวหนังเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยสำคัญในระหว่างการแพร่เชื้อ”


ล่าสุด มีการพบผู้ติดเชื้ออีกฟากอย่างสหรัฐฯ โดย สำนักงานสาธารณสุขแมสซาชูเซตส์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ระบุเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถยืนยันผู้ติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” (monkeypox) ในสหรัฐอเมริกาเป็นรายแรกของปี 2022 พบเป็นชายที่เพิ่มเดินทางกลับจากประเทศแคนาดา

ศูนย์ควบคุมละป้องกันโรค (ซีดีซีของสหรัฐและหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นกำลังเร่งสืบสวนโรคอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามซีดีซี ระบุว่า การพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงใดๆต่อสาธารณะ โดยผู้ติดเชื้อรักษาตัวในโรงพยาบาลและไม่ได้มีอาการน่าเป็นห่วง พร้อมกับระบุว่าเวลานี้กำลังจับตามมองคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในหลายๆประเทศ เช่นในโปรตุเกส สเปนและอังกฤษ ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด

ด้านสำนักงานสาธารณสุขแคนาดาระบุว่าเวลานี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ และกำลังจับตาการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆเช่นกัน

สหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้ยังไม่พบการติดเชื้อฝีดาษลิงเลยในปี 2022 โดยเคสล่าสุดที่พบนั้นมีรายงานในรัฐเท็กซัส และแมรีแลนด์เมื่อปี 2021 โดยผู้ติดเชื้อเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศไนจีเรีย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมก็มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 5 รายในประเทศโปรตุเกส ขณะที่ทางการสเปนสั่งให้หน่วยงานสาธารณสุขตรวจผู้ที่อาจจะติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวน 23 ราย โดยการตรวจเชื้อดังกล่าวมีขึ้นหลังจากอังกฤษพบการแพร่ระบาดในประเทศแล้ว 7 รายก่อนหน้านี้

ทั้งนี้โรคฝีดาษลิง พบมากในพื้นที่ตะวันตกและตอนกลางของทวีปแอฟริกา เป็นโรคติดต่อที่พบได้ยากและมีความคล้ายคลึงกับฝีดาษคน (smallpox) พบเป็นครั้งแรกที่ประเทศคองโก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 10 ปีหลัง

สำหรับอาการของการติดเชื้อฝีดาษลิง จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่จะลุกลามขึ้นเป็นตุ่มหนองตามผิวหนังโดยจะเริ่มเกิดขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามตามผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกาย โดยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงาน โรคฝีดาษลิง หรือที่เรียกว่า Monkeypox เป็นการติดเชื้อที่หายากมาจากการแพร่กระจายโดยสัตว์ตระกูลลิง สัตว์ฟันแทะ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน

ส่วนใหญ่มักพบในพื้นที่ป่าของแอฟริกากลางและตะวันตก ทำให้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่อ่อนกว่า และสายพันธุ์แอฟริกากลางที่รุนแรงกว่า ซึ่งปัจจุบันไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถใช้ป้องกันได้

ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) สหรัฐ

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ ซึ่งคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ไอ หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ ทั้งยังสามารถติดเชื้อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น

ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค รายงานผู้ป่วยของประเทศซาอีร์ในขณะนี้ แสดงถึงรูปแบบใหม่ของโรค monkeypox ซึ่งมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงสาธารณสุขของซาอีร์ จึงได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สอบสวนรายละเอียดการระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2540

ภาพจาก The UK Health Security Agency (UKHSA)

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการป่วยคือ มีไข้, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ต่อมน้ำเหลืองบวม, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหลัง และอ่อนเพลีย

จากนั้นประมาณ 1 – 3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขาและอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ต่อมาผื่นจะเริ่มลามและเปลี่ยนไปตามระยะต่าง ๆ อาจดูเหมือนอีสุกอีใสหรือซิฟิลิส ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อย่างไรก็ตาม อาการป่วยมักจะหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ อัตราตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10

ภาพจาก WHO

การควบคุมและป้องกันโรค

หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ ควรเน้นย้ำถึงความสำคัญของสุขอนามัยโดยใช้สบู่หรือเจลทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ล้างมือเสมอ พร้อมทั้งไม่สัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ และเครื่องนอนของผู้อื่น

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณร้อยละ 85 ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

ขอบคุณที่มาจาก The Guardian , WHO , CDC , สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค