มติก.อ.ให้ออก เนตร นาคสุข ใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบสั่งไม่ฟ้อง‘บอส’ขับรถชนตร.ตาย

ก.อ.มีมติเอกฉันท์ให้ออก ‘เนตร นาคสุข’ ใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส’ ขับรถชน ตร.ตาย เปิดเหตุผลเชื่อ 3 พยานผู้เชี่ยวชาญคำนวณความเร็วต่ำกว่า 80 กม.

 

วันที่ 18 พ.ค.2565 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนเเจ้งวัฒนะ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ. โดยในที่ประชุม มีการลงมติผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต ซึ่งได้ส่งผลการสอบสวนให้ ประธาน ก.อ.เมื่อช่วงหลังหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา

นายพชร กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ก.อ.มีผู้เข้าร่วมประชุม 14 คน ลา 1 คน ซึ่งมีก.อ.ที่เคยถูกตั้งเป็นกรรมการสอบสวนวินัย นายเนตร 6 คน ที่ประชุมจึงให้งดออกเสียงโดยกรรมการที่มีสิทธิ์ลงมติจึงเหลือ 8 คน ซึ่งกรรมการทั้ง 8 มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า นายเนตร ขาดความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี และไม่ให้ความสำคัญกับสำนวนทุกประเภท ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ และความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุ ให้เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตาม แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 เป็นความผิด วินัยไม่ร้ายแรง

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำครั้งเดียว ผิดวินัยหลายฐาน จึงเห็นควรลงโทษในสถานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษหนักกว่า แต่ทางสอบสวน ไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูกไล่ ออกจากราชการ เห็นพ้องกันว่าควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหา “ปลดออกจากราชการ”

แต่เมื่อพิจารณาประวัติการรับราชการ พบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก ผู้ถูกกล่าวหารับราชการมานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
ก.อ.ทั้ง 8 รวมตนด้วยจึงมีมติเเละคำสั่งให้ ลงโทษนายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหา ในสถาน “ให้ออกจากราชการ” ตามพ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85, 87

นายพชร กล่าวต่อว่า มติก.อ.วันนี้ถือว่าสิ้นสุดแล้วในการดำเนินการทางวินัย หากนายเนตร ไม่เห็นด้วย ก็ยังใช้วิธีทางปกครอง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้ คำสั่งให้ออกจากราชการ มีผลตั้งแต่วันที่อนุมัติให้ลาออกจากราชการแล้ว ส่วนการดำเนินคดีอาญากับนายเนตร ในส่วนของสำนักงานอัยการ คงไม่มีแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ส่วนนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์นั้น เราตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมี นายประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง เป็นประธานสอบ แต่จะเป็นความผิดสถานใดก็ต้องรอดูผลสอบสวน

เมื่อถามว่าการลงโทษนายเนตร นาคสุข แค่ให้ออกจากราชการ มองว่าช่วยเหลือกันหรือไม่ นายพชรยืนยันว่า ไม่ใช่การช่วยเหลือกัน เพราะในหมู่อัยการรู้นิสัยกันดีว่า จริงๆแล้ว นายเนตรไม่ควรขาดความรอบคอบ แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การสั่งคดีนั้นมีทุจริตตรงไหน นายเนตร ถือเป็นอัยการที่มือสะอาด แต่การใช้ดุลพินิจขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไร ถือว่าขาดความรอบคอบจากมาตรฐานของคนที่ทำคดีมายาวนาน ซึ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น และต้องสอบพยานคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม

“องค์กรอัยการอยู่มาถึง 140 กว่าปี ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อถือต่อสังคม เรารับไม่ได้ เพราะองค์กรจะต้องอยู่ต่อไป เราเป็นทนายแผ่นดิน ถ้าทนายแผ่นดินเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะสรรหากระบวนการยุติธรรมไหนที่เชื่อถือได้อีกแล้ว” ประธานก.อ.ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของนายเนตร นาคสุข รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ได้ให้เหตุผลในการสั่งคดีว่า พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณา เฉพาะข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ 1 (นายวรยุทธ) ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้อง ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมหรือไม่

ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการ พิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้1 โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้) มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ เนื่องจากได้ความจาก พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่1ขับแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้ตรวจสอบยืนยันว่า การคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร (80กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ

ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวน พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียน และพ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคนเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชนในคดีอื่น แล้วต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ ผู้ต้องหาที่ 2 (ด.ต.วิเชียรผู้เสียชีวิต)ขับขี่ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจากการสอบสวน รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ (เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2560)

ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณ ความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า ความเร็วของรถยนต์เฟอรารี่ เอฟเอฟ (Ferrari FF) ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็ว ประมาณ76.175กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของ พ.ต.ท.สมยศที่ตรวจร่องรอยความ เสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคนแล่นน้ำจะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

และความเห็นของ พ.ต.ท. ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศในขณะให้การเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559) ว่า จากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ประมาณ 79.23กิโลเมตรต่อ ชั่วโมง ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกและมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือ พลอากาศโท จักรกฤษ ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้ความว่าพยานทั้งสองขับรถยนต์ แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพวงจรปิด) ให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50- 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อพยานทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริง ดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 3ชิดเกาะกลางถนนด้วยความเร็วไม่เกิน 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมี นายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 2ส่วนผู้ต้องหาที่ 2ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาใน ช่องทางเดินที่ 1(ด้านซ้าย) แล้วผู้ต้องหาที่ 2ได้ขับรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นายจารุชาติขับรถมา นายจารุชาติชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือ

เพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2ขับขี่มาได้แล่นเข้าไป ในช่องทางเดินรถที่ 3ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1ขับขี่มาชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2ถึงแก่ความตาย รถทั้งสอง คันได้รับความเสียหาย เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที

เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจาก ความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 1แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 2ที่เปลี่ยนช่องทางเดินทางรถในระยะกระชั้นชิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1จึงไม่เป็น ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมตาม ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด

อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่2 (ผู้ตาย) ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและสินไหมทดแทนจากฝ่าย ผู้ต้องหาที่ 1จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1อีกต่อไปแล้ว