เงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี จับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาศึกรัสเซีย-ยูเครน

เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดยังกังวลว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น (ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 19 ปี) หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯ ชะลอลงช้ากว่าที่คาด ซึ่งทำให้ตลาดยังคงประเมินโอกาสความเป็นไปได้ของการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อนึ่ง ธปท. ระบุว่า ธปท. มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยมองว่า เงินบาทที่อ่อนค่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก แต่การเคลื่อนไหวยังเป็นปกติและยังคงสอดคล้องกับภูมิภาค

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี

ในวันศุกร์ (13 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 พ.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,886.2 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 1,758.4 ล้านบาท (โดยแม้จะมีการเข้าซื้อสุทธิพันธบัตร 2,341.6 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุถึง 4,100 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.20-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 1/65 ของญี่ปุ่น ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของอังกฤษและยุโรป การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย. อาทิ ผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และอัตราว่างงาน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงหลุดแนว 1,600 จุด โดยหลักๆ เผชิญแรงเทขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

โดยหุ้นกลุ่มที่ร่วงลงแรงสุดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ เทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้หุ้นไทยเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหยุดยาวเนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ มาหนุน สวนทางกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคที่ดีดตัวกลับมาได้บางส่วน หลังร่วงลงแรงช่วงก่อนหน้านี้

กราฟตลาดหุ้นไทยยังเผชิญกับแรงกดดัน

ในวันศุกร์ (13 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,584.38 จุด ลดลง 2.77% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,929.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.80% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.12% มาปิดที่ 601.93 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,620 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/65 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก