แถลง ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับปชช.’ ลั่นเสรีในหลักการ แต่กลไกกีดกัน

แถลง ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับปชช.’ ลั่น เสรีในหลักการ แต่กลไกกีดกัน ยันปลดล็อก การปลูกต้องเสรี

 

เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย แถลง 13 ข้อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับประชาชน – ลั่น เสรีในหลักการ แต่กีดกันด้วยกลไก ยันปลดล็อกแล้ว ‘ต้องเสรีการปลูก’

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ไบเทค บางนา ฮอลล์ 98-99 ภายในงาน Mobile Expo (Hall 99) เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย นำโดย นายประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) แถลง 13 หลักการ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับประชาชน

หลังจากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้เดินทางไปเพื่อรับฟังความเห็นภาคประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเริ่มจาก จ.สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไปจนถึง จ.เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยกลับมาระดมความเห็นอีกครั้งวันที่ 20 เมษายน ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ก่อนเดินทางรอบ ที่ 2 เริ่มต้นที่ จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 12 พฤาภาคมที่ผ่านมา เป็นเวทีที่นำหลักการ 13 ข้อ ของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับประชาชน ไปเปิดรับฟังความเห็นประชาชน เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีความเป็นธรรมและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายประสิทธิชัยกล่าวว่า เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย มาบอกเล่าเรื่องกฎหมายกัญชาที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทางเครือข่ายได้เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อสอบถาม ระดมความเห็นว่า กฎหมายกัญชาที่ดี เป็นประโยชน์กับประชาชนควรจะมีลักษณะอย่างไร โดยหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว สามารถสรุปได้ 13 หลักการ ที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายกัญชา กัญชง ของภาคประชาชน ดังนี้

13 หลักการ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของประชาชน

หลักการที่ 1 กฎหมายกัญชาที่เกิดขึ้นควรตั้งอยู่บนหลักการใด

ตามกฎหมายกัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว เนื่องจากถูกปลดออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2564 ดังนั้น ถ้าจะมีกฎหมายเกิดขึ้น ก็ควรยืนอยู่บนหลักการที่เรียกว่า “การนำกัญชามาสู่ประชาชน” เพราเดิมกัญชาอยู่กับประชาชน หากว่ากัญชาถูกกักขังอีกรอบ กฎหมายนำไปสู่การจำกัดอีกครั้ง เท่ากับว่ากฎหมายนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง จึงควรจะต้องเป็นกฎหมายที่นำกัญชา กลับสู่ประชาชน

หลักการที่ 2 ต้องยืนอยู่บนหลัก “คืนสิทธิ”

ก่อนปี 2522 กัญชาเป็นของประชาชน และเมื่อปี 2564 ก็มีการปลดจากยาเสพติด การเขียนกฎหมายฉบับใหม่จึงต้องคืนสิทธิให้กับประชานเหมือนก่อนปี 2522 หากกฎหมายนั้นนำไปสู่การละเมิดสิทธิ ไม่ได้คืนสิทธิ เท่ากับว่าไม่เป็นธรรม

หลักการที่ 3 กลไกใดที่บัญญัติขึ้นจะต้องเป็นไปเพื่อการ ‘เข้าถึงอย่างเป็นธรรม’

การเขียนกลไกของกฎหมาย ต้องเขียนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทุกด้านอย่างเป็นธรรม

หลักการที่ 4 จะต้อง “ไม่แบ่งแยก” หมายความว่า พ.ร.บ. จะต้องไม่แบ่งแยกว่า ประชาชนใช้ได้เท่านี้ กลุ่มทุนหรือนักธุรกิจ ใช้ได้เท่านี้ กลไกที่ออกแบบ จำเป็นต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงกัญชาไดอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในทุกมิติ

หลักการที่ 5 “กำหนดขอบเขตของผู้ใช้อำนาจ”

หมายความว่า กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พศ. …. จะต้องมีการกำหนดขอบเขตของรัฐมนตรีว่า สามารถยืนอยู่บนหลักการอะไร ซึ่งต้องไม่เป็นประกาศที่ละเมิดหลักการ “คืนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน”

หลักการที่ 6 เราจะต้องกำหนดให้โครงสร้างกฎหมายฉบับนี้ “กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น” ไม่รวมศูนย์ ทั้งผู้ออกประกาศ และผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการภาษีที่ต้องเป็นของท้องถิ่น จึงจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

หลักการที่ 7 “รายได้ของกัญชา กัญชง ต้องตกเป็นของท้องถิ่น” หมายความว่า ในกระบวนการจดแจ้ง ให้แจ้งกับท้องถิ่น และรายได้เป็นของท้องถิ่น

หลักการที่ 8 ซึ่งมีความเห็นร่วมกันทั้งประเทศว่าให้ “เสรีการผลิต แต่คุ้มครองการบริโภค” หมายความว่า เมื่อกัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว ก็จะมีสถานะเท่าเทียมกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ในกระบวนการนำกัญชาไปสู่ผู้บริโภค ต้องมีกลไกระมัดระวังและคุ้มครอง ดังนั้น ต้องเสรีการปลูก แต่ให้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

หลักการที่ 9 “อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่”

ต้องเป็นอำนาจที่เคารพสิทธิของผู้ปลูกกัญชา หมายความว่า ต้องไม่นำไปสู่การละเมิดขั้นตอนการปลูกของผู้ปลูก เพราะ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในสภาตอนนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป

หลักการที่ 10 ต้องไม่นำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องไม่มีกลไกใดใดที่เอื้อให้เกิดการจ่ายใต้โต๊ะ การล็อบบี้ ที่จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าถึง แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการใช้ประโยชน์จากกัญชา

หลักการที่ 11 ข้อปฏิบัติใดที่เกิดขึ้นต้องเป็น “มาตรการพื้นฐานที่สุด” ที่ทุกคนเข้าถึงได้ หมายความว่า ในการโฆษณาการขาย ต้องไม่กำหนดเพดานจนเลยเถิด แล้วประชาชนเข้าถึงไม่ได้ เพราะเป็นการแสดงว่า มาตรการนั้นมีเจตนาที่ไม่สุจริตต่อประชาชน

หลักการที่ 12 กฎหมายกัญชาจะต้องเป็นไปตามหลักการ “เสรีโดยหลักการ เป็นธรรมโดยกลไก”

กฎหมายที่ปรากฎโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนหลัก “เสรีโดยหลักการ กีดกันโดยกลไก” เมื่อพิจารณาหลักการพื้นฐานแล้ว การกำหนดหลักการและกลไกจะต้องเป็นธรรมต่อประชาชนทุกฝ่าย หากกำหนดเป็นอย่างอื่นถือว่ากฎหมายกัญชา กัญชง ไม่ชอบด้วยหลักการเคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน

หลักการที่ 13 ให้มีการจัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนากัญชาไทย เพื่อให้มีองค์กรรับผิดชอบต่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ สมควรมีองค์กรที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ จึงให้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชาไทยภายใน 5 ปีหลัง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง บังคับใช้

นายประสิทธิชัยกล่าวต่อว่า ณ ขณะนี้ ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เนื่องจากว่า โดยกระบวนการกฎหมายทั้งหมด กัญชา กัญชง จะถูกกฎหมายในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ซึ่งเรื่องก็ควรจะจบเท่านี้ แต่มีการเสนอ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าไปในสภา โดยคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ สรุปสาระสำคัญว่า กระบวนการปลูกของกฎหมายฉบับนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.การปลูกระดับครัวเรือน กับ 2. ปลูกเพื่อขาย ซึ่งระดับครัวเรือน แม้มีการโฆษณาว่า “เสรี” แต่เมื่อดูกลไกใน พ.ร.บ.นี้ กลับพบว่า ใครจะปลูก “ต้องจดแจ้งก่อน” และใครที่มีคุณสมบัติในการจดแจ้งก็ขึ้นอยู่กับการประกาศของรัฐมนตรี แสดงว่า แบบนี้ก็ไม่เสรีจริง และสามารถมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในครัวเรือนว่ามีกัญชาตามใบจดแจ้งหรือไม่ โดยสามารถรื้อถอนใบจดแจ้งได้

“ ‘เสรีในหลักการ แต่กีดกันโดยกลไก’ จะพบว่า ในหมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักการและเหตุผล เขียนดีมากๆ แต่หมวดต่อไปจนถึงมาตราที่ 45 เป็นมาตรการที่กีดกันผู้ปลูก การปลูกในระดับเพื่อขายต้องมีใบอนุญาต ซึ่งมีราคา เช่น ใบปลูก 50,000 บาท ใบผลิตหรือสกัด 50,000 บาท ใบนำเข้า-ส่งออก 100,000 บาท ซึ่งต้องจ่ายรายครั้ง ค่าตรวจอาคารอีกครั้งละ 50,000 บาท กฎหมายฉบับนี้บอกว่า ประชาชนทำได้ ภายใต้เงื่อนไข 1.กิน-ใช้ได้ในครัวเรือน แต่สิทธิการขายมูลค่า 80,000 กว่าล้านบาทของกัญชา ไม่มีสิทธิเข้าถึง ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากฎหมายห้าม กฎหมายอนุญาต แต่กลไกที่กีดกัน จะทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้” นายประสิทธิชัยกล่าว

นายประสิทธิชัยกล่าวอีกว่า ในเรื่องเหล่านี้ จากที่รับฟังความเห็นมา ประชาชนไม่เห็นด้วย หลักการกฎหมายของภาคประชาชน คือ เมื่อกัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว ต้องเสรีการปลูก มีความเห็นว่า ปลูกได้ใช้ได้ในครัวเรือนโดยไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตใคร ส่วนกลไกจดแจ้งในการขาย ก็ต้องไม่ใช่กลไก “ขออนุญาต” แต่เป็น “จดแจ้ง”

“ถ้าจะนำส่วนใดของกัญชาไปแปรรูป ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยูแล้ว เช่น ถ้าจะทำเป็นยา ก็ไป อย. ทำเครื่องสำอางค์ ก็นำไปเข้ากฎหมายเครื่องสำอางค์ ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็เข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม แบบนี้คือกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค” นายประสิทธิชัยกล่าว และว่า

โดย 4 หลักการสำคัญของกฎหมายภาคประชาชน คือ

1. ให้เสรีการปลูก แต่มีกลไกคุ้มครองในขั้นบริโภค
2.กระจายอำนาจในกระบวนการ จดแจ้ง กับ อบต.หรือเทศบาล เพื่อทราบว่ามีกัญชาอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง
3.ให้รายได้-ภาษีจากกัญชา ตกเป็นของท้องถิ่นนั้นๆ
4.จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนกัญชาไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเหมือนต่างประเทศ

นายประสิทธิชัยระบุว่า หวังว่าจะคงหลักการพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประชาชน มากกว่า พ.ร.บ.ที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมือง ที่มีอยู่ในสภาขณะนี้

“อยากชวนทุกท่านมาร่วมกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับประชาชน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงยา มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ

ถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาเขียนเองภายใต้หลักการเหล่านี้ เพื่อให้กัญชาเป็นของประชาชน วันที่ 9 มิถุนายนนี้ก็จะถูกกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องเอา พ.ร.บ.มาคลุมต่อ ถ้ารัฐบาลไทยต้องการควบคุมการบริโภคบางประการ สามารถออกประกาศกระทรวงได้ ไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.บ.ซึ่งจะทำให้หลายองคาพยพใช้อำนาจเหล่านี้โดยไม่เป็นธรรมกับประชาชนได้” นายประสิทธิชัยกล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจบการแถลง 13 หลักการ ยังมีเวทีเสวนา โดย สมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชนร่วมกับ เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เพื่อระดมความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางอนาคตกัญชาไทย