อ่าน 4 มุมมองจาก 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. สิ่งที่จะทำเมื่อต้องเจอชุมนุมจนถึงรัฐประหาร

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 14.50 น. ในรายการเสวนา “คุณถามมา… (ผู้สมัคร) ผู้ว่า กทม. ตอบ” ที่มติชน ทีวี เชิญ 4 ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากโพลมติชน ทีวี ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สังกัดอิสระ และ น.ต.ศิธา ทิวารี สังกัดพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) มาร่วมเวทีพร้อมตอบคำถามจากชาวเมืองกรุงหลายแวดวงและประชาชนทั่วไป

จนมาถึงคำถามสุดท้ายจากทางมติชน ทีวี ได้ถามว่า หากมีการชุมนุมทางการเมือง และรัฐบาลใช้กำลังในการสลายการชุมนุม หรืออาจถึงขั้นเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น ถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯกทม. จะทำอย่างไร ซึ่งทั้ง 4 ผู้สมัคร ได้ให้คำตอบที่หลากหลาย

น.ต.ศิธา กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. คือ ต้องบริหารจัดการให้คนอยู่อย่างมีความสงบสุข มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่ผู้ว่าฯ กทม.เป็นพ่อเมืองหลวงจะเป็นบ้านไหนก็แล้วแต่ เมื่อมีคนเดือดร้อนเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ขั้นแรกต้องลงไปดูแลเขาก่อนตามสิทธิมนุษชน การบังคับใช้กฎหมายหากคิดแต่ว่าต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด แบบนี้บ้านเมืองอยู่ไม่ได้เพราะไม่ดูภาพรวม

ฉะนั้น ต้องบาลานซ์การบังคับใช้กฎหมายและรักษาสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.ใช้วิธีไปแกล้งเขาโดยไม่ให้ห้องน้ำเขาบ้าง ใช้กฎหมายรักษาความสะอาดไปจัดการเขาบ้างแบบนี้ เราต้องไปดูแลถ้อยทีถ้อยอาศัยว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เดี๋ยวจะเป็นตัวกลางติดต่อกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าปัญหาให้มาคุยกัน และอาจจะบอกว่าการชุมนุมไม่ได้มีแค่คุณที่เดือดร้อน อาจจะมีคนอื่นเดือดร้อนด้วย อาจจะขยับกันนิดหนึ่ง แต่หากไปจัดที่ให้ชุมนุมมันทำไม่ได้ เพราะสถานที่การชุนนุมมันทรงพลังกับการต่อรองกับรัฐบาลที่ไม่ยอมฟัง หรือหน่วยงานราชการต่างๆ เราต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยและเป็นตัวกลางในการไปคุย เรื่องสิทธิมนุษยชนและห้องน้ำเราต้องไปช่วย

ส่วนหากเกิดการรัฐประหารแล้วผู้ว่าฯ กทม.จะทำอย่างไรนั้น ไม่มีใครทำอะไรได้เลยเขาคือรัฐถาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคำถามที่ถามเกินจากอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ทุกหน่วยงานต้องทำตาม ฉะนั้น ขั้นแรกสิทธิมนุษยชนในเรื่องการชุมนุมต้องทำได้โดยไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อน

ในส่วนมุมมองของ ดร.สุชัชวีร์ ได้กล่าวว่า ตนคิดเสมอว่าพี่น้องประชาชน คือครอบครัวของตน เพราะฉะนั้นสิทธิขั้นพื้นฐานของการแสดงออก ตนต้องดูแลประชาชน ดูแลเรื่องความปลอดภัย นี่คือเรื่องของชีวิตและทรัพย์สิน สำคัญที่สุด การันตีเลยว่า กล้องวงจรปิดที่จะใช้คือ Wi-Fi ฟรี ก็ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตลอด ไม่เหมือนในปัจจุบัน ทำอะไรก็ไม่มีใครรู้

หากท่านทำความรุนแรงกับประชาชน ท่านจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่อสุชัชวีร์แน่นอน เพราะว่าเขาต้องใช้หลายเรื่อง ต้องใช้ทรัพยากรของกทม. ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ท่านจะได้รับความร่วมมือ หากใช้ความรุนแรงกับประชาชน จะไม่ได้รับความร่วมมือจากกทม.อย่างแน่นอน เพราะประเทศนี้เป็นประเทศประชาธิปไตย

มาด้านนายวิโรจน์ ได้กล่าวว่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ถูกนำไปใช้อย่างไม่เป็นธรรม แม้เป็นการติดกระดาษแสดงความคิดเห็นก็ถูกนำกฎหมายนี้มาใช้แล้ว ส่วนผู้ที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาขัดขวางประชาชนและเอาลวดหนามหีบเพลงมาขวางการเดินเท้าของประชาชน ผู้ว่าฯกทม. ต้องนำกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้กับคนพวกนี้ด้วย และที่ผ่านมาก็ไม่มีการเก็บลวดหนามหีบเพลง เมื่อมีประชาชนพลเมืองดีไปเก็บให้ กลับถูกกล่าวหาดำเนินคดีว่าลักทรัพย์ของทางราชการ ถ้าเป็นอย่างนั้นตนจะให้เทศกิจไปเก็บแล้วนำไปคืนกองทัพ ไม่ใช่นำมาวางเกะกะแบบนี้ ทำให้คนเดินเท้าต้องเดือดร้อน

ตนยังสงสัยอีกว่า เมื่อเกิดการชุมนุม แล้วสั่งบีทีเอสให้ต้องหยุดเดินรถ ทั้งที่เป็นหนี้อยู่ 3.7 หมื่นล้านบาท ยังไม่สาสมอีกหรือ

นอกจากนี้หากบีทีเอสหยุดเดินรถจะเป็นอันตราย หรือเป็นการหมายจะให้ใครใส่ชุดลายพรางไปส่องยิงประชาชนแบบที่เคยทำมาหรือไม่ หากผมได้เป็นผู้ว่าฯกทม. จะไม่ยอมให้ใครใช้กระสุนจริงเป็นแสนนัด และปักป้ายว่าเขตกระสุนจริง และยิงสังหารประชาชนใจกลางเมืองหลวงอีกแล้ว

เรื่องที่สำคัญคือการใช้สถานที่ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจอาวุธ และแจ้งความประสงค์มาเลยว่าจะทำอะไร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ผู้ว่าฯกทม. ก็จะกลายเป็นประชาชน การลุกขึ้นสู้ของประชาชนจะต้องมีผู้ว่าฯกทม. ที่ชื่อวิโรจน์เคียงข้าง และยืนเคียงข้างเพื่อปกป้องประชาชนอย่างแน่นอน

จนมาถึงคราวชัชชาติเป็นกล่าวเป็นคนสุดท้าย ระบุว่า นายชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่ของผู้ว่าฯกทม. ต้องดูแลคนกรุงเทพทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไร พรบ.ชุมชนสาธารณะ จะต้องอำนวยความสะดวก เก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องซีซีทีวี ความปลอดภัย ต้องดูแลให้เต็มที่ กทม. จะต้องเตรียมพื้นที่ชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 9 ของพรบ.ชุมนุม เพื่ออำนวยความสะดวก เวลาชุมนุมก็มาชุมนุมได้เลย ไม่ต้องไปขออนุญาตตำรวจ

ส่วนหากมีเหตุการณ์รัฐประหาร แพทย์ของกทม.จะต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด รถพยาบาลฉุกเฉิน จะต้องเต็มที่ ดูแลประชาชน ไม่ใช่ดูแลคนล้อมปราบประชาชน 22 พ.ค. เราไม่สนับสนุนการรัฐประหาร เรายืนข้างประชาชน ไม่สนับสนุนการปฏิวัติเพราะผิดขั้นตอนประชาธิปไตย ตนจะยืนข้างประชาชนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น