ส่องดีเบต “มติชน” กับ 4 ผู้สมัครร่วมประชัน ตั้งใจทำอะไรเพื่อชาวกรุง-กทม.

วันที่ 13 พฤษภาคม เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมบริษัทข่าวสด มติชน ทีวี เชิญ 4 ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากโพลมติชน ทีวี ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สังกัดอิสระ และ น.ต.ศิธา ทิวารี สังกัดพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) มาร่วมเวทีเสวนา ‘คุณถามมา… (ผู้สมัคร) ผู้ว่า กทม. ตอบ’ จัดเต็ม 20 คำถามสุดเฉียบ จาก 20 คนกรุงเทพฯ อาทิ นายธงทอง จันทรางศุ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บิทคับ, ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ผู้ส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่, อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์ นักแสดง ฯลฯ

 

ชูขยายเส้นทางรถไฟฟ้า เพิ่มซีซีทีวี สู่เมืองของธุรกิจรุ่นใหม่ระดับโลก

น.ต.ศิธา ได้ตอบคำถามชุดแรกในปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยถามว่า กรุงเทพฯ เกิดมาก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และมีมรดกที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากฝากถามว่าจะจัดการมรดกทางวัฒนธรรมหรืออดีตของกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ให้สามารถเป็นประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร น.ต.ศิธา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าจุดขายของกรุงเทพฯ ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น เราเคยได้ยินว่าเราเป็นสยามเมืองยิ้ม ซึ่งก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ย่านเก่าของกรุงเทพฯ มีต่างชาติอยากมาเที่ยว แต่ผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารกทม.ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย เราทำลายย่านเก่าและวัฒนธรรมเดิมๆ ไปโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ในย่านเก่าที่มีความเจริญในอดีต แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป กทม.ได้ปรับเปลี่ยนและโยกย้ายไปทำลายชุมชน ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านหลายที่ เช่น ชุมชนป้อมพระกาญ ที่กทม.ได้ไปรื้อชุมชนและนำไปทำสวนข้างป้อมพระกาญ ทำให้จุดเด่นของกทม.ถูกทำลายไป ในหลายๆ เรื่องที่เป็นวัฒนธรรมและสืบทอดกันมาจนกระทั่ง กทม.ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่น่ามาเที่ยว แต่เขามีต่อท้ายว่าน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ วัฒนธรรมเดิมๆ ทำให้กทม.น่าเที่ยว แต่วัฒนธรรมองค์กรของกทม.ของระบบราชการไทย ทำให้กทม.ไม่น่าอยู่

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า ในเรื่องโครงสร้างกทม.และหน่วยราชการไทยทั่วไป เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่แย่มากๆ และเราเคยได้ยินมาตลอดว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวที่มาขัดขวางความเจริญ และการพัฒนาขององค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งวัฒนฑรรมที่เกิดขึ้นมาคือวัฒนธรรมองค์กรคือระบบรัฐราชการเต็มรูปแบบ และทำงานในระบอบอุปถัมภ์ คือ การทำงานเพื่อเอาใจนาย เพื่อตัวเองจะได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง แต่การทำงานของข้าราชการจริงๆ ต้องทำงานรับใช้ประชาชน ภาครัฐโดยเฉพาะกทม.ต้องฟังเสียงรากหญ้า เสียงประชาชนว่าต้องการให้ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของพวกเขาอย่างไร ซึ่งเราไม่เคยมีการแก้ไขตรงนี้เลย ตนจึงใช้คำพูดที่ว่าตนจะทำในสิ่งที่ผู้ว่ากทม.ไม่เคยทำ

เมื่อถึงคำถามชุดปัญหาคุณภาพชีวิตและบริการ มีคำถามว่า ช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา คนกทม.พบวิกฤตการณ์ที่รุนแรง ทำให้การเข้าถึงระบบการรักษาของหน่วยงานรัฐหรือศูนย์บริการสุขภาพของรัฐลำบาก มีขั้นตอนยุ่งยาก ยึดถือระเบียบ ทำให้วิกฤตการณ์รุนแรงขึ้น จึงอยากถามว่ามีนโยบายอย่างไรที่จะทำให้เข้าถึงการรักษาโดยง่าย น.ต.ศิธา กล่าวว่า เรื่องการรักษาพยาบาล กทม. เรามีโรงพยาบาลอยู่ทั้งสิ้นเกือบ 140 โรงพยาบาล โดยเป็นโรงพยาบาลของกทม.แค่ 11 โรง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.อีก 69 แห่ง จุดบกพร่องของกทม.ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ด้านการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ที่เราบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จริงๆ คนถูกทิ้งไว้ด้านหลังทุกด้านที่กทม.ต้องรับผิดชอบ ด้านการรักษาพยาบาลก็เช่นกัน ทุกวันนี้เราจะมุ่งเน้นความเป็นเลิศในด้านต่างๆ กทม.ได้คิดการแก้ปัญหาด้วยการโชว์เคส โดยการให้ชุมชนเห็นว่าได้ทำสิ่งต่างๆ แล้ว แต่คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือคนที่อยู่ไกลจากสวนลุม คนที่อยู่ในชุมชนแออัด คนที่อยู่ในสลัม

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า ฉะนั้น ก่อนจะไปถึงความเป็นเลิศ กทม.ควรจะมาโฟกัสและทำเรื่องความเสมอภาคให้ได้ก่อนคือ ขณะนี้มีอาสาสมัครสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชน ถามว่าเขาทำอะไรได้บ้าง ก็มีการวัดไข้และจ่ายพารา ซึ่งทำไม่ได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการกทม. ใช้ 11 โรงพยาบาลที่มีไปเติมเต็มให้คน กทม.ที่ยังขาดอยู่ กทม.ต้องเป็นเมืองของทุกคน ไม่ใช่เป็นเมืองของคนมีเงินอย่างเดียว ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ตนแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ การบริหารจัดการในภาวะปกติกับการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน ในสถานการณ์โควิดทั้งหน่วยงานขอวงรัฐและกทม.ไม่เคยได้รับความเชื่อมั่นจากคน กทม.เลย ตรงนี้เราต้องมาเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ และมาทำความเสมอภาคให้ได้ก่อนความเป็นเลิศ ซึ่งตนยืนยันคำเดิมว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีคนทำและตนจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ

เมื่อถามถึงปัญหาเศรษฐกิจและการทำกิน มีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้กทม.เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล น.ต.ศิธา กล่าวว่า ทุกวันนี้จากเศรษฐกิจยุคเก่าเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลอิโคโนมีหมดแล้ว มหาเศรษฐีของโลก 10 อันดับแรก 8 อันดับถูกเปลี่ยนเป็นเด็กรุ่นใหม่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกโหวตว่ามีคนอยากมาอยู่และกทม.ก็ได้รับการโหวตจากคนทั่วโลกเช่นเดียวกันว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งขณะนี้ต่างชาติอยากจะหาเมืองที่เป็นเฟรนด์ลี่กับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เขาอยากจะมาทำงานที่นี่ แต่เมื่อมาเจอโควิดเป็นตัวที่เร่งปฏิกิริยาให้คนทำงานได้ทุกที่หลายสิบเท่า นักธุรกิจปัจจุบันก็มูฟตัวเองไปอยู่ในดิจิทัลอิโคโนมีหมด และในอนาคตเราจะต้องสร้างประเทศและสร้างกทม.ให้รองรับเศรษฐกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมีให้ได้ ซึ่งจะการจะทำให้กทม.รองรับตรงนี้คือ 1.ต้องให้มีบริการไวไฟสำหรับคนที่อยากจะมาอยู่

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า 2.คนที่อยากมาอยู่ประเทศไทยเพราะเขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก เขาอยากมาเพราะเขาอยากมากินสตรีทฟู้ดของบ้านเรา อยากมาเพราะชอบบรรยากาศที่เป็นสยามเมืองยิ้ม อยากมาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ วิถีชีวิต แต่กทม.ไม่ได้สนับสนุนตรงนี้ ฉะนั้น กทม.ต้องมาจัดสรรให้ดี มาดูว่าเราจะปลดล็อกกฎหมายที่อยู่ในขีดจำกัดของกทม.ส่วนหนึ่ง ซึ่งหากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.ตนจะบอกกับรัฐบาลว่าหากคุณให้ภูเก็ตเป็นแซนด์บอกซ์ได้ กทม.ขอทำตัวเป็นรีเกอร์แซนด์บอกซ์บ้าง เพราะเราได้รับวิกฤตหนักสุดทั้งโควิด เศรษฐกิจ และการเมืองที่ผ่านมา เพื่อมาปลดล็อกกฎหมาย ทำกทม.ให้เฟรนด์ลี่กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้ทุกคน ทุกประเทศทั่วโลกอยากมาเวิร์กฟอร์มไทยแลนด์

เมื่อถึงชุดคำถามทั่วไป มีคำถามว่า เมื่อเลือกตั้งจบแล้วท่านจะเป็นศัตรูหรือเป็นมิตรกันจะสามัคคีกันได้หรือไม่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า ตนพูดอยู่ทุกครั้งหรือทุกเวทีว่า จุดมุ่งหมายในการลงสมัครครั้งนี้บรรทัดสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่แพ้ชนะ บรรทัดสุดท้ายอยู่ที่จะพัฒนากทม.ซึ่งเป็นบ้านของเรา บ้านที่ตนอยู่มา 50 กว่าปีได้อย่างไร ฉะนั้น เป้าหมายแรก หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ตนสามารถทำทุกนโยบายและทุกแนวความคิดที่ตนคิดจะทำให้บ้านเมืองนี้ได้ เป้าหมายที่สอง แม้ตนไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่นโยบายที่ตนพูดไป ใครจะเอาไปทำไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์และไม่ต้องมาบอกว่าเป็นนโยบายตน จะนำไปใช้อะไรก็ได้ และหากมีตรงไหนที่อยากให้ตนเข้าไปช่วยตนก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ไม่คิดเงินเดือน และไม่ต้องให้ตำแหน่งตน เพราะตนอยากทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองนี้

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่สามคือ นโยบายทั้งหมดที่ตนให้ไปเป็นนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยสร้างไทย ที่มองว่าประเทศนี้ต้องแก้ไขไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะไปแก้ไขและใช้วิสัยทัศน์แบบเดิมไม่ได้ กทม.คือโครงการนำร่องที่ตนและพรรคไทยสร้างไทยจะนำเสนอให้ประชาชนคนกทม.และคนทั่วประเทศได้เห็นว่าเราจะทำอะไรให้ประเทศนี้ ฉะนั้น ในสามเป้าหมายนี้ยืนยันได้อย่างดีว่าตนจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ เรามาร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุดให้กับลูกหลานดีกว่า เราจะเป็นเสาเข็ม เป็นนั่งร้านให้กับลูกหลาน เมื่อทำงานกันได้เราก็จะถอนออกไปให้ลูกหลานทำ ฉะนั้นเป็นการส่งมอบประเทศไทยที่ดีที่สุดให้กับลูกหลาน

ส่วนคำถามในรอบสอง มาจากชาวกรุงเทพมหานคร ที่ถามว่า ปัญหารถติดทุกเส้นทาง มีนโยบายใดที่จะแก้ปัญหานี้ ทำได้จริงในระยะเวลาเท่าไหร่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหารถติดจะเอาใครที่ซุปเปอร์แมนหรือซูปเปอร์ฮีโร่เข้ามาแก้ไข ตนว่าได้เต็มที่ไม่เกิน 10% คือระยะเวลาในการเดินทาง 60 นาทีอาจจะลดลงเหลือ 54 นาที ซึ่งไม่เพียงพอ ทุกเมืองใหญ่ทั่วโลก ทุกเมืองหลวงที่เขาพัฒนาแล้ว รถไฟฟ้าคือคำตอบสุดท้าย ซึ่งมีการเขียนเส้นทางรถไฟฟ้าไว้ 10 เส้นทาง แต่เส้นทางเอกมัย-รามอินทราอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากมีการสร้างทางด่วน จึงเหลือแค่ 9 เส้นทางซึ่งหากเราทำสำเร็จปัญหาหลายปัญหาจะแก้ไขได้ ทั้งรถติด มลภาวะ ซึ่งปัญหารถติดหากเราไม่สามารถดึงคนออกจากรถได้ รถก็จะไม่ออกจากถนน ฉะนั้น ทุกวันนี้ตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนกทม.ในการเดินทางคือ รถยนต์ รถไฟฟ้ามีแค่ 3 เส้นทางและไม่ครอบคลุมทุกเส้นทาง ไม่ตอบโจทย์ ราคาถูกกว่ารถแท็กซี่แค่ครึ่งเดียว หากเขาไม่เดินทางคนเดียวเขาไม่ไปรถไฟฟ้า เราจึงต้องเร่งขยายทั้ง 10 เส้นทางและรัฐบาลหรือกทม.จะไปเอาผลตอบแทนจากประชาชนเป็นจำนวนเงินไม่ได้ ต้องเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องมาหาประโยชน์จากรถไฟฟ้า

สำหรับคำถามจาก ผู้ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าขาย ที่ถามว่า จะจัดการอย่างไรกรณี หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ริมฟุตบาท ให้ขายอยู่ที่เดิมได้อย่างไร น.ต.ศิธา กล่าวว่า หากผู้ว่าฯ กทม.เอาจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของอำนาจหน้าที่ของตนเองเป็นตัวตั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ มี 3 ส่วน คือ 1.การบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข 2.การจัดสรรให้ทุกคนสามารถทำมาหากินได้ และ 3.อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ต้องบาลานซ์กันทั้ง 3 ส่วน จะไปบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงด้านเดียวทำให้สมดุลอุปสงค์ อุปทานผิดเพี้ยนไป ทั้งนี้ ในการจัดสรรดีมาน ซัพพายเดิมดีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีคนต้องการซื้อ พ่อค้าแม่ขายไม่ไป การค้าขายสิ่งที่ต้องยึดคือ โลเคชั่น เท่านั้น ฉะนั้น จัดในทำเลของเดิม จัดให้คนเดินได้ บาลานซ์ทั้ง 3 ส่วนคือ คนเดิน คนขาย และคนซื้อ คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำได้ และไม่เคยทำมาก่อน ตรงนี้กทม.ต้องไปแก้ไข

เมื่อถามถึงการจัดการขยะในคลอง น.ต.ศิธา กล่าวว่า หากย้อนกลับไปถามคนถามว่าควรจะทำอย่างไร ตนเชื่อว่าเขามีคำตอบ ชาวบ้านในชุมชนรู้ว่าบ้านหลังไหนโรงงานไหน หรือโรงแรมไหนที่ไปทิ้งขยะลงคลอง การจะป้องกันและกำกับดูแลจะมีหลายส่วนด้วยกัน อันดับแรกคือ การลดขยะในชุมชนต้องช่วยกันและต้องเฝ้าระวัง และมีกรบวนการในชุมชนที่ต้องคณะกรรมการมาดูแล ซึ่งจะช่วยลดต้นทางในการทิ้งลง ทั้งนี้ มาตรการในการไปตรวจสอบ จริงๆ เราสามารถจะใช้เทคโนโลยีเดียวได้ถึงสองถึงสามส่วน พื้นที่ริมคลองที่คนจะไปทิ้งขยะ ในชุมชนรู้หมดว่าจะไปทิ้งตรงไหน ฉะนั้น หากเราจะติด cctv ในการจะไปป้องกันก็จะได้ประโยชน์สองส่วนคือ พื้นที่จุดเสี่ยงที่จะเกิดการคุกคามต่างๆ และคนที่จะไปทิ้งขยะในบริเวณนั้น เขาก็จะไม่กล้า ตนคิดว่าในอนาคตเชื่อว่าทั่วเมืองจะต้อง cctv กันหมดอยู่แล้วต้องมีการกำกับดูแล ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย การปล่อยน้ำเน่าเสียจากห้างร้าน อุตสาหกรรมต่างๆ กทม.ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

“วิโรจน์” ชนเดือด! เล็งเป้ารื้อกม.ล้าสมัย สกัดส่วยอวยนายทุน เพื่อเมืองคนเท่ากัน

นายวิโรจน์กล่าวว่า ถ้าตนได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ตนจะทำ 1.การรับมือกับน้ำท่วม โดยนำงบกลางที่อยู่ในมือผู้ว่าฯกทม. คนก่อน ไปบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ และเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ เพื่อนำไปใช้รับมือจุดวิกฤตที่น้ำท่วมขังเป็นประจำสิ่งสำคัญที่สุด 2.เปิดเมืองให้ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยออกมาตรการที่ทำให้ประชาชนมั่นใจ เช่น การฉีดวัคซีนและการสำรองยาที่จำเป็น ต้องไม่ดำเนินการซ้ำรอยโครงการไทยร่วมใจ และต้องไม่ให้เกิดการเล่นการเมืองระหว่างกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังต้องเติมสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ 1,000 บาท ซึ่งจะถูกนำไปหมุนเวียนให้เกิดการค้าขายในชุมชน และ 3.เปิดร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อเลิกความลึกลับดำมืดเสียที

คำถามชุดปัญหาคุณภาพชีวิตและบริการ ที่ถามว่า จะสร้างสมดุลระหว่างความสามารถและความต้องการของผู้สูงวัยอย่างไร เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีความสุข

นายวิโรจน์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่ผู้สูงวัยของเรามีความพิเศษเพราะเป็นสังคมสูงวัยที่ไม่มีเงินออมที่มากพอ ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่เขตบางซื่อ พบกับคุณยายสะอาด ที่บอกว่ากินข้าวเปล่ากับไข่ต้ม และวันที่ได้รับรางวัลคือวันที่ได้กินแกงถุง ดังนั้น เราต้องยอมรับความจริงและหยุดโรแมนติไซส์สังคมผู้สูงอายุได้แล้ว พรรค ก.ก.จึงได้คิดนโยบายที่เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ รวมทั้งเด็กเล็กและผู้พิการ ปัจจุบันรัฐบาลให้เงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท แต่เราอยากจะเติมให้ได้ 1,000 บาท เพื่อให้มีกำลังซื้อและการดูแลโภชนาการของตัวเองได้ นี่ไม่ใช่การช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์ เพราะเม็ดเงินจำนวนนี้จะหมุนเวียนในชุมชนและตลาด ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด

นายวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีโอกาสป่วยติดเตียง ซึ่งต้องมีลูกหลานมาดูแลอย่างน้อยหนึ่งคน เราจึงมีนโยบายฉีดวัคซีนปอดอักเสบให้กับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจนในการลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียงลง นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเราจะมีเทเลเมด เพื่อให้เกิดการจ่ายยาความดันได้ทันเวลา ซึ่งเราจะหารือกับ สปสช. เพื่อให้มีศูนย์กายภาพบำบัดที่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต

ส่วนคำถามชุดปัญหาเศรษฐกิจและการทำกิน ที่ถามว่า จะแก้ปัญหาการจ่ายใต้โต๊ะอย่างไร

นายวิโรจน์กล่าวว่า การขออนุญาตที่ถูกรีดไถมากที่สุดคือ การขออนุญาตที่ข้าราชการต้องใช้ดุลยพินิจ จึงแบ่งเป็นการแก้ปัญหา 3 หัวข้อ คือ 1.การลดการใช้ดุลยพินิจของข้าราชการลง โดยการยื่นขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ดุลยพินิจ ต้องมีบุคคลที่สามด้วย และ 3.การเลือก ส.ก. จากพรรค ก.ก. เพื่อเข้าไปแก้ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการประชุม โดยการเพิ่มคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดคล้ายกับคณะกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎร คือคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต และทบทวนแก้ไขระเบียบข้อบัญญัติที่เป็นอุปสรรคในการให้บริการประชาชน เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ตอนนี้มีความเวิ่นเว้อ และล้าสมัย ซึ่งทำให้ข้าราชการบางคนใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อเตะถ่วงดึงเวลาไปเรื่อย เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ เมื่อผู้ประกอบการหรือประชาชนรอไม่ไหว ก็จะเข้าใจว่าต้องจ่ายแล้วถึงจะจบ ดังนั้นเมื่อแก้ไขกฎหมายแล้ว จะส่งผลที่ดีต่อไปในระยะยาว

นายวิโรจน์กล่าวว่า ส่วนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการระบุไว้ว่าหากยื่นเอกสารครบแล้ว แล้วยังไม่ได้รับการอนุญาต คนที่ยังไม่อนุญาตจะต้องทำรายงานทุก 7 วันเพื่อระบุและชี้แจงเหตุผล เราจึงต้องบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง

ด้านคำถามชุดปัญหาทั่วไป ถามว่า จะมีแนวทางเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางกรุงเทพมหานครอย่างไร

นายวิโรจน์ตอบว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดคือ การทำให้ประชาชนเชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าของกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจ ไม่ใช่ผู้อาศัยที่ได้แต่ยอมรับการกดขี่จากผู้มีอำนาจ ดังนั้น การกระจายอำนาจที่แท้จริงคือ 1.การกระจายงบประมาณ ดังนั้น จึงต้องได้ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.จากพรรค ก.ก. จะไปผ่านงบประมาณที่สภากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าไปกระจายงบประมาณ เพราะที่ผ่านมางบประมาณจำนวนมากกระจุกอยู่ที่มือผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่หากนำออกมากระจายสู่ชุมชนต่างๆ ตามเขตทั้ง 50 เขต ให้ชุมชนแต่ละแห่งนำไปทำสิ่งที่ต้องการ และจะนำแก้ปัญหาอะไรบ้าง สิ่งนี้จะทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมกับเมืองและเป็นเจ้าของเมือง พอกันทีกับการไปร้องขอที่เขต และถูกปฏิเสธว่าไม่มีงบ ทั้งที่เห็นว่างบประมาณถูกนำไปประเคนให้กับผู้รับเหมารายเดิมๆ และ 2.การแก้ไขข้อบัญญัติให้เป็นธรรม ยกตัวอย่างการเก็บค่าเก็บขยะจากนายทุนให้แพงขึ้น และทำให้เกิดการคัดแยกขยะ

สำหรับคำถามจากประชาชนทั่วไป ที่ว่าจะแก้ปัญหารถติดทุกเส้นทางอย่างไรบ้าง และทำได้จริงภายในระยะเวลาเท่าใด

นายวิโรจน์กล่าวว่า การแก้ปัญหารถติดที่ดีที่สุดคือการทำให้คนใช้รถสาธารณะ หรือรถเมล์ ที่ผ่านมารถเมล์ถูกละเลยมาโดยตลอด เพราะมีคนใช้บริการ 7-9 แสนคนต่อวันเท่านั้น และปัญหาที่ติดหล่มมาตลอดคือ ทำไมจึงทำรถเมล์ให้ดีไม่ได้ ทั้งที่ผู้มีอำนาจมีโอกาสไปดูงาน หรือการที่ไม่สามารถปรับปรุงได้เพราะนายทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กรุงเทพมหานครควรจะอุดหนุนค่ารถเมล์เพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้รถเมล์ที่ถูกลง ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายตั๋วคนเมือง เพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้รถเมล์ราคาถูก และมีคุณภาพ

นายวิโรจน์กล่าวว่า ส่วนถนนที่รถเมล์เข้าไม่ถึง ทางบริษัทกรุงเทพธนาคมสามารถจัดจ้างรถเมล์เพิ่มขึ้นเพื่อนำคนให้เข้าถึงรถไฟฟ้า นอกจากนี้ต้องวางโจทย์ให้ถูก เพราะการจัดทำรถเมล์หรือบริการสาธารณะสามารถขาดทุนได้ แต่ต้องแลกด้วยรถเมล์ที่ดี เพราะจะทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ลดมลพิษ และลดอุบัติเหตุจราจร ถึงเวลาแล้วที่เราจะจัดทำให้ประชาชนได้นั่งรถเมล์ถูกลงและมีคุณภาพดี

ด้านคำถามจากพ่อค้า แม่ค้า ที่ว่าจะสามารถจัดการพื้นที่ตลาดหาบเร่แผงลอยอย่างไร โดยประชาชนยังสามารถใช้พื้นที่ฟุตปาธได้อย่างสะดวก

นายวิโรจน์กล่าวว่า การจัดการหาบเร่แผงลอย สะท้อนว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เห็นแก่ตัว ยกตัวอย่าง ฮอว์เกอร์ เซนเตอร์ (Hawker Centres) ที่สิงคโปร์ ที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ หรือความอารีของนายทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่มีกฎเกณฑ์ว่าหากจะทำอาคารสูง จะใช้พื้นที่นั้นสูงสุดเพื่อทำกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นการผลักภาระการกินการใช้ของคนภายในตึกให้กับสังคม เพราะเมื่อมีคนซื้อก็ต้องมีคนขาย เราจึงต้องแก้ไขข้อบัญญัติ ว่าหากนายทุนคนใดต้องการขึ้นอาคารสูงต้องจัดสรรพื้นที่สีเขียวและศูนย์อาหารที่ขายให้คนในตึกด้วยราคาย่อมเยา กทม.จึงต้องมีกติกาของเมืองที่เป็นธรรม ซึ่งพรรคก้าวไกลจะไปผลักดันให้ กทม.เป็นเมืองที่คนเท่ากัน

ขณะที่คำถามจากผู้ประกอบการจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ว่าจะแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียและขยะในลำคลองอย่างไรนั้น

นายวิโรจน์กล่าวว่า การแก้ปัญหาขยะในคูคลองคือการเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บขยะและการปรับปรุงจุดทิ้งขยะตามริมคลอง เพราะหากไม่จัดเก็บขยะก็จะถูกพัดลงไปในคลอง ไม่ใช่เกิดจากการทิ้งขยะของประชาชนอย่างเดียว เราจึงต้องแก้ไขปัญหาที่ระบบ ซึ่งอาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1.5 พันล้านบาท แต่หากเก็บค่าจัดเก็บขยะได้ปีละ 600 ล้านบาท และปล่อยให้นายทุนร้านสะดวกซื้อจ่ายแค่ 120 บาทต่อเดือน หรือห้างใหญ่จ่ายเดือนละแค่หมื่นบาท ก็จะมีงบไม่พอ เราจึงต้องจัดเก็บค่าจัดเก็บขยะจากคนตัวใหญ่ที่ไม่ยอมจ่ายเพื่อนำงบมาปรับปรุงระบบการจัดเก็บขยะ

และ 2.การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ปล่อยน้ำเสียมากที่สุด โดยกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติว่าจะจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากโรงงาน 8 บาทต่อคิว แต่กลับกลัวไม่กล้าเก็บ แต่ไปเก็บกับคนตัวเล็ก เป็นการปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เอาเปรียบ นี่คือภารกิจของผู้ว่าฯกทม.อย่างตน และ ส.ก.พรรคก้าวไกล ที่จะไปเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะนำงบมาสร้างโรงบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำที่แยกระหว่างน้ำทิ้งกับน้ำฝนเพื่อลดความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย และจะทำให้น้ำในกรุงเทพมหานครดีขึ้นให้ได้

 

“พี่เอ้” เผย กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองต้นแบบเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ติดตั้ง Wi-Fi 1.5 แสนจุด

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ให้นโยบายมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ต้องการที่จะทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองที่ทันสมัย เป็นเมืองต้นแบบ สวัสดิการ ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม มิฉะนั้นสวัสดิการให้ฟรีก็เปล่าประโยชน์ สำคัญที่สุดเลย 1. สิ่งที่จะได้เห็นคนกรุงเทพฯ เมื่อตนได้เป็นผู้ว่ากทม. คือ การเข้าถึงและการใช้อินเตอร์เน็ตฟรี วันนี้ต้องบอกว่าโลกเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว แต่คนกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวง บางคนยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต จะไปสู้กับใครได้ 2.สวัสดิการที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา ภายใน 4 ปี จะได้เห็นโรงเรียนที่ดีที่สุดที่ใกล้บ้าน ผมตั้งใจจะใช้โรงเรียนในส่วนของ กทม. หนึ่งโรงเรียน ต่อหนึ่งเขตเป็นโรงเรียนที่มีการศึกษาที่ไร้รอยต่อ คุณสามารถดูแลได้แบบนี้จะทำให้ผู้ปกครอง ลดภาระการใช้จ่าย เรื่องค่าเล่าเรียน 3.เรื่องสวัสดิการ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ตามโรงพยาบาลรัฐ เกือบทุกโรงพยาบาล ประชาชนไปรอกันเต็มกันหมด ตนจะทำให้เมืองหลวงเป็นเมืองที่รักษาได้ครบจบในตัว ตนตั้งใจจะเพิ่ม บุคลากรทางการแพทย์ อาทิ หมอ พยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ และจะทำให้มีบริการสาธารณสุข ที่อยู่ใกล้บ้านท่าน ต้องเป็นอะไรที่เป็นที่พึ่งได้ จนเข้าถึงได้โดยเฉพาะโรคของผู้สูงอายุ อย่าง โรคไตจะต้องเป็นศูนย์ฟอกไตใกล้บ้าน เราจะใช้เทคโนโลยีมาใช้ให้เข้าถึงประชาชนในทุกบ้านในทุกพื้นที่ “กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองต้นแบบเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย”

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ต้องได้ผู้ว่าฯ กทม.ที่มีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องน้ำก่อน เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนต้องเข้าใจหลักวิศวกรรม 3 ข้อ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว คือ 1.ระยะสั้น ฝนตกยังไงก็ท่วม กรุงเทพฯเป็นเมือง เพราะต้องมารอคนเปิด-ปิดประตูน้ำ ตนจะเข้าใช้ระบบอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นการใช้เครือข่าย Wi-Fi ฟรี ทางกทม.ก็ใช้ช่วยในการเปิด-ปิดประตูน้ำได้ด้วย เป็นการลดปัญหาเรื่องของน้ำรอระบาย 2.ระยะกลาง การคิดแบบเดิม แบบเก่า ให้คนไปลอกท่อ คงทำไม่ได้ ที่สำคัญคือ ต้องทำแก้มลิงใต้ดินเท่านั้น เมื่อฝนตก น้ำมีปริมาณมาก ให้สูบน้ำมาพักไว้ที่แก้มลิงใต้ดิน ในเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น สุขุมวิท และรามคำแหง เพื่อรอการสูบน้ำระบายออก จะทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมรอการระบายแน่นอน 3.ระยะยาว คิดว่า กรุงเทพฯจะมาตายในปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ว่าฯกทม.คนแรกที่จะป้องกันปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุน คนกรุงเทพฯต้องเลือกคนที่ทำงานในเรื่องนี้มีประสบการณ์ ในเรื่องวิศวกรรม ตนมีประสบการณ์และความรู้ทางด้านนี้ จึงมั่นใจว่ากรุงเทพฯไม่จมน้ำแน่นอน โดยตนเองเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนเดียวที่ประกาศ ให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ เมื่อมากรุงเทพฯ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตฟรีทุกจุดของกรุงเทพฯเหมือนเกิดใหม่ เลยเพราะวันนี้มีทั้งการเรียนออนไลน์ หรือการทำงานออนไลน์ กรุงเทพมหานครจะต้องมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานในเรื่องการใช้บริการอินเตอร์เน็ตฟรี และการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือถ้าตนได้เป็นผู้ว่าฯกทม. กรุงเทพฯจะสว่างไสว จะมีทั้ง กล้อง CCTV และ Wi-Fi จะเป็นเมืองสวัสดิการในการดูแลชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชน โดย จะมีอินเตอร์เน็ตฟรี ที่ทันสมัย มี Wi-Fi 150,000 จุด จุดละหนึ่งเมกะไบต์

“ท่านจะทำงานที่ไหนก็ทำได้ จะกลับบ้านเวลาไหนปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรุงเทพฯจะมีบางกอกเซ็นเตอร์ เหมือนเมืองต่างๆทั่วโลก วันนี้ถ้าเรียนหนังสือก็สามารถที่จะหางานได้ กรุงเทพฯจะไม่กลับไปเหมือนเดิม จะเป็นเมืองที่ก้าวกระโดด เป็นเมืองต้นแบบของอาเซียนเราทำได้” สุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มั่นใจว่าเมื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็จะทำให้ดีที่สุด เมื่อครบ 4 ปีแล้ว ก็อยากจะเป็นต่ออีก 4 ปีจะเป็นผู้ว่าที่ดีที่สุด โดยก่อนที่ทุกคนจะมาเรียกผู้ว่าฯ นั้น การเมืองเป็นตำแหน่งเฉพาะจริงๆ ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่นี่คือตำแหน่งที่ต้องมาบริหารเมือง ดูแลเมือง เราไม่สามารถที่จะไปทะเลาะกับใครได้ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ก็ต้องรู้จักแข่งขันกับปัญหา ตนขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ตนมาพร้อมกับความมุ่งมั่นตั้งใจจริงๆ

“ผมไม่เอาชื่อเสียงมาทิ้งตรงนี้แน่นอน การมาในครั้งนี้ ผมมาพร้อมประสบการณ์ที่ทำมาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิศวกรรม, การศึกษา และ การสาธารณสุข ก่อนที่จะเลือกผู้ว่า กทม. ต้องมองว่า ใครเคยผ่านการทำงานเรื่องอะไรบ้าง คนที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าใจปัญหาในกทม.ในทุกด้าน” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ตนเปิดตัวอย่างมั่นใจว่า เป็นนโยบายของตนในเรื่องของออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงการทำงานของ กทม. เราสามารถเข้าถึงทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น การประชาพิจารณ์ในระบบออนไลน์สามารถทำได้ และขอให้มั่นใจว่า การเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.ของทุกคน มีความตั้งใจในการทำงานอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลา 4 ปี สำหรับปัญหาจราจร เป็นปัญหาทางด้านเทคนิค ปัจจุบัน ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯกทม. ทำได้ทันทีในเรื่องของการเพิ่มเลนจราจร โดยจะทวงพื้นที่การจราจร ที่มีการก่อสร้างต่างๆบนพื้นผิวจราจร ให้พี่น้องประชาชนได้ใช้สัญจรทันที และอะไรที่เป็นเป็นอุปสรรคของการจราจร คือเกาะกลางถนน ไม่เคยมีการสังคายนามานานแล้ว หากตนเป็นผู้ว่าฯกทม.จะดำเนินการเรื่องของเกาะกลางถนน ซึ่งต้องได้ผู้ว่าฯกทม.ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรม

“ผมจะใช้เรื่องการใช้ Wi-Fi ในการอำนวยการจราจร คนก็ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย ตรงนี้สามารถแก้ปัญหาได้ทันที ถือว่าเป็นปัญหาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทางเทคนิคซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้หากผมเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.”

ส่วนปัญหาหาบเร่แผงลอย นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนลงพื้นที่ทุกเขต ที่จะไปคือตลาด ที่น่าเห็นใจ คือพ่อค้า แม่ค้า ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ตนรู้ดีว่า หลายคนไม่พอใจ เรื่องฟุตปาธทางเท้า แล้วถ้าเกิดมีผู้ว่าฯชื่อสุชัชวีร์จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้จะให้พ่อค้า แม่ค้า เขาไปอยู่ที่อื่นก็เหมือนฆ่าเขา โดยจะเพิ่มเรื่องของสุขอนามัย การล้างมือ การทำความสะอาด สิ่งที่ตนจะทำให้คือ ก๊อกน้ำประปาหลายจุดภายในตลาด รวมทั้งเรื่องเทศกิจจะหมดไป ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็จะไม่กระดิกชัดเจนตรงนี้ หากมีการทุจริตพ่อค้า แม่ค้า สามารถร้องเรียนออนไลน์ได้ทันที การลงทะเบียนออนไลน์ จะได้รู้ว่าพ่อค้า แม่ค้า อยู่ตรงไหน

“ผมตั้งใจมาแล้วว่า จะทำให้เทศกิจเป็นมิตรกับพ่อค้าแม่ค้า ถ้าเกิดมีอะไร ผมจะเข้าไปดูแลเอง กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย พ่อค้าแม่ค้าอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

สำหรับการจัดการปัญหาขยะในลำคลอง ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมขยะลงคลองชุมชนทั่วกทม.มอลล์เป็นของตนลง 50 เขต 50 พื้นที่ไม่มีทางมีขยะ 120 ลิตรแบบนี้โบราณที่สุดแล้ว เพราะตนเป็นผู้ว่าฯกทม. จะใช้ขยะ 660 ลิตรทุกพื้นที่ โดยต้องมีล้อเลื่อน นี่เป็นปัญหาทางด้านเทคนิค ต้องใช้รถขนขยะขนาดเล็ก ใช้คนแค่หนึ่งคนเท่านั้น ชีวิตของคนกรุงเทพฯก็จะเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ามีที่ทิ้งขยะใครจะไปทิ้งในลำคลอง เพราะเขาไม่มีทางเลือก ตรงนี้ทำได้ทันทีเช่นเดียวกับน้ำเน่าประตูระบายน้ำ เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำเน่า การเปิด-ปิด ประตูน้ำด้วยระบบ Wi-Fi ให้เข้ากับน้ำขึ้น น้ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่มีการระบายน้ำได้ทันที ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนไปเปิด

 

‘ชัชชาติ’ หนุน สตรีทฟู้ด ใกล้ที่ทำงาน ชี้เรากินทุกวันแต่ต้องจัดการให้เหมาะสม ทำระบบเอื้อชีวิตผู้พิการครบวงจรพร้อมกัน

นายชัชชาติ ได้ตอบคำถามชุดแรกในปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยถามว่าเรื่องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครมีเงื่อนไขจำกัดเป็นจำนวนมากในเรื่องงบประมาณ หัวใจการทำงานกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพได้ก็ต้องร่วมกับคนอื่น หน่วยงานอื่น จึงต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า มีปัญหาอย่างไร ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเส้นเลือดฝอย ทางเดินทางน้ำ สุขอนามัย ดังนั้นต้องเข้าใจกฎระเบียบด้วยว่ามีอย่างไร และต้องมีครีเอทีฟในการแก้ปัญหา การขนส่ง ควันดำ ไซด์งานก่อสร้าง

ข้าราชการ ลูกจ้าง ของกรุงเทพมหานครมี 80,000 คน ดูว่าจะต้องเป็นผู้นำมีความยุติธรรมโปร่งใส ระบบแต่งตั้งต้องยุติธรรม ไม่ใช่ใช้เงินซื้อตำแหน่ง สวัสดิการพนักงานกวาดขยะ ก็ต้องมีความยุติธรรมต่อเขา เพื่อให้เขาดูแลประชาชน เพื่อพวกเราดูแลประชาชน การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น จราจรในท้องที่ใกล้เคียง กรุงเทพมหานคร ต้องมีหน่วย ซิงเกิ้ลคอมมานเซ็นเตอร์ เป็นเจ้าภาพจริงจังในการดูแลช่วยกัน ร่วมงานตำรวจ ขนส่ง รถไฟฟ้า ขสมก. ภาคประชาสังคม ภาคราชการ ก็ต้องให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในทรัพยากรที่มี

ด้านคำถามชุดปัญหาคุณภาพชีวิตและบริการ มีคำถามว่า มีแนวทางในการช่วยเหลือคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราเห็นกลุ่มเปราะบาง เด็กพิการซ้ำซ้อนที่ผู้ปกครองต้องดูแลเมื่อครอบครัวไม่มีรายได้ก็ลำบาก กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการที่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ก็เดินทางลำบาก ดังนั้นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของผู้พิการจะต้องมีโดยเฉพาะเส้นทางที่เดินกับพาหนะที่ใช้ ที่จะต้องออกแบบสำหรับทุกคน ทางลาดเหมาะสม ทางสโลบที่ดี ทางเท้าที่มีปุ่มอักษรเบลสำหรับผู้ชายไม้เท้า ทางเท้า สัญญาณสำหรับคนหูหนวก

“ซึ่งเหล่านี้ทางกรุงเทพมหานคร ต้องเตรียมให้พร้อม ติดลิฟต์เพิ่มให้กับการเดินทางบีทีเอสโดยต้องมีมาตรฐาน กรุงเทพมหานครที่จะต้องเดินรถเมล์เองบางส่วนต้องมีรถเมล์ที่ให้บริการแก่คนพิการ เพิ่มจำนวนให้เหมาะสม อบรมแท็กซี่ เพื่อให้บริการและความช่วยเหลือ มีเครือข่ายดูแลได้ การให้บริการสาธารณะที่เหมาะสม เช่น ห้องน้ำสาธารณะที่ผู้พิการสามารถใช้เป็นการบริการขั้นพื้นฐาน การให้บริการโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ต้องเพิ่มให้มากขึ้น”

ถามถึงปัญหาเศรษฐกิจและการทำกิน ที่ถามว่า มีนโยบายทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งสตรีทฟู้ดให้ดังไปทั่วโลกอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า สตรีทฟู๊ด คืออาหารที่เรากินประจำวันที่ราคาไม่แพงและอยู่ใกล้ที่ทำงาน ซึ่ง 80% ยังมีความจำเป็น ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ หลักการที่สำคัญ สตรีทฟู้ด ต้องอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนทางเท้าและต้องมีคุณภาพที่ดีสะอาด 171 จุดที่ผ่อนผันในขณะนี้ ต้องเริ่มจากการลงทะเบียนผู้ค้า และให้ความรู้ว่าสตรีทฟู๊ดที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร ดำเนินการอย่างไร จะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันกับคนในพื้นที่ เจ้าของห้องแถว คนหาบเร่ คนเดินเท้า คนในชุมชนมีความต้องการแตกต่างกัน ให้ชุมชนมีส่วนตัดสินใจดูแล เพื่อความเข้มแข็งในแต่ละพื้นที่ เช่น ซอยอารีย์ ที่มีการรวมตัวกันของทุกส่วนที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดี และยังมีที่ของรัฐของเอกชนหลายแห่ง ที่สามารถทำฮอกเกอร์เซ็นเตอร์ได้ กรุงเทพมหานครอาจจะช่วยเสริมได้ ทำเป็นโอทอปเซ็นเตอร์

เมื่อถึงชุดคำถามปัญหาทั่วไป มีคำถามที่ว่า แนวคิดและนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพมหานครรองรับความหลากหลายทางเพศได้ นายชัชชาติ กล่าวว่า คนหลากหลายทางเพศ คือ LGBTQ ซึ่งความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญของสังคมไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย เราต้องดูแลทุกคน ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องเริ่มจากความเข้าใจว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศคืออะไร ต้องการอะไร เพราะหลายอย่างทุกคนไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร และเมื่อเข้าใจแล้วจะต้องเตรียมให้บริการเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของเขา เช่น ต้องการห้องน้ำแยกหรือไม่ หรือต้องการห้องน้ำแบบไหน เราต้องเข้าใจและต้องดูแล คลินิกพิเศษต้องการหรือไม่ และต้องให้พื้นที่ปลอดภัยกับเขา โซนสีรุ้ง เป็นย่านของความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ เพื่อเป็นพื้นที่ที่มีอิสระ หรือกรุงเทพมหานครมีเดือนหนึ่งที่เป็น Pride Month สักเดือน โดยอาจจะติดธงสีรุ้งหน้าที่ว่าการกรุงเทพมหานคร ในช่วงนั้น นอกจากนี้ในเรื่องของความปลอดภัยก็ต้องมี

ส่วนคำถามในรอบสอง มาจากชาวกรุงเทพมหานคร ที่ถามว่า ปัญหารถติดทุกเส้นทาง มีนโยบายใดที่จะแก้ปัญหานี้ ทำได้จริงในระยะเวลาเท่าไหร่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหารถติด คือ ระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี จึงต้องปรับปรุงถนน และ ระบบขนส่ง กรุงเทพมหานครต้องยึดคืนพื้นผิวถนน จากการขุดรถไฟฟ้า กรุงเทพมหานครต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเพื่อบริหารการจัดการไฟจราจร รถไฟฟ้าสายสีเขียวเราต้องต่อสู้เพื่อนำประโยชน์คืนให้ประชาชน ราคาถูก เชื่อมโยง ได้โดยตั๋วใบเดียว ต้องดูขยาย เส้นทางขสมก. รวมถึงคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าวได้หรือไม่ เป็นเส้นเลือดฝอยที่ทำให้เราเข้าสู่เส้นทางหลักได้ ส่งเสริมการใช้จักรยาน ซ่อมพื้นผิวฟุตบาธ สร้างทางเลือกให้ประชาชน เมืองจะได้คล่องตัวขึ้น รถติดน้อยลง

สำหรับคำถามจาก ผู้ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าขาย ที่ถามว่า จะจัดการอย่างไรกรณี หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ริมฟุตบาท ให้ขายอยู่ที่เดิม ได้อย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ถ้าจะขายอยู่ที่เดิมก็ต้องดูว่าเหมาะกับการขายหรือไม่ ต้องดูความเหมาะสมว่าฟุตบาธเพียงพอที่จะตั้งหาบเร่แผงลอยหรือไม่ และต้องมีแนวปฏิบัติชัดเจน ต้องพูดความจริงกัน อย่าเพียงแค่พูดเอาใจพ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น จากนั้นต้องลงทะเบียน มาตรการการจัดสรรที่ขายก็ต้องชัดเจน เป็นธรรม ถ้าไม่โปร่งใสจะมีปัญหาเรื่องการจัดการ นอกจากนี้ต้องมีความสะอาด เรื่องสาธารณสุขและความปลอดภัย ให้กรรมการในเขตร่วมดูแลกันเอง ถ้าจุดไหนฟุตบาธใช้ไม่ได้จะต้องหาที่ให้เขา เช่น ที่เอกชน ที่ราชการที่ยังพอมีว่างอยู่

เมื่อถามถึงการจัดการขยะในคลอง นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก สาเหตุน้ำเสีย คือการทิ้งขยะลงคลอง ชาวบ้านมักบ่นว่าการเก็บขยะมาไม่ถี่ ดังนั้นเรื่องการเก็บขยะต้องสม่ำเสมอ กรุงเทพมหานครต้องเข้าไปดูแล เข้มงวดกับคนที่ทิ้งลงน้ำ ร่วมกับ ควบคุมมลพิษเข้าตรวจบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่เป็นต้นตอปล่อยมลพิษ จะต้องนำน้ำเสียทั้งหมดไปบำบัดในบ่อบำบัดน้ำเสียรวม กรุงเทพมหานครอาจต้องทบทวนการบำบัดน้ำเสียในภาพรวม การเปิดระบายน้ำเป็นเรื่องใหญ่ เพื่อฟลัดให้น้ำดีไล่น้ำเสีย