‘กสม.’เผยครึ่งปีมีคำร้องเรียน 356 เรื่อง พบสิทธิในชีวิตและร่างกายถูกร้องมากสุด

กสม.เผยครึ่งปีมีคำร้องเรียน 356 เรื่อง พบสิทธิในชีวิตและร่างกายถูกร้องมากสุด เน้นประสานคุ้มครองเพื่อความรวดเร็วช่วยแก้ปัญหา

 

วันที่ 12 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงผลการดำเนินงานรอบครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 64 – มีนาคม 65) ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งสิ้น 356 เรื่อง โดยเรื่องที่รับไว้ดำเนินการ มีจำนวน 284 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79.77 และเรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณา มีจำนวน 72 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.23

เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วหรือเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น โดยประเภทสิทธิที่มีการร้องเรียน มากที่สุด 5 ลำดับแรก 1.สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย 2.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตัวเลขการร้องเรียนต่างจากสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเพียงเล็กน้อย 3.สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี 4.สิทธิชุมชน และ 5. สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน

นายพิทักษ์พล กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนจำนวน 284 เรื่องที่ กสม. รับไว้ดำเนินการ มีการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 161 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 45.22 และในช่วงเวลาเดียวกันสามารถตรวจสอบเรื่องเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 108 เรื่อง พร้อมมีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการ นอกจากนี้มีการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 68 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.10

โดยสามารถประสานการคุ้มครองแล้วเสร็จจำนวน 62 เรื่อง เช่น การเร่งรัดการดำเนินคดีให้ผู้ร้องได้รับสิทธิประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ การเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสถานะบุคคล การแก้ไขปัญหาการประเมินผลการศึกษาตามการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และมีการดำเนินการช่วยเหลืออื่น ๆ 51 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14.32 โดยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการส่งเรื่องให้สภาทนายให้ความช่วยเหลือทางคดี

นายพิทักษ์พล กล่าวว่า มีการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบใน 4 เรื่อง คือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ข้อเสนอแนะกรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว และ ข้อเสนอแนะกรณีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน