อัด ‘วิษณุ’ ไม่เข้าใจปฏิรูปหลักสูตร ปมไม่ใช้ ‘ฐานสมรรถนะ’ ชี้ทำร้ายเด็กทั้ง ปท.

อัด ‘วิษณุ’ ไม่เข้าใจปฏิรูปหลักสูตร ปมไม่ใช้ ‘ฐานสมรรถนะ’ ชี้ทำร้ายเด็กทั้ง ปท.นักวิชาการจี้ลุยต่อ หลังรับฟังทุกภาคส่วน 5 ปี

 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัจจุบันกำหนดให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) โดยจะใช้หลักสูตรนี้ต่อไปจนกว่าจะมีการปรับปรุง โดยยืนยันจะไม่เปลี่ยนแปลงหลักสูตรดังกล่าว แต่อาจปรับปรุงบางจุดได้ โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด เพราะพื้นที่เหล่านี้อนุญาตให้ใช้หลักสูตรที่มีอยู่มาต่อยอดบางเรื่องได้

และเหตุผลที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพราะจะกระทบการจัดพิมพ์ตำรา และเป็นภาระแก่ผู้ปกครองนั้น มองว่านโยบายดังกล่าว เป็นการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม สร้างความสับสนให้ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ที่นายวิษณุออกมาระบุเช่นนี้ น่าจะไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และปฏิรูปประเทศมากเท่าที่ควร เพราะการเปลี่ยนแปลงพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ใช่เรื่องใหม่

“หลักสูตรฐานสมรรถนะมีพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนมา 3-5 ปีแล้ว แต่เมื่อเกิดความขัดแย้ง มีคนทักท้วง ต่อต้านไม่เอาหลักสูตรฐานสมรรถนะ นายวิษณุก็ออกมาระบุว่าไม่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะแล้ว ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางเหมือนเดิม แต่ให้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วจะปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษาได้หรือ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ความขัดแย้ง การเห็นต่างที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ จะให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมดก็เป็นไปไม่ได้ ทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีคนไม่เห็นด้วย และออกมาต่อต้านอยู่ตลอด ดังนั้น นายวิษณุไม่ควรเอาเรื่องดังกล่าวมาทำให้การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะชะงัก หรือตัดสินใจไม่ทำต่อแล้ว ปัญหาการผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือ ศธ.หาคนที่เข้าใจเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานหรือไม่ ที่สังคมเกิดความสับสน เกิดจากคนที่ดูแลหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่เข้าใจดีพอ จึงทำให้การสื่อสาร ชี้แจงทำความเข้าใจ สร้างความสับสนมาโดยตลอด เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

“การชะลอ หรือหยุดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะทำให้การศึกษาล้าหลัง และถอยหลังลงคลองอีกครั้ง ทำร้ายเด็กไทยทั้งประเทศ ผมไม่เห็นด้วยกับการชะลอ หรือยกเลิกหลักสูตรนี้ ควรเดินหน้าต่อ โดยอาจนำร่องใน 8 พื้นที่นวัตกรรมก่อน จะอ้างเหตุผลที่ไม่จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อ เนื่องจากกลัวเป็นภาระผู้ปกครองไม่ได้ เพราะหลักสูตรนี้ยังอยู่ในการทดลองนำร่องเท่านั้น ยังไม่ได้นำไปใช้จริง การเรียนการสอนในปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

หลักสูตรแกนกลางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2544 แม้จะปรังปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะๆ แต่หลักสูตรนี้ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันแล้ว มีเนื้อหาล้าสมัย มีรายวิชา ตัวบ่งชี้ และตัวชี้วัดจำนวนมาก ทำให้ครูไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ในส่วนหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่กำลังพัฒนานั้น มีหลักการที่ดี มีเนื้อหาสาระวิชาที่น้อยลง เน้นการสอนให้เด็กมีทักษะ เน้นการเรียนที่เป็นปัจเจกมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว