วงเสวนาชาตกาล 122 ปี “ปรีดี พนมยงค์” ชี้กรอบ SDGs จะบรรลุผลได้ ประชาธิปไตยคือบรรทัดฐานสำคัญ

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์และคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
ได้จัดเสวนา Pridi Talk ในวาระชาตกาล 122 ปี ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน โดยจัดในหัวข้อ “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยสมบูรณ์” โดยเชิญผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย
และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee ในการร่วมแบ่งปันความคิดเห็นต่อการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในทัศนะของปรีดี กับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย หรือ SDGs-Sustainable Development Goals ที่สหประชาชาติรับรองจากมติของชาติสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ การขจัดความยากจน ความปลอดภัย ความเป็นธรรมและการอยู่ร่วมสิ่งแวดล้อม

ผศ.ชล กล่าวว่า จริงๆน้องที่นำเสนอได้กล่าวไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ต้องเกริ่นว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายระยะยาว 15 ปีของยูเอ็น ซึ่งไทยได้ร่วมรับรองในปี 2015 ในฐานะคนธรรมดาอย่างเราทำไมต้องรู้ เพราะไม่ใช่แค่เป้าหมายที่ต้องไปเล่าให้ยูเอ็นฟัง แต่เป็นบรรทัดฐานการพัฒนาระดับโลก เป็นแนวคิดและเป้าหมาย ประเทศไหนพัฒนาดีหรือไม่ดี ยิ่งรัฐบาลประยุทธ์ รับมาทำ หมายความว่ารัฐบาลไทยได้สมัครใจร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย เท่ากับอยู่ภายใต้บรรทัดฐานนี้ แล้วภาคส่่วนต่างๆนี้จะรับบรรทัดฐานมาผลักดันยังไง สถาบันปรีดีก็ต้องการผลักดันเช่นกัน

ความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs กับประชาชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป้าหมายในทางการเมือง ข้อที่ 16 มีหยิบย่อยที่สอดคล้องว่าด้วยนิติธรรม การขจัดคอรัปชั่น เคารพสิทธิมนุษยชน แต่ที่น่าสนใจ SDGs ไม่ได้มีคำว่าประชาธิปไตย เพราะชาติสมาชิกที่ไม่ได้ปกครองประชาธิปไตยอย่างเกาหลีเหนือ รับรอง SDGs แม้จะไม่ตรงกันมากนัก แต่ปรีดีพูดถึงสวัสดิการแรงงาน การรวมตัวของแรงงาน การศึกษามีส่วนต่างที่พูดถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการศึกษาเพื่อเป็นพลเมืองโลก สิทธิมนุษยชน สันติภาพและสันติวิธีและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่จะส่งเสริมประชาธฺิปไตยสมบูรณ์

ประการแรกSDGs ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะปัญหาภายใต้กรอบนี้ซับซ้อน ไม่มีใครแก้ได้ด้วยตัวเอง ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแทบเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่เปิดให้ทุกกลุ่มให้ความเห็นและขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน

ประการที่ 2 SDGs เป็นนวัตกรรมธรรมาภิบาลระหว่างประเทศ เหนี่ยวนำทุกประเทศทำอะไรร่วมกัน ประเด็นคือ เหมือนให้การบ้านทุกคน ติดตามผลงานระดับโลกมีเวทีเช่น เวทีความคืบหน้า ประเทศไทยจริงจังมากในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นำเสนอ 2 ครั้ง ความน่าสนใจคือเปิดให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้าง อย่างตรงไปตรงมา เป็นกลไกให้ทุกฝ่ายกระตือรือร้น แต่ไทยกลับไม่มีกลไกที่ว่า แม้เรามีหน่วยงานระดับรัฐแต่กลับไม่มีการขับเคลื่อน

ประการสุดท้าย ในการที่เราจะเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ยั่งยืน ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม การสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไม่ได้ดีกับทุกคน การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม จำเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้ามีคนเสียประโยชน์ จะทำยังไงกับพวกเขาชดเชยยังไง กระบวนการประชาธิปไตยจะช่วยเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อาจบรรลุได้ด้วยการใช้ SDGs อย่างเป็นประโยชน์ ทุกภาคส่วนใช้ภาษานี้ทั้งหมด การใช้นี้หมายถึงเชื่อมโยงกับบรรทัดฐานนี้ คำถามคือ คนทั่วไป พรรคการเมือง หรือภาคประชาสังคม จะใช้ภาษานี้ยังไง ให้เป็นประโยชน์ในการผลักดันวาระตัวเอง ทำให้ SDGs เป็นเรื่องของทุกคนที่อยากผลักดันวาระของตัวเอง ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ด้านศิริกัญญา กล่าวว่า จริงๆแล้ว SDGs เหมือนเป็นด้านกลับกัน ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนประสบความสำเร็จ ทำไมประชาธิปไตยสมบูรณ์ถึงสำคัญ? เรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เหมือน 2 คำที่ไม่ควรอยู่ด้วยกัน อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ แต่อำนาจเศรษฐกิจ เงินเป็นใหญ่ อำนาจทางเศรษฐกิจ 1 บาทคือ 1 เสียง ยิ่งมีเงินมาก มีเสียงมาก แล้วประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจคืออะไรกันแน่ จากการศึกษางานของปรีดีหลายวาระ จะมีการพูดถึงการต่อต้านการผูกขาดโดยทุนต่างชาติ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การรวมตัวผ่านสหกรณ์การใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นในฐานะเป้าหมาย ถ้าอ.ปรีดียังอยู่ เมื่อก่อนที่ต้องกลัวทุนต่างชาติ มาถึงวันนี้ทุนต่างชาติไม่น่ากลัวเท่าทุนไทย พอบริบทเปลี่ยนไป การตีความก็เปลี่ยนไปด้วย

ในแง่เป้าหมาย เราเห็นตรงกัน ทั้งต้านการผูกขาด ความเป็นธรรม การผลิตด้วยเทคโนโลยี ส่อดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ต้องพูดถึงแนวคิดอื่นของอ.ปรีดี ในเค้าโครงเศรษฐกิจ ประกันความสุขของราษฎร ประกันการว่างงาน เงินเดือนพื้นฐานเพื่อเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ เป็นเรื่องที่ต้องพูดว่า อ.ปรีดีมีแนวคิดเป็นสากลและร่วมสมัยจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเน้นย้ำคือกระบวนการไปสู่เป้าหมาย ต้องมานั่งตีความกันว่า กระบวนการกำหนดนโยบายให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจกับคนส่วนใหญ่ควรเป็นยังไง

SDGs ไม่ได้พูดชัดเจนนัก แล้วกระบวนการอะไรที่ทำให้บรรลุ เลยกลับมาที่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจคือ ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายเศรษฐกิจ เลี่ยงไม่ได้ต้องที่ประชาธิปไตยด้านอื่น วิธีคิด ทัศนคติของสังคมที่่ต้องไปด้วยกัน

ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า กระบวนการกำหนดนโยบาย ที่่ผ่านมา รัฐบาลไทยล้มเหลวตลอด ไม่ได้เอาผลประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง คนต้านการใช้จีดีพีในการวัดทางเศรษฐกิจ เพราะว่า 1 บาท คือ 1 เสียง แต่การเจริญเติบโตของเค้กคนส่วนใหญ่กลับน้อย แต่ทุนต่างๆกลับโตอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวประมาณ 6% ก้อนเค้กเล็กลง จีดีพีคือรายได้คนทั้งประเทศรวมกัน ถ้าดูกำไรบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้าก่อนช่วงโควิดถึง 12% กลับกันเศรษฐกิจหดตัว 5% หมายถึงค่าจ้างอื่นติดลบ แ

แสดงว่า การดูแค่จีดีพีลดลงอย่างเดียว ไม่ได้สะท้อนภาพจริงของประชาชน เป็นเรื่องท้าทายและหลายคนพยายามตั้งดัชนีวัดอื่นแทน เพื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาตรงนี้ แต่ต้องยอมรับว่าการมีเป้าหมายมากเกินไป ทำให้ไม่รู้การจัดลำดับความสำคัญว่าต้องทำอะไรก่อน เป็นเรื่องที่ตัวเองพูดถึงและผลักดันตลอด เศรษฐกิจโตหรือไม่โต ต้องดูกระเป๋าของประชาชน และสะท้อนผ่านอุตสาหกรรมว่าที่ผ่านมา เรียกร้องความเสียสละจากประชาชนส่วนใหญ่ เป็นคนต้องยอมก่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ ไม่ว่าแลกด้วยที่ดิน มลภาวะมาอยู่ใกล้บ้าน ให้เศรษฐกิจโต แต่เศรษฐกิจของใคร? นั้นทำให้ต้องมีประชาธิปไตยในกระบวนการกำหนดนโยบายและเรื่องอื่นด้วย

SDGs ยังพูดถึงเศรษฐกิจในหลายเป้าหมาย ทั้งความยากจนและหิวโหย งานที่มีคุณค่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน แต่ยังมีอีกหลายตัวที่เกี่ยวเนื่องกับปากท้องคนส่วนใหญ่ เช่น ภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวกับปากท้องคนส่วนใหญ่ยังไง ผลกระทบกับคนไทยจากภาวะโลกร้อน กระทบกับคนที่มีรายได้น้อยและเปราะบางมากที่สุด กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือภาคเกษตรกรรม แล้งนานขึ้น อุกทกภัยถี่ขึ้น กระทบแน่นอน การท่องเที่ยว ปัญหากัดเซาะชายฝั่งก็เกิดขึ้น การประมงชายฝั่ง ได้รับผลกระทบ ต้องบอกว่า ทั้งหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เพียงแต่จะส่ะท้อนด้วยมุมไหม

สุดท้ายนี้ รัฐบาลนี้มีเจตจำนงแค่ไหนในการพาไปบรรลุเป้าหมาย คือต้องบอกว่า ยังทำได้ไม่ดีพอ แม้ว่าอันดับของเราดูดีก็ตามจนน่าแปลกใจ แต่ความที่ 17 เป้าหมายและหยิบย่อยอีกเป็นร้อย ดูเลยว่า รัฐบาลไทยสัญญาอะไรบ้าง มีความคืบหน้ายังไง ไม่ต้องพูดถึงเป้าหมายน่าท้าทายมากพอไหม หรือเอาแค่ระดับง่ายๆ ทำให้รู้สึกว่า รัฐบาลไทยไม่ได้มีเจตจำนงเพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ยกอีกตัวอย่าง การพัฒนาได้ต้องมีฐานข้อมูล ความถี่ที่เเหมาะสม แต่พอดูสภาพัฒน์ ข้อมูลคืบหน้าใน SDGs ไม่อัพเดตทั้งที่สัญญากับยูเอ็นอย่างต่อเนื่อง ยังมีข้อมูลที่ต้องเก็บตลอดเวลา แต่เรากลับไม่พัฒนาให้ทันสมัย สุดท้ายเราคงจะหวังอะไรมากไม่ได้ กับรัฐบาลที่ไม่ได้ใส่ใจ นั้นทำไมถึงต้องบรรลุประชาธิปไตยสมบูรณ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จริงๆแล้ว แอบสงสารฝั่งข้าราชการ มีคนพูดถึงรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ฉบับนี้ มีพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าอะไรที่พูดได้ ข้าราชการอยากทำยุทธศาสตร์ชาติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญระบุคาดโทษ แต่ SDGs กลับไม่มีเจ้าภาพชัดเจน ประชุมน้อย ปีละครั้งเอง สภาพัฒน์เหมือนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
แต่แค่บางส่วน นอกจากยุทธศาสตร์ชาติ ข้าราชการหน่วยงานต่างๆต้องทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แผนแม่บท 5 ปี ไม่สามารถยัด SDGs เข้าไปได้อีก เป็นเรื่องน่าเสียดาย

ขณะที่ พริษฐ์ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ SDGs และความคิดของปรีดี การเข้าศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเป้าหมายหนึ่ง พออ่านความคิดของอ.ปรีดีก็เป็น 1 ใน หลัก 6 ประการ การตั้งมธก.ยิงย้ำความสำคัญ พออ่านระหว่างบรรทัด SDGs หรือแนวคิดปรีดี ไม่ได้มองการศึกษาในแง่มิติเดียว

หากมองการศึกษาในฐานะเครื่องมือพัฒนาประเทศ มี 3 ด้าน ที่ทำให้เค้กก้อนนี้ดี ด้านแรก เค้กก้อนโตขึ้น ถ้ามีการศึกษาที่ดี มีหลักสูตรช่วยติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน ให้เศรษฐกิจเติบโต คือการพัฒนาการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจเติบโต

ด้านสอง การจัดสรรอย่างเป็นธรรม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ คำถามคือจะลดลงยังไง วิธีหนึ่งที่ทำได้ เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

และด้านที่ 3 การมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ เคาพรสิทธิเสรีภาพ เป็นส่วนสำคัญของการศึกษา

ในแง่มุมหนึ่งคือ แก้กติกา ให้ทุกสถาบันทางการเมืองตอบสนองความต้องการของประชาชน และการปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตย ต้องทำให้ห้องเรียนเผยแพร่ค่านิยมประชาธิปไตย

ถ้าไล่แต่ละบทบาท ไทยเผชิญปัญหาพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน เลย ถ้าอยากให้การศึกษามีคุณภาพ ยังต้องแตกย่อย อีก 3 อย่าง คือ มีทักษะพร้อมรับมือโลกอนาคต แม้ไทยเราเรียนหนักแต่ไม่สามารถแปลงทักษะมาทัดเทียมกับระดับโลกได้ ที่น่าห่วงอย่างอันดับทักษะภาษาอังกฤษ เราต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน
นั้นเพราะเรามีการเรียนการสอนที่ไม่ถูกวิธี อาจเน้นท่องจำมากกว่าการใช้ภาษา

อย่าง 2 คือ การศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำคัญมาก ทำยังไงให้นักเรียนมาจบแล้ว สามารถเรียนรู้ต่อได้ จากที่ดูคะแนน PISA และแบบสำรวจความต้องการ ของไทยกลับมีผลว่า เรามีคะแนน PISA ต่ำ กลับพอใจหลักสูตรการศึกษาที่มีอยู่ อาจเพราะนักเรียนเครียดกับการเรียนรู้และหมดไฟ

อย่างสุดท้ายคือการศึกษาที่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการค้นพบตัวเอง แต่เห็นว่าพอคนจบ กลับไม่รู้ว่าจะทำอะไร เข้าใจได้ว่าเด็กมีอิสรภาพน้อยเพราะต้องเรียนวิชาบังคับมาก

มิติต่อมาคือความเหลื่อมล้ำ เราเจอความเหลื่อมล้ำ 3 ตลบ คือ ไม่ฟรีจริง, คุณภาพไม่เหมือนกันระหว่างโรงเรียนในเมือง-ชนบท และความเหลื่อมล้ำนอกห้องเรียน การเรียนในห้องเรียนไม่พออีกต่อไปแล้ว
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องพึ่งติวพิเศษ หรือค่าเข้าสอบมีราคาที่สูง เป็นอุปสรรคในการสร้างความเสมอภาค

มิติสุดท้าย การศึกษาเพื่อปลูกฝังประชาธิปไตย ถ้าอยากเข้าใจวัฒนธรรมประเทศใด ให้สังเกตห้องเรียนประเทศนั้น ประเทศเผด็จการ มักวางครูยืนบนพื้นสูง แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตย ครูนั่งกลางวงล้อมนักเรียน ครูพูดส่วนหนึ่ง นักเรียนพูดส่วนหนึ่ง หรือสังเกตรัฐสภา ถ้ามีอาคารใหญ่และนั่งห่างกันมักเป็นประเทศเผด็จการ

พริษฐ์ กล่าวอีกว่า ถ้าถามว่า ค่านิยมโรงเรียนเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ซึ่งโรงเรียนมีปัญหาซึ่งสะท้อนผ่านคำ “S-c-h-o-o-l” ได้ทีละคำนั้นคือ

S-Single Answer เอาข้อสอบปรนัยมาตอบกับเรื่องที่ไม่ควรถามแบบนี้ บางเรื่องควรแลกเปลี่ยนมากกว่า
C-Corruption เราย้อนแย้งการปลูกฝัง “โตไปไม่โกง” กลับมีการทุจริตในโรงเรียนมากมาย อย่างเงินแป๊ะเจียะ โกงค่าอาหารกลางวัน ถ้าอยากขจัดต้องปลูกฝัง
H-Hierarchy การแบ่งลำดับชั้น ตั้งแต่โรงเรียนเอกชน-รัฐ เมือง-ชนบท การปฏิบัติกับนักเรียนไม่เท่ากัน การปฏิบัติระหว่างนักเรียนกับครู
O-Obedience การทำตามครูอาจไม่ผิด แต่ค่านิยมอำนาจนิยมปลูกฝังให้นักเรียนไม่กล้าตั้งคำถาม และทำให้ครูฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบ
O-Outdated ค่านิยม กฎเกณฑ์ไม่ปรับตามยุคสมัย ไม่ทันกับสังคม ก็จะมีกฎหมายที่ไม่เท่าทันสังคม เหมือนกับการเกณฑ์ทหาร การรักษาความมั่นคงเปลี่ยนแปลงมากจนใช้วิธีเดิมไม่ได้อีกต่อไป เด็กที่ไม่อยากเป็นทหารก็ต้องเสียโอกาส
L-Limited Truth ความจริงครึ่งเดียว ปัญหาวิชาประวัติศาสตร์อาจนำเสนอมุมมองด้านเดียวหรือคลุมเครือ ต้องวางให้ชัดว่าประวัติศาสตร์ควรเรียนแบบไหน ควรเรียนเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนแทนที่ปลูกฝังให้เชื่อ จึงไม่แปลกใจกับช่วงนี้ที่หนังสือประวัติศาสตร์นอกกรอบหรือขนบของกระทรวง ขายดีถล่มทลายในกลุ่มคนรุ่นใหม่

นี่คือ 3 บทบาทสำคัญของการศึกษาที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนเอกชัย กล่าวว่า SDGs ในแง่กฎหมายไทยนั้น ขอกล่าวถึง 2 ประโยค ความไม่สมบูรณ์ของประชาธิปไตยคือความสวยงามและเกิดในมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา ความไม่สมบูรณ๋์นี่แหละคือความสมบูรณ์ในตัวเอง

ใน SDG บอกว่า ต้องบูรณาการและแบ่งแยกไม่ได้ และสมดุลกัน มี 3P ที่เป็น People,Planet and Prosperity อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าถามคนจะเรียนจบว่า จบแล้วจะทำอาชีพอะไร ลำพังแค่กินข้าวจะมีไหม ทุกคนต่างเห็นใจ ไม่ต้องท่องให้แม่นยำ

และมีคำว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมอยากขอให้สถาบันผลักดันเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักว่า ต้องพยายามตั้งหลักเรื่องนี้ให้ถูก SDGs มีไม่ได้ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ทุกคนอยู่กันได้อย่างมีความสุข มีความเป็นธรรม การเรียนรู้ที่ตลอดชีวิตก้าวให้ทัน เพราะความรู้มีวันหมดอายุ ความรู้วันหนึ่งอาจไม่ถูกต้อง

ผศ.ชล ได้ตอบคำถามถึง SDGs กับการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในมิติสิ่งแวดล้อมว่า ประชาธิปไตยกับการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม คนทั่วไปอาจมองเป็นเรื่องเทคนิค ส่วนเรื่อง net-zero นั้นทำได้แต่ไม่เป็นธรรม เพราะจะมีคนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบหรือเสียประโยชน์ ซึ่งกระบวนประชาธิปไตยอาจต้องใช้เวลานาน

เอกชัย กล่าวถึงความการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับกทม.ท่ามกลางกระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ว่า ปัญหาความยั่งยืนของกรุงเทพฯคือ “คน” เมืองกำลังผลักคนไปอยู่นอกเมือง ต่อให้มีเงิน 1 ล้านบาท ก็อยู่ในกทม.ไม่ได้ ต้องไปอยู่ปริมณฑลแล้วเดินทางเข้ากทม. คนที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่มีแต่คนจนเมือง