‘ชัชชาติ’ ชี้ เมืองไม่เอื้อกับผู้พิการ ย้ำ “คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ”

ชัชชาติ เบอร์ 8 ลั่นปัญหาเมืองไม่น่าอยู่สำหรับผู้พิการ เพราะ “คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ” ยืนยันกลุ่มผู้พิการต้องได้ทำงานร่วมผู้ว่าฯ

 

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 8 เข้าร่วมเวทีดีเบตตามหา “ผู้ว่าฯ ฟอร์ ออล” ส่วนหนึ่งของงาน Thailand Friendly Design Expo ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เนื้อหาหลักของการดีเบตเกี่ยวข้องกับเรื่องการถกปัญหาและทางแก้สภาพแวดล้อมพิการ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้พิการ ชัชชาติเผยแนวทาง 4 ด้านส่งเสริมคุณภาพผู้พิการ ครอบคลุมเดินทาง บริการสาธารณะ ฝึกอาชีพ และจ้างงาน สอดคล้องวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

ชัชชาติ กล่าวบนเวทีว่า ปัญหาของผู้พิการใน กทม. ที่ต้องเร่งแก้ไขมี 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเดินทาง กทม. ต้องมีพาหนะที่ผู้พิการใช้งานได้สะดวก เช่น รถชานต่ำ รถแท็กซี่ที่ผู้พิการเรียกใช้งานได้สะดวก มีการเชื่อมต่อที่ดี ทางเดินเท้าเรียบ ออกแบบและก่อสร้างถูกต้องตามมาตรฐานตั้งแต่ต้นเพราะการก่อสร้างภายหลังมักมีต้นทุนสูงกว่า ติดตั้งลิฟต์โดยสารในพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีสะพานลอย

ด้านการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น กทม. ต้องให้บริการล่ามภาษามือกับผู้ต้องการพิเศษ เพิ่มจุดออกบัตรผู้พิการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. จัดบริการให้คำปรึกษาการแพทย์ทางไกลถึงบ้าน ขณะที่ด้านการฝึกอาชีพ กทม. ต้องเน้นส่งเสริมอาชีพให้คนพิการทำงานตามความสนใจอย่างมีศักดิ์ศรี โดยขยายจำนวนศูนย์และโรงเรียนที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ ให้ครอบคลุมและด้านการจ้างงาน กทม. ต้องจ้างงานผู้พิการมากขึ้นคือ การจ้างงาน 100 คนต้องมีผู้พิการอย่างน้อย 1 คน ชัชชาติ กล่าวว่าแนวทางทั้ง 4 ด้านจะทำให้การแก้ไขปัญหาเพื่อผู้พิการสามารถดำเนินการได้จริงเป็นรูปธรรม

ชัชชาติ ย้ำว่าปัญหาหลักของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการใน กทม. คือ คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ จึงทำแล้วใช้งานไม่ได้ ยืนยันหากตนดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะเร่งดำเนินการตามแนวทางทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทำได้จริงเป็นรูปธรรม พร้อมยืนยันว่าในคณะทำงานของตนต้องมีคนพิการเป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้เข้าใจสภาพปัญหาและช่วยหาทางออกได้ตรงจุด ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาเพื่อผู้พิการต้องมีแนวทางปฏิบัติงานชัดเจน แบ่งเป็นเรื่องระยะสั้นและระยะยาว

“ถ้าจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจาก action plan ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มต้องมองทุกมิติของชีวิต เรื่องคนพิการไม่ได้มีแค่ทางเท้าและการเดินทาง เฉพาะของคนพิการก็มีเป็นสิบ ๆ เรื่อง ดังนั้น ต้องมีแผน บางเรื่องอาจสามเดือนเสร็จ บางเรื่องอาจทำได้เลยเสร็จเลย บางเรื่องอาจทำเป็นสิบปี แต่ต้องเริ่มวันนี้ก่อน สิ่งสำคัญคืออย่ามองแค่ระยะสั้น ต้องมองภาพรวมเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง นั่นเป็นเหตุผลที่เรามี action plan ทั้งหมดกว่า 200 เรื่องสำหรับทุกคน” ชัชชาติกล่าว

ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุปสรรคที่ทำให้การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อคนทุกกลุ่มใน กทม. ไม่ประสบความสำเร็จมี 3 ประการ ประกอบด้วย “ไม่เอาจริง ไม่เข้าใจ ไม่โปร่งใส” ตัวอย่างเช่น กทม. ที่เคยประกาศว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จุดบริการนักท่องเที่ยว 20 กว่าแห่งกลับไม่มีการออกแบบให้กลุ่มผู้พิการเข้าถึงได้ สะท้อนความไม่เอาจริงกับสิ่งที่ประกาศไว้ ด้านความไม่เข้าใจ ชัชชาติเสนอแก้ปัญหาโดยการกระจายอำนาจให้ตัวแทนสภาชุมชนมาจากกลุ่มที่หลากหลาย และมีโอกาสเจอกับผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง เพื่อเสริมความเข้าใจต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน ขณะที่ด้านความโปร่งใส ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. มีกฎระเบียบมากมายแต่ไม่มีการตรวจสอบว่าปฏิบัติตามหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กทม. กำลังหลับตาข้างหนึ่งอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวมีผู้สมัครผู้ว่าฯ เข้าร่วมอีก 4 ท่าน ประกอบด้วย โฆสิต สุวินิจจิต วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ศิธา ทิวารี และ สกลธี ภัททิยกุล ดำเนินรายการโดย กฤษณะ ละไล ประธานโครงการทูตอารยสถาปัตย์