ดราม่าก่อนประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ ชาติสมาชิกเสียงแตก ท่ามกลาง 3 เส้าชาติมหาอำนาจ

เปิดปมชาติอาเซียนเสียงแตก เห็นต่างสิ้นเชิงต่อจุดยืนต่อชาติมหาอำนาจ ก่อนคิ๊กออฟซัมมิตอาเซียน-สหรัฐฯ 

 

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit)  ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. ช่วงวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันดี.ซี. เพื่อร่วมประชุมดังกล่าวด้วย โดยการเยือนสหรัฐฯของพลเอกประยุทธ์ ในครั้งนี้ ถือว่าไปใน 3 บทบาทคือ

1.ผู้นำของชาติสมาชิกอาเซียนที่จะร่วมหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน 2.การหารือความร่วมมือในด้านพัทธมิตรแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และ 3. ในฐานะที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ประชุมเอเปค ช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม อีกนัยยะหนึ่งการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ รอบนี้อาจเป็นอีกภาพสะท้อนความร้าวลึกระหว่างจุดยืนของชาติสมาชิกอาเซียนบางชาติในทำนองว่า ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศอาจไม่ต้องการเดินทางไปเยือนเคียงข้างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ร้อนระอุ รวมถึงสหรัฐอาจกำลังใช้เวทีนี้ในการแผ่ขยายอิทธิพลในอาเซียนเพื่อคานอำนาจรัฐบาลปักกิ่ง

โจ ไบเดน
Photo by Nicholas Kamm / AFP

เลือกตั้งฟิลิปปินส์ บนทางแยกจีน-อเมริกา

ผู้นำประเทศเดียวที่ประกาศไม่เดินทางไปร่วมประชุมที่วอชิงตันคือ ประธานาธิบดีโรดดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์กำลังมีเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศ แม้จะมีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ถึง 6 คน แต่ตัวเก็งในงานนี้คือนายเฟอร์ดินานด์ (บองบอง) มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ปี บุตรชายอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส กับ นางมาเรีย ลีโอนอร์ โรเบรโด รองประธานาธิบดี วัย 57 ปี 

ในบรรดาตัวเก็งทั้งสอง นายมาร์กอสจูเนียร์ ได้ชื่อว่า เป็นผู้สมัครที่อาจเป็นประโยชน์กับจีนมากกว่า หากเขาชนะเลือกตั้ง โดยมาร์กอสจูเนียร์แสดงจุดยืนมานานแล้วว่าจะผลักดันนโยบายด้านการต่างประเทศต่อนายประธานาธิบดีดูเตอร์เต ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงจากสมัยผู้เป็นบิดาคือ

อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ที่ครองอำนาจฟิลิปปินส์มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ระหว่าง 1965 – 1986 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งหากนายมาร์กอสจูเนียร์ครองอำนาจในทำเนียบ ก็อาจเป็น “ปัญหาร้ายแรง” ต่อความมั่นคงในภูมิภาคของกองกำลังสหรัฐ ซึ่งอาจสั่นคลอนความมั่นคงของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะทะเลจีนใต้และต่อไต้หวัน

ขณะที่นางโรเบรโด รองประธานาธิบฟิลิปปินส์ แม้จะเป็นเบอร์สองในรัฐบาลมะนิลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรดดริโก ดูเตอร์เต ทว่าหลายครั้ง นางมาเรีย ลีโอนอร์ โรเบรโด มีจุดยืนในเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการทำสงครามยาเสพติด และด้านนโยบายต่างประเทศต่อจีน ที่ไม่ได้เป็นไปแนวทางเดียวกับดูเตอร์เตมากนัก ในการหาเสียงเธอแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะถ่วงดุลอำนาจต่อจีนผ่านการอาศัยความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงจากพันธมิตรเดิมอย่างสหรัฐฯ 

มาเลเซียกับจุดยืนต้านทหารพม่า

ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าเวทีประชุมผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน จะจัดขึ้น รัฐบาลมาเลเซียออกมาเรียกร้องให้ประชาคมอาเซียน เปิดช่องทางการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลเงาเมียนมา พร้อมทั้งตำหนิรัฐบาลทหารเมียนมาที่ล้มเหลวในการทำตามฉันทมติ 5 ข้อที่ได้ตกลงไว้กับอาเซียนตั้งแต่ปีที่แล้ว

นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียไม่ได้เสนอให้อาเซียนยอมรับรัฐบาลเงาของเมียนมา แต่การเพิ่มช่องทางการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลเงา อาจเป็นไปได้ในแง่ของการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังเสนอให้อาเซียนเพิ่มความช่วยเหลือแก่เมียนมาอีกเท่าตัวด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาเป็นเวลากว่า 1 ปีกว่าหลังเหตุรัฐประหารเมียนมา บรรดาชาติอาเซียนต่างมีจุดยืนแตกต่างกันต่อกรณีการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

พม่า-ลาว ซื้อน้ำมันถูกรัสเซีย

ท่ามกลางวิกฤตสงครามรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อ สิงคโปร์เป็นเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่แสดงจุดยืนคัดค้านการรุกรานยูเครนทั้งประกาศร่วมวงคว่ำบาตรทางเศรษกิจต่อรัสเซีย สวนทางกับพม่าและสปป.ลาว ที่แสดงความสนใจหาทางสั่งซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียเพื่อหวังรักษาเสถียรภาพพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะพม่าที่เผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงานหนักหน่วงมากขึ้นนับตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจและถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติรวมถึงการถอนทุนของบรรดาเอกชนต่างชาติ 

ที่ผ่านมาพม่า พึ่งพาพลังงานจากการขุดเจาะภายในประเทศผ่านการลงทุนของเอกชนต่างชาติ ทว่าเมื่อเอกชนต่างชาติแห่ถอนทุนจากประเทศเนื่องจากรัฐประหาร ทำให้พม่าเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่ขยายวงรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลแห่งชาติพม่า ประกาศว่าพม่ากำลังอยู่ระหว่างหาทางนำเข้าพลังงานราคาถูกจากรัสเซียเพื่อบรรเทาการขาดแคลนพลังงานในประเทศ

ส่วนลาว แม้จะได้ฉายาว่า “แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย” แต่รัฐบาลสปป.ลาว ได้ลงนามในหนังสือสำคัญ เพื่อหาทางซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ตามมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาลาวนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากไทยเป็นหลัก รองลงมาคือเวียดนาม และจีน

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ลาวประสบปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินกีบอ่อนตัวอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับ เงินบาท ส่งผลให้การนำเข้าพลังงานจากไทยมีราคาสูงขึ้น รัฐบาลลาวเห็นควรให้มีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่รวมศูนย์ในการจัดหาพลังงานราคาถูกจากต่างชาต โดยเฉพาะน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิง

สำหรับประเทศไทย แม้ที่ผ่านมาไทยจะเลือกฝ่ายในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า วอชิงตันอาจใช้เวทีนี้ในการกดดันกลุ่มอาเซียนให้เข้าข้างตะวันตกในกรณียูเครนมากขึ้น รวมถึงสหรัฐอาจใช้โอกาสนี้ในการเดินเกมรุกอาเซียนเพื่อคานอำนาจต่อจีนมากขึ้น