อิสราเอลเผย ‘ปูติน’ ขอโทษแทน ‘ลาฟรอฟ’ หลังลั่น “ฮิตเลอร์มีสายเลือดยิว”

อิสราเอลเผย ปูติน ขอโทษแทนรมว.ต่างประเทศ ที่ลั่น “ฮิตเลอร์มีสายเลือดยิว” เบลารุสชี้ รับไม่ได้หากรัสเซียใช้นิวเคลียร์ใส่ยูเครน

 

วันที่ 5 ม.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานแถลงการณ์จากสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาฟตาลี เบนเน็ตต์ ว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน ขอโทษนายเบนเน็ตต์ ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ หลังนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมนี และชาวยิวว่า “ฮิตเลอร์มีสายเลือดยิว”

“นายกรัฐมนตรีอิสราเอลรับคำขอโทษของประธานาธิบดีปูตินสำหรับถ้อยคำของนายลาฟรอฟ และขอบคุณประธานาธิบดีปูตินสำหรับชี้แจงทัศนคติของประธานาธิบดีปูตินต่อชาวยิวและความทรงจำเกี่ยวกับฮอโลคอสต์ (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว 6 ล้านราย โดยนาซีเยอรมนี ในสงครามโลกครั้งที่สอง)” แถลงการณ์จากสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลระบุ

ทั้งนี้ นายลาฟรอฟให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์อิตาลี ทางโทรทัศน์อิตาลี เมื่อต้นสัปดาห์เดียวกันนี้ พยายามอ้างเหตุผลกับเป้าหมายของรัสเซียในการ “กำจัดลัทธินาซี” ยูเครน ทั้งที่ประธานาธิบดีของประเทศ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี เป็นชาวยิว โดยอ้างว่า “ฮิตเลอร์มีสายเลือดยิว” และ “ผู้ต่อต้านชาวยิวที่รุนแรงที่สุดมักเป็นชาวยิว”

ต่อมา ทูตรัสเซียประจำอิสราเอลถูกกระทรวงต่างประเทศอิสราเอลเรียกเข้าพบเพื่อหารือ นายเบนเน็ตต์กล่าวว่า คำพูดของนายลาฟรอฟเป็น “ความเท็จ” ส่วนนายยาอีร์ ลาปิด รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล กล่าวว่า คำพูดของนายลาฟรอฟ “ยกโทษไม่ได้และสร้างความเจ็บแค้น”

กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย
แฟ้มภาพ – นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ และ นายยาอีร์ ลาปิด รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย และรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล (Yuri KOCHETKOV / various sources / AFP)

ก่อนหน้านี้ สำนักประธานาธิบดีรัสเซียถอดคำพูดการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทั้งสองผู้นำ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ตรงกับวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอล ส่วนใหญ่สอดคล้องกับประเด็นอื่นๆ ที่ทั้งสองผู้นำพูคุยกัน แต่ไม่ได้ระบุถึงการขอโทษของนายปูตินหรือถ้อยคำที่เป็นประเด็นของนายลาฟรอฟ

รายละเอียดการถอดคำพูดจากฝั่งรัสเซียและฝั่งอิสราเอลส่วนใหญ่สอดคล้องกับประเด็นอื่นๆ ที่นายปูตินและนายเบนเน็ตต์หารือกันเมื่อวันพุธที่ 4 พ.ค. ตรงกับวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอล รัสเซียระบุว่า ทั้งสองผู้นำย้ำความสำคัญพิเศษของวันที่ 9 พ.ค. ต่อชาวรัสเซียและอิสราเอล ซึ่งเฉลิมฉลองเป็นวันแห่งชัยชนะในรัสเซีย เป็นวันสำคัญยิ่งต่อชาวรัสเซียและอิสราเอล

ฝั่งรัสเซียระบุว่า ทั้งสองผู้นำต่างยกย่องความทรงจำของผู้ล่วงลับทั้งหมด รวมถึงเหยื่อฮอโลคอสต์ ด้วยการแสดงความสนใจพัฒนาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรระหว่างรัสเซียและอิสราเอล และว่านายเบนเน็ตต์กล่าวถึง “การมีส่วนร่วมอย่างเด็ดขาดของกองทัพแดงเพื่อชัยชนะเหนือลัทธินาซี”

นายปูตินและนายเบนเน็ตต์ยังหารือถึงสถานการณ์ในยูเครน รวมถึงการอพยพพลเรือนออกจากโรงงานเหล็กอาซอฟสตัล และรัสเซียระบุว่า นายปูตินกล่าวว่า กองทัพรัสเซียพร้อมที่จะประกันความปลอดภัยของพลเรือนในการอพยพออกจากโรงงาน

ยอมไม่ได้ หากใช้อาวุธนิวเคลียร์

ขณะที่  เอพี รายงานการสัมภาษณ์นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ผู้นำเบลารุส ที่ออกมาปกป้องรัสเซียในการรุกรานยูเครน แต่คาดไม่ถึงว่า ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 10 สัปดาห์ “จะลากยาวแบบนี้”

นายลูคาเชนโคยังต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน แต่ไม่ได้กล่าวว่าประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน มีแผนการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

นายลูคาเชนโคให้สัมภาษณ์เอพีที่ทำเนียบชื่ออินดีเพนเดนต์ พาเลส (Independence Palace) ในกรุงมินสค์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ค. กล่าวว่า รัสเซียซึ่งเปิดฉากการรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. และส่วนหนึ่งมาจากดินแดนเบลารุส จำเป็นต้องทำเพราะยูเครน “ยั่วยุรัสเซีย”

“แต่ผมไม่ได้หมกมุ่นกับปัญหานี้มากพอที่จะบอกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามแผนอย่างที่รัสเซียพูดหรืออย่างที่ผมรู้สึก ผมต้องการย้ำอีกครั้งว่า ผมรู้สึกว่าปฏิบัติการนี้จะลากยาวต่อไป” นายลูคาเชนโคกล่าว

การสนับสนุนสงครามของนายลูคาเชนโคทำให้นานาชาติวิจารณ์และดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อเบลารุส ทหารรัสเซียบางส่วนถูกส่งจากดินแดนเบลารุสเข้าไปในยูเครน และนายลูคาเชนโคมีจุดยืนข้างพันธมิตรยาวนานอย่างรัสเซียอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม นายลูคาเชนโคบอกเอพีว่า ตนและประเทศตนมีจุดยืนเพื่อสันติภาพและเรียกร้อง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อยุติ “สงคราม” ซึ่งเป็นคำที่รัสเซียไม่ใช้แต่เรียกการรุกรานยูเครนด้วยชื่อ “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” แทน

ผู้นำเบลารุส วัย 67 ปี ให้สัมภาษณ์เอพีด้วยน้ำเสียงสงบและใช้เวลาเกือบ 90 นาที มากกว่าการปรากฏตัวทางสื่อครั้งก่อนๆ ซึ่งผู้นำเบลารุสจะโจมตีตะวันตกเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรและประณามนักข่าว

“เราไม่ยอมรับสงครามอย่างเด็ดขาด เราทำแล้วและกำลังทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้สงครามเกิดขึ้น ต้องขอบคุณพวกคุณจริงๆ ที่ทำให้การเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียเริ่มต้นขึ้น” นายลูคาเชนโคกล่าว

ผู้นำเบลารุสกล่าวว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนเป็นการกระทำที่ “ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศเรา เราไม่ได้อยู่ข้ามมหาสมุทรเหมือนสหรัฐอเมริกา และไม่สามารถยอมรับไม่ได้เนื่องจากอาจทำให้โลกเราหลุดจากวงโคจรไปที่ซึ่งใครจะไปรู้ ไม่ว่ารัสเซียจะสามารถทำได้หรือไม่ เป็นคำถามที่คุณต้องถามผู้นำรัสเซีย”

นายลูคาเชนโกกล่าวว่า รัสเซีย “ตามคำจำกัดความไม่สามารถแพ้สงครามครั้งนี้ได้” พร้อมระบุว่า เบลารุสเป็นประเทศเดียวที่ยืนหยัดเคียงข้างรัสเซีย ขณะที่มากถึง 50 ประเทศ เข้าร่วมกองทัพทางฝั่งยูเครน

นายลูคาเชนโคเสริมว่า นายปูตินไม่ได้แสวงหาความขัดแย้งโดยตรงกับนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และตะวันตกควรทำให้แน่ใจว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น “ปูตินน่าจะไม่ต้องการเผชิญหน้าระดับโลกกับนาโต ใช้มันและทำทุกอย่างไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น มิฉะนั้น แม้ว่าปูตินจะไม่ต้องการ แต่กองทัพรัสเซียจะตอบโต้” ผู้นำเบลารุสเตือน

นายลูคาเชนโคเรียกนายปูตินเป็น “พี่ใหญ่” และว่าผู้นำรัสเซียไม่มี “ความสัมพันธ์ใกล้ชิด เปิดกว้าง หรือเป็นมิตรกับผู้นำโลกอื่นใดนอกจากประธานาธิบดีเบลารุส”

นายลูคาเชนโคบอกเอพีว่า ประเทศตนไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น แม้ว่ากองทัพเบลารุสจะซ้อมรบสัปดาห์นี้ “เราไม่ได้ข่มขู่ใครไม่ได้กำลังข่มขู่ และจะไม่ข่มขู่ด้วย ยิ่งกว่านั้น เราไม่สามารถข่มขู่ได้ เรารู้ว่าใครต่อต้านเรา ดังนั้น เพื่อปลดปล่อยความขัดแย้ง การทำสงครามที่นี่…ไม่ได้เป็นเพื่อผลประโยชน์ของรัฐเบลารุสเด็ดขาด ดังนั้น ตะวันตกสามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจ”

นายลูคาเชนโกกล่าวโทษตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่เติมเชื้อไฟความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า “สหรัฐต้องการยึดช่วงเวลานี้ ผูกพันธมิตรกับตนเอง และให้รัสเซียจมปลักในสงครามกับยูเครน เป้าหมายของพวกเขาคือการจัดระเบียบรัสเซีย และจีน”

นายลูคาเชนโกกล่าวด้วยว่า ประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี กำลังรับคำสั่งจากสหรัฐ “วันนี้ไม่ใช่เซเลนสกีที่บริหารยูเครน – ไม่ผิด นั่นคือมุมมองของผม บางทีผมอาจคิดผิด” และเสริมว่า หากประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน กล่าวเช่นนั้น “ทุกอย่างจะหยุดภายใน 1 สัปดาห์”

พร้อมคุ้มครอง “สวีเดน-ฟินแลนด์” ก่อนร่วมนาโต้

จากกรณีประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ เตรียมยืนสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ในเร็วๆนี้ท่าทีซึ่งคาดว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียที่มีชายแดนติดกับฟินแลนด์ได้นั้น ล่าสุด ทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยว่า พร้อมให้ความคุ้มครองทั้งสองประเทศในช่วงเวลาหลังยื่นสมัครจนถึงการได้รับการตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

สวีเดน และฟินแลนด์ สองชาติที่เดิมมีสถานะเป็นกลางทางการเมืองมีความห่วงกังวลต่อภัยคุกคามจากรัสเซียระหว่างกระบวนการยื่นขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ช่วงเวลาที่อาจใช้เวลายาวนานถึง 1 ปีเพื่อให้ได้รับการรับรองจากชาติสมาชิกทั้ง 30 ประเทศอย่างเป็นเอกฉันท์

นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐมั่นใจว่าจะสามารถหาทางจัดการกับข้อกังวลของทั้งสองประเทศในช่วงเวลาระหว่างการยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกและการรับรองเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการได้

ทั้งนี้สวีเดนและฟินแลนด์ คาดว่าจะตัดสินใจในเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกนาโตหรือไม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน เปิดเผยหลังเข้าร่วมหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า สวีเดนได้รับการรับรองด้านความั่นคงจากสหรัฐแล้วแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ

ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมสวีเดนเปิดเผยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าการยื่นสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตนั้นจะส่งผลให้รัสเซียดำเนินการตอบโต้เช่นการโจมตีไซเบอร์ และมาตรการไฮบริดต่างๆเช่นการใช้กลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของสวีเดน