เสวนา “เมือง (น่า) อยู่ได้-เมือง (ใคร) อยู่ดี” / รายงานพิเศษ : กรกฤษณ์ พรอินทร์

รายงานพิเศษ

กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

เสวนา “เมือง (น่า) อยู่ได้-เมือง (ใคร) อยู่ดี”

 

เสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 15.00 น. เวทีกลาง งาน Summer Book Fest 2022 มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ สำนักพิมพ์มติชนได้จัดเวทีเสวนา “เมือง (น่า) อยู่ได้-เมือง (ใคร) อยู่ดี” เสวนาสุดเข้มข้นที่ว่าด้วยเรื่องเมืองกรุงเทพฯ กับวิทยากร 2 ท่าน ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร และอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร เล่าว่า สมัยอยุธยาช่วงประมาณ พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา เริ่มมีชุมชนเกิดขึ้นตามบริเวณโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ แล้ว กระทั่งประมาณ พ.ศ. 2090-2100 สมเด็จพระไชยราชา กษัตริย์อยุธยาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดแห่งหนึ่งที่ชื่อว่าคลองลัดบางกอก เพื่อประหยัดเวลาการเดินทางออกทางปากอ่าวบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ (ในปัจจุบันคือบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าธรรมศาสตร์ไปจนถึงปากคลองตลาดที่เป็นคลองขุด)

ในช่วงที่ใกล้กับการเสียงกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็มีการตั้งชุมชนบางกอกบริเวณคลองลัดที่ขุดไว้ให้เป็นเมืองขึ้นมา ชื่อว่าเมืองธนบุรีในพื้นที่นี้ พัฒนาการของชุมชนในกรุงเทพฯ เริ่มจากการเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กๆ กระจายตัวกันตามลำน้ำอ้อมโค้ง การประกอบอาชีพส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ สวนหมาก และมีบางส่วนประกอบอาชีพการประมง

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ทำให้เมืองเกิดความเติบโตขึ้นตามลำดับ ช่วงเวลาเพียง 10 กว่าปีหลังขุดคลองลัดบริเวณนี้ ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นเมืองได้ เนื่องจากบริเวณนี้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์เพราะเดินทางง่ายขึ้น ธนบุรีหรือบางกอกก็ทวีความสำคัญขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย

ในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีการติดต่อกับต่างชาติ เมืองธนบุรีหรือบางกอกได้รับความสนใจจากอยุธยามากถึงขั้นมีการสร้างป้อมปราการสองฝั่งแม่น้ำ ที่ทุกวันนี้คือป้อมวิชัยประสิทธิ์ที่อยู่ในพื้นที่ของทหารเรือ และอีกป้อมหนึ่งที่รื้อไปแล้ว แต่จากเอกสารเก่าทำให้เรารู้ว่าเป็นป้อมรูปดาวตามอย่างตะวันตกอยู่บริเวณมิวเซียมสยามในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เป็นถึงความสำคัญของเมืองธนบุรีหรือเมืองบางกอกนี้ตั้งแต่ครั้งอยุธยาตอนปลายมาแล้ว

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ให้ความเห็นว่าจะเห็นได้ว่ากรุงเทพเกิดจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินอย่างคนจีน คนมุสลิม คนมอญ อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อกรุงเทพ พวกเขามีการตั้งนิคมของตัวเองตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งแต่ละนิคมจะมีหน้าที่ของตัวเองในการทำงานที่แตกต่างกัน กลายมาเป็นพลเมืองหลักของกรุงเทพแล้วก็ทำให้กรุงเทพมีหน้าตาเหมือนทุกวันนี้ เรียกว่าร่วมกับก่อร่างเป็นบางกอกผ่านกลุ่มคนหลากหลาย

ประเด็นต่อมาคือกลุ่มคนเหล่านี้จะมีการยึดโยงความเป็นเครือญาติ จึงทำให้ลักษณะการเป็นชุมชนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ความเป็นชุมชนของกรุงเทพในปัจจุบันไม่เหมือนกับการเป็นชุมชนของกรุงเทพในอดีต เพราะความเป็นชุมชนในอดีตมีความเป็นเครือญาติซ้อนทับกันอยู่ และมีลักษณะการทำงานที่เป็นประเภทเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนั้น การเป็นชุมชนก็เป็นเหมือนการปักป้ายประกาศว่าพื้นที่บริเวณนี้ตั้งเป็นชุมชน มีคนในพื้นที่ออกไปและมีคนนอกพื้นที่เข้ามาอยู่อาศัย ประเด็นหลักก็คือจะทำให้คนรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างไร เพื่อให้เขาอยากพัฒนาเมืองที่เขาอาศัยอยู่

สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “สำนึกความเป็นเมือง” คือความคิดระหว่างคนในเมืองที่มีร่วมกันจนเกิดกลไกขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองขึ้นมา เพราะเมืองจะไปต่อได้ไม่ใช่เพราะปลูกสร้างแต่เป็นผู้คน เพราะไม่ว่าจะสร้างะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าผู้คนไม่มีส่วนร่วมเมืองก็ไม่มีความหมาย

อย่างตอนนี้สัญญาณที่ดีมากๆ คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้น ที่คนรุ่นใหม่ตื่นเต้นว่าพวกเขาจะมีส่วรร่วมในการได้เปลี่ยนแปลงเมืองจากนโยบายของผู้สมัครที่เขาชื่นชอบ สิ่งนี้เรียกว่าสำนึกในความเป็นบางกอกเกี้ยน (Bangkokian) หรือความเป็น “ชาวเมืองกรุงเทพ”

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ประภัสสร์ ชูวิเชียร อ้างถึงหนังสือ “ก่อร่างเป็นบางกอก” ว่า สังคมในรัฐสมัยจารีตของกรุงเทพ การขับเคลื่อนสังคมเป็นไปโดยอำนาจเพียงหนึ่งเดียวคืออำนาจของราชสำนัก ที่มีแนวคิดในการใช้ศาสนาพุทธและพราหมณ์มาขับเคลื่อนสังคม เราจึงเห็นได้ว่าการออกแบบผังเมืองรัตนโกสินทร์ในระยะแรกจะเน้นในการสร้างแกนหลักของเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับความคิดทางศาสนา นั่นคือการสร้างแกนตรงกลางและมีมณฑลขยายออกมาเรื่อยๆ แกนกลางด้านในสุดคือกษัตริย์และเจ้านาย วงแหวนรอบนอกออกมาคือขุนนาง จากนั้นเป็นไพร่ และกลุ่มชาติพันธุ์ ลักษณะแบบนี้จะเกิดสำนึกที่เรียกว่า “จะร่วมกันก็ไม่ใช่ จะต่างกันก็ไม่เชิง” และถูกนำมาใช้กับระบบสังคมที่มีพุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่ผสมผี ผสมพราหมณ์ ไม่กีดกันคนเห็นต่างมามีส่วนร่วมในสังคมเป็นสิ่งยึดโยงกัน

แต่สิ่งนี้เริ่มเปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่กระแสสมัยใหม่ถาโถมเข้ามา อย่างการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองที่จากเดิมที่เป็นลักษณะมณฑล กลับต้องไปอิงการค้าในดินแดนตอนในมากยิ่งขึ้น เกิดการทำถนนมากขึ้น เกิดการรถไฟ แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา และการออกแบบเมืองจำเป็นที่ต้องเข้าใจกับพลวัตเหล่านี้

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การพัฒนากรุงเทพมีเป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะว่าในระยะเวลานั้นเรามองว่าเมืองคือสิ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งได้ทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้จนถึงทุกวันนี้คือผังเมืองกรุงเทพ ซึ่งสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้ว และอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักในการพัฒนาเมืองแล้ว

เมืองหลายๆ เมืองในโลกผังเมืองก็ไม่ได้ดี แต่เขามีวิธีบริหารจัดการให้คนในเมืองรู้สึกเป็นสุข รู้สึกมีอิสระในการใช้ชีวิตในเมืองได้ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากกว่าและเป็นโจทย์หลักของการพัฒนาเมืองในวันนี้ การพัฒนากรุงเทพวันนี้จึงกลายเป็นว่า คุณตั้งโจทย์อย่างไร เช่น ทำอย่างไรให้คนมีความสุข ทำอย่างไรให้เมืองเป็นเมืองเดินได้ เป็นต้น

ประภัสสร์บอกว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มีต้นทุนทางมรดกทางวัฒนธรรมเยอะมากแต่ถูกนำมาใช้ในโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก โดยยก 2 ตัวอย่าง คือ 1 วัด ศาลเจ้า สุเหร่า มัสยิด กรุงเทพฯ สามารถพัฒนาศาสนาสถานต่างๆ เหล่านี้ให้เป็น Public Space ที่กรุงเทพขาดแคลนอยู่ได้ดีเลย อย่างเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น วัด ศาลเจ้าต่างๆ กลับเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่คนเดินเข้าออกไปนั่งเล่นได้อย่างสบายใจ คือไม่ต้องเข้าวัดในฟังชั่นการใช้งานในรูปแบบศาสนาอย่างเดียว แต่ให้เป็นสถานที่เที่ยวได้ ไปพักผ่อน ไปใช้ชีวิตได้ เพื่อชดเชย Public Space ของคนกรุงเทพที่หายไป เพราะเรามี Public Space น้อยมาก พื้นที่ในกรุงเทพมันไม่มีที่นั่งให้เราเลย แต่ถ้าเราพัฒนาพื้นที่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็น Public Space ได้ เราจะมีพื้นที่มากขึ้น

อย่างที่ 2 คือแม่น้ำและคูคลอง เพราะว่าเราใช้ประโยชน์จากแม่น้ำคูคลองในกรุงเทพน้อยกว่าที่ควรจะเป็น คือมองคูคลองเป็นแค่แหล่งระบายน้ำ จนลืมมองว่าคูคลองบางส่วนช่วยทดแทนเส้นทางคมนาคมได้ ช่วยชดเชยระยะเวลาการเดินทาง และช่วยแชร์พื้นที่การเดินทางบนถนนจำนวนมากให้เบาบางลงได้ และที่สำคัญมันเป็นการคมนาคมที่เป็นขนส่งมวลชน นำพาคนจำนวนมากไปยังเป้าหมายพร้อมกัน ประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อนรรฆกล่าวเสริมประภัสสร์ว่า เวลาที่พูดถึงพื้นที่สาธารณะ เรามักนึกถึงสวนสาธารณะก่อนเป็นสิ่งแรก ซึ่งมีงานวิจัยบอกว่า สวนสาธารณะมี 2 ประเด็นคือ 1 คนกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้ เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาพักผ่อน และประเด็นที่ 2 คือ การพัฒนาสวนสาธารณะมันกลายเป็น Big Project ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งคนทั่วไปเข้าไม่ถึง ไม่มีโอกาสได้ใช้บริการ แต่กลับไปช่วยเพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์บริเวณโดยรอบสวนสาธารณะเหล่านั้น ทิศทางในอนาคตควรที่จะต้องมีการพัฒนา Public Space ให้แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ของเมืองมากขึ้น

อนรรฆบอกว่า ปัญหาหนึ่งของกรุงเทพ ไม่ใช่ปัญหาการกระจายอำนาจ แต่เป็นการกระจายทรัพยากรและความอิสระให้เมืองเติบโตด้วยตนเองได้ คือไม่มีเงินและไม่มีความเป็นอิสระเพราะต้องอิงกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ ฉะนั้นถ้าจะพูดถึงการกระจายอำนาจ จำเป็นที่ต้องพูดถึง 2 ประเด็นนี้ควบคู่กันด้วย เพื่อให้เมืองต่างๆ มีการพัฒนาให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งในอดีต เมืองต่างๆ ในอดีตมีอิสระพอสมดวร แต่ทุกสิ่งมันเปลี่ยนไปหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา คือเรากระจายอำนาจกันแบบครึ่งๆ กลางๆ

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ฝากให้วิทยากรทั้ง 2 ท่าน ทิ้งคำถามให้ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนละ 1 คำถาม อนรรฆทิ้งท้ายคำถามให้ว่า “เป้าหมายในการพัฒนากรุงเทพของผู้สมัครแต่ละคนคืออะไร” ส่วนประภัสสร์มีคำถามว่า “หากเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว จะจัดการกับอดีตของกรุงเทพอย่างไร”

ทั้ง 2 คำถามล้วนน่าสนใจ ชวนขบคิดต่อ ไม่แพ้บทเสวนาบนเวทีเลยทีเดียว •