‘กอร์ปศักดิ์’ ห่วงหนี้รายปีพุ่งเกินเพดาน เขย่ารัฐ ใช้เงินประหยัด-กู้อย่างมีวินัย

“กอร์ปศักดิ์” โชว์เก๋า ห่วงหนี้รายปีเกินเพดานกำหนด ชี้ไม่แปลกที่รัฐขยับเพดานเป็น70 % แต่แปลกที่ให้ฝ่ายบริหารกำหนดโดยไม่ผ่านสภาฯ แนะรัฐต้องประหยัด-กู้อย่างมีวินัย

 

วันที่ 5 พ.ค.2565 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า ด้านเศรษฐกิจ ทวิตข้อความระบุเปรียบเทียบศักยภาพในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ของเอกชน และรัฐบาล ว่า เอกชนจะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเลขรายได้ เพราะรายได้ทำหน้าที่เป็นเพดานในการกู้เงิน รัฐบาลกู้เงินง่ายกว่าเอกชน เนื่องจากเครดิตประเทศดี จะกู้มากน้อยแค่ไหนไม่เป็นปัญหา แต่หากรัฐบาลกู้อย่างงมงาย ขาดวินัยทางการเงินการคลัง ประเทศมีสิทธิล่มสลายได้เหมือนกัน

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีพ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง 2561 กำกับการกู้เงินของรัฐไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง กฎหมายให้มีการกำหนดสัดส่วนการกู้และภาระหนี้ ถ้าเป็นหนี้สาธรณะ กำหนดเพดานที่ 60% ของจีดีพี ส่วนภาระหนี้ของรัฐในแต่ละปี ต้องไม่เกิน 35 % ของรายได้ในปีนั้นๆ ประกาศเมื่อ 7 มิถุนายน 2561 และ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 มีการแก้ไขตัวเลขเพดานการกู้เงินที่นับเป็นหนี้สาธรณะ จาก 60% เป็น70% ของจีดีพี สาเหตุจากการกู้เงินจนทะลุเพดานของรัฐบาล ถ้าไม่ปรับเพดานใหม่ จะเป็นการกู้ทะลุเพดาน ผิดกฎหมาย แก้แล้วจึงไม่ผิด หนี้สาธรณะของรัฐบาลเมื่อ กันยายน 2561 อยู่ที่ 41.70% และสูงขึ้นติดเพดานเมื่อ กันยายน 64 ที่ 58.15 % เพดานกำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพี รัฐไม่มีทางออก รายได้ไม่พอ ต้องกู้เพิ่ม แต่เมื่อกู้เพิ่ม ตัวเลขจะทะลุเพดาน การแก้ปัญหาของรัฐบาลคือ ขยับเพดานให้สูงขึ้นจาก 60% เป็น 70%

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับภาระหนี้รายปีของรัฐบาล น่าเป็นห่วงเหมือนกัน จากเมื่อเดือนกันยายน 2561 ภาระหนี้อยู่แค่ 19.17% พอมาถึงกันยายน 2564 ตัวเลขสูงก้าวกระโดดไปที่ 32.27 % เพดานกำหนดไว้ที่ 35% ของรายได้ ห่างเพดานไม่มาก ไม่แน่ใจว่าจะขยับเพดานตัวนี้อีกหรือไม่ จึงต้องจับตาดูกันต่อไป และไม่แปลกที่กรณีวิกฤติ อาจต้องขยับเพดานเงินกู้ แต่ที่แปลกคือกฎหมายให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจแก้ไขเพดาน ไม่ต้องผ่านสภาฯ จึงขอย้ำให้รัฐบาล ประหยัด รู้และเข้าใจถึงการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เงินงบประมาณ โดยต้องกู้อย่างมีวินัยทำ ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ แต่เมื่อมีการขยับเพดานเงินกู้ อาจทำให้ภาคเศรษฐกิจเสียความเชื่อมั่นในการบริหารงานด้ายเศรษฐกิจการเงินการคลัง