เผยแพร่ |
---|
พรรคเพื่อไทยชวนตั้งคำถาม “คุณคิดว่าตัวเองจนไหม ?” ผ่านวิดีโอที่แหวกให้เห็น “ความจนซ่อนใน” ของชนชั้นกลางกรุงเทพฯ พร้อมยืนยัน ข้าวของจะถูก ค่าแรงจะสูง ถ้าเลือกเพื่อไทยเป็น ส.ก.
วันที่ 28 เมษายน 2565 พรรคเพื่อไทยเปิดตัวคลิปวิดีโอ “คุณคิดว่าตัวเองจนไหม?” ( youtu.be/9Ly0oYhimBk ) ชวนรับฟัง 4 คนหนุ่มสาว ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แบบที่ “ชีวิตไม่ดี ไม่ลงตัว” เพราะโครงสร้างที่กดทับ ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะที่แพง ดูดเวลา ดูดพลัง หรือระบบสาธารณสุขที่เตียงไม่พอ รอนาน ซึ่งทำให้ “ชนชั้นกลาง” อย่างพวกเขา “จน” ได้เหมือนกัน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยยืนยัน 22 พฤษภาคมนี้ เลือกเพื่อไทยเป็น ส.ก. เกินครึ่งสภา กทม. เพื่อลดรายจ่าย กระจายรายได้ ขยายโอกาส ให้คนกรุงเทพฯ อย่างถ้วนหน้า
29 เมษายน 2565 – พรรคเพื่อไทยปล่อยคลิปวิดีโอ “คุณคิดว่าตัวเองจนไหม?” (youtu.be/9Ly0oYhimBk) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของ 4 คนหนุ่มสาวผู้มีเงื่อนไขในชีวิตแตกต่างกันออกไป
นัทธมน เปรมสำราญ นักเขียน นักแปล ศิลปินอิสระ กับประสบการณ์การพาคุณพ่อไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ
“ตอนแรกคิดว่าพ่อเป็นหวัดเฉยๆ เลยพาไปตรวจโรงพยาบาลเอกชนก่อน ค่าตรวจ 5,000 ปรากฏตรวจไปตรวจมาเจอบางอย่างในปอด หมอแนะนำให้ตรวจน้ำล้างปอด แต่มีค่าใช้จ่าย 40,000 ซึ่ง 40,000 นั้นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าเกิดเจออะไรอีกล่ะ สุดท้ายเลยย้ายไปโรงพยาบาลของรัฐ แล้วพ่อก็ไปเสียที่โรงพยาบาลนั้น มีช่วงที่เราคิดมากเรื่องการตัดสินใจเรื่องการรักษาของพ่อ เราคิดย้อนกลับไปว่า ถ้าวันนั้นเราตรวจตั้งแต่ที่โรงพยาบาลเอกชน มันจะไม่เป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายมันก็เป็นไปตามที่เราทำได้”
วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย นักออกแบบ กับความฝันอยากซื้อบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีความปลอดภัยให้คุณแม่
“เรามีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าจะสร้างบ้านที่มีบริเวณ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความปลอดภัยที่ดีให้พ่อกับแม่อยู่ แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจ หรือระบบรัฐที่ผ่านมา เราไม่กล้าฝันถึงสิ่งนั้น ต้องประนีประนอมกับความฝันตัวเอง เราคุยกันว่า ม้า บอกตรงๆ นะ ไม่สามารถซื้อบ้านให้ม้าได้ตอนนี้”
ณัฐพล สืบกระพันธ์ นักตัดต่อวิดีโอ กับความพยายามในการลดค่าเดินทางและประสบการณ์การรอรถประจำทางอย่างสิ้นหวัง
“เรามีตัวเลือกไม่ค่อยมากเวลาเดินทาง จะขึ้นรถไฟฟ้ายังต้องคิดเลยเพราะมันแพง เราเลยพยายามลดค่าใช้จ่ายด้วยการเปลี่ยนไปนั่งรถเมล์ แต่เคยรอรถเมล์อยู่ 2 ชั่วโมงก็ยังไม่มา ตอนนั้นรู้สึกว่า แค่จะกลับบ้านยังบั่นทอนฉิบหาย”
พนิดา มีเดช อาร์ตไดเร็กเตอร์ กับการตัดทอนกิ่งก้านความฝันตัวเองเพื่อเอาตัวรอดและเลี้ยงดูครอบครัว
“เราอาจมีเงินเดือนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย แต่เราก็มีหนี้สินที่เราต้องใช้ มีที่บ้านที่ต้องดูแล และมีความฝันที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งการเงินที่เรามีอยู่ไม่ได้ซัพพอร์ตตรงนั้นเลย เอาจริงๆ ถ้ากลับมามองที่ตัวเอง เรารู้สึกว่าเราก็จนแหละ”
ความจนที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องจำนวนต่อชีวิตที่ไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินทาง การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้าน หรือการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านที่ตัวเองสนใจ อาจเรียกได้ว่าเป็น “ความจนซ่อนใน” ของเหล่าคนชนชั้นกลาง ดังที่วรรจธนภูมินิยามไว้ในคลิปวิดีโอว่า “จนซ่อนใน คือไม่ได้จนแบบชัดเจน แต่ว่าจนอยู่ข้างใน แล้วเราก็ไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเรากำลังแย่ หลายคนฆ่าตัวตายก็มี”
แม้เส้นทางชีวิตและความใฝ่ฝันของทั้ง 4 คนในคลิปนี้จะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือโครงสร้างของเมืองที่กดทับจนไม่อาจลืมตาอ้าปาก โดยตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ที่ 336 บาทต่อวัน (อัตราสูงสุด) หรือคิดเฉลี่ยเป็นชั่วโมงละ 42 บาท โดยที่ค่ารถไฟฟ้าเที่ยวละ 16-70 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์อยู่ที่ชั่วโมงละ 250 บาท โดยที่ค่ารถไฟฟ้าเที่ยวละ 17-60 บาท
“คนไม่ได้อยากจะทน แต่ว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ เขาแค่รู้สึกต้องเอาตัวเองให้รอด ต้องรวยขึ้นเพื่อเอาตัวเองออกจากจุดนี้” นัทธมนให้ความเห็น
.
เพื่อไทยในฐานะพรรคที่ต่อสู้กับความยากจนด้วยการขุดรากถอนโคนปัญหาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาโดยตลอด ดังที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากการก่ออิฐชั้นแรกของรัฐสวัสดิการด้วย “30 บาทรักษาทุกโรค” พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าต่อสู้กับความยากจนที่กัดกินประชาชนภายใต้การบริหารจัดการประเทศที่ล้มเหลวของเผด็จการนานกว่า 8 ปี โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่คนทั่วประเทศมองว่าเป็นเมืองแห่งความหวัง เมืองแห่งโอกาสในการลืมตาอ้าปาก
ผู้สมัคร ส.ก. เพื่อไทยมีความเชี่ยวชาญและความพร้อมที่จะผลักดันนโยบายที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ดังนั้นวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เลือกเพื่อไทยเป็น ส.ก. ให้ได้เกินครึ่งสภากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าไปผลักดันนโยบายดีๆ ตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ และทีมงาน รวมทั้งอนุมัติและตรวจสอบการใช้ภาษีกว่าแสนล้านบาทของผู้ว่าฯ และทุกหน่วยงานในสังกัด กทม.
เลือกเพื่อไทย เลือกอนาคตที่มั่งคั่งให้คนกรุงเทพฯ