ปลดล็อกท้องถิ่น : ‘ธนาธร-พริษฐ์’ ปลุกใจร่วมคนละชื่อ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีชาตินี้

“ธนาธร” ชี้ปลดล็อกท้องถิ่นแก้จน ลดเหลื่อมล้ำ พลิกวิกฤตประเทศ “พริษฐ์” ติงรัฐบาล “ประยุทธ์” สอนประชาชนให้แก้ปัญหาตัวเอง แต่กลับผลักดันกระจายอำนาจน้อยมาก

 

วันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ณ บริเวณลานหน้าประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปราศรัยเวที “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ปลุกท้องถิ่นทวงคืนอำนาจและงบประมาณที่ถูกดึงไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลางมากว่า 130 ปี แก้วิกฤตใหญ่ของชาติทั้งความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ และการเมืองได้
.
ธนาธรระบุว่าโครงการที่คณะก้าวหน้าและผู้นำท้องถิ่นหลายส่วนร่วมรณรงค์อยู่นี้ มีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา หรือในวันครบรอบ 130 ปีของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435
.
เพียงสิบปีหลังการปฏิรูปในครั้งนั้น เกิดกบฏขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่ากบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญอีสาน กบฏ 7 หัวเมืองแขก ซึ่งล้วนมีเหตุผลมาจากสามเรื่องหลัก คือ 1) การแย่งชิงทรัพยากร 2) อำนาจในการจัดการตนเอง และ 3) ภาษี ที่ถูกดึงไปอยู่ที่รัฐส่วนกลาง
.
“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การก่อกบฏต่อต้านการรวมศูนย์เกิดขี้นกลางทศวรรษที่ 2440 ในเกือบทุกที่ เมื่อคนท้องถิ่นทั่วประเทศลุกฮือ นี่คือประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในแบบเรียนกระแสหลัก โจทย์เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด คืออำนาจ ทรัพยากร และภาษีเป็นของใคร นี่ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ การเคลื่อนไหวต่อมาทั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์ มาจนถึงการเคลื่อนไหวโดยองค์กรภาคประชาชนอย่างสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สมัชชาคนจน มาเป็นพีมูฟในปัจจุบัน ล้วนเป็นกระแสธารการต่อสู้เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน”

ธนาธรยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ที่สร้างไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง แต่คนพื้นที่ไม่ได้ดอกผลจากการพัฒนา ได้รับแต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าและผลกระทบต่างๆ เขื่อนปากมูลที่ส่งไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง เหมืองตะกั่วคลิตี้ ที่คนออกประทานบัตรตคือรัฐส่วนกลาง คนพื้นที่ไม่ได้เห็นชอบด้วย แม้จะปิดไปแล้วแต่มลพิษยังคงตกค้างอยู่กำจัดไม่หมดจนถึงทุกวันนี้ นี่คือความจริงที่น่าเศร้าของประเทศไทย
.
นี่คือเรื่องของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ทุกวันนี้หลายพื้นที่ยังมีน้ำประปาที่มีสีขุ่น ถนนหนทางเป็นลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นี่คือประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เราไม่มีความรู้และเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะประชาชนไม่มีทั้งอำนาจและงบประมาณในมือของตัวเอง ทุกวันนี้ส่วนกลางโยนภารกิจมาให้ท้องถิ่นจัดการ แต่ไม่ให้งบประมาณมาด้วย กฎหมายหลายฉบับซ้อนกันเอง ต้องวิ่งหาหน่วยงานส่วนกลาง ท้องถิ่นไม่มีอำนาจจัดการเองได้
.
“เขาบอกว่าคนต่างจังหวัดโง่จึงจน เขาบอกว่าที่จนเป็นเพราะชาติที่แล้วทำบุญมาไม่พอ ผมปฏิเสธที่จะเชื่ออยางนั้น สิ่งที่ผมเชื่อคือความจน ความเหลื่อมล้ำ ล้วนเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และนี่คือหลักใหญ่ใจความของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราเสนอ เพื่อให้เกิดการจัดสรรอำนาจและงบประมาณเสียใหม่” ธนาธรกล่าว
.
ธนาธรยังกล่าวต่อ ว่าการจัดสรรรายได้ของแผ่นดินวันนี้ แบ่งเป็น 70% ให้ส่วนกลาง อีก 30% ให้ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งไปหารกันเอง ถ้าคิดตามปีงบประมาณ 2565 คือ 2.49 ล้านล้านบาท จะมีเงินรายได้มาถึงท้องถิ่นเพียง 7 แสนล้านบาท เฉลี่ยไปในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งเท่านั้น
.
แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การจัดสรรภาษีจะถูกเปลี่ยนเป็น 50-50 ท้องถิ่นจะได้งบประมาณรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เมื่อหาร 7 พันกว่าแห่ง เท่ากับว่าท้องถิ่นทุกที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกที่ละเฉลี่ย 63 ล้านบาทต่อปี

นี่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นตางๆ สามารถซ่อมถนน สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดีให้ลูกหลานของเรา ลงทุนในน้ำประปา จัดสวนสาธารณะที่ดีได้ จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและคนทุกคนกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้
.
ถ้ามีงบลงมาอีกที่ละ 60 ล้าน จะมีการพัฒนา มีการจัดซื้อจัดจ้าง จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ภาษีที่ไปหล่อเลี้ยงรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะจะถูกดึงกลับมาสู่ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ห่างไกลกันอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องผ่านตัวกลางมากมายกว่างบประมาณจะลงมาถึงประชาชน ตัวกลางเดียวที่มีอยู่คือบัตรเลือกตั้ง
.
ถ้าสะเดาะกุญแจนี้ออกได้ ยังจะทำให้ประชาธิปไตยในระดับชาติเข้มแข็ง จากการเมืองที่เข้มแข็งในระดับท้องถิ่น คนเข้าใจความหมายของบัตรเลือกตั้งมากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมายมากขึ้น ประชาชนได้ลิ้มรสประชาธิปไตยมากขึ้น
.
“ไม่ต้องทำบุญให้เยอะเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชาติหน้า ลงชื่อตอนนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้นในชาตินี้ เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าคณะก้าวหน้าจะทำคนเดียวได้ พลังของเราลำพังไม่พอ เราต้องการพลังจากทุกคน” ธนาธรกล่าว

“ประยุทธ์” สอนปชช.พึ่งตัวเองแต่กลับไม่ผลักดันกระจายอำนาจ

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ 1 ใน 22 คนผู้เชิญชวนริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่น และผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวบนเวทีแคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” หัวข้อ “เส้นทางคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” ความตอนหนึ่งว่าวันนี้ตนคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาของเชียงใหม่คืออะไร คือคนเชียงใหม่เองและนี่คือความจำเป็นที่เราต้องกระจายอำนาจให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการและกำหนดอนาคตของตนเองได้ เพราะปัญหาในปัจจุบันไม่ว่าที่เชียงใหม่หรือจังหวัดอื่น ไม่ได้เป็นเพราะคนในจังหวัดนั้นไม่รู้ปัญหาหรือไม่มีทางออก แต่เพราะไม่มีการกระจายอำนาจ
.
พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่การรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 มาถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจในปัจจุบันน เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เรามีรัฐบาลที่มักสอนประชาชนอยู่เสมอให้แก้ปัญหาของตัวเองมีหลายพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ประกาศสนับสนุนการกระจายอำนาจแต่เรากลับเห็นความพยายามของรัฐบาลน้อยมากในการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดการปัญหาของตนเองได้
.
พริษฐ์กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจคือการพยายามโอนถ่ายอำนาจจากราชการส่วนกลางหรือภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจจะสร้างประโยชน์ให้เรา 2 เด้ง เด้งที่หนึ่งคือทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของตัวเองมากขึ้น โดยการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพ ต้องกระจายอย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1.กระจายงาน หมายถึง ควรให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ เพราะท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชน สามารถทำงานตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ ต่อเมื่อท้องถิ่นทำเรื่องใดไม่ได้ จึงค่อยไล่ระดับขึ้นไปหาส่วนกลาง 2.กระจายเงินคือทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพในการหารายได้และตัดสินใจใช้งบประมาณด้วยตัวเองได้มากที่สุดโดยส่วนกลางต้องเข้ามามีบทบาทในการทำให้ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นทมีความพร้อมแตกต่างกัน 3.กระจายคน ซึ่งไม่ใช่เพียงการเพิ่มจำนวนคนที่เข้ามาทำงานการเมืองหรือราชการในท้องถิ่นแต่รวมถึงการให้ผู้บริหารสูงสุดในพื้นที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนประโยชน์เด้งที่สอง คือทำให้ส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาของประเทศในภาพรวมการกระจายอำนาจจึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

พริษฐ์ ระบุว่า เราไม่ได้มองการกระจายอำนาจเป็นประเด็นเฉพาะหรือนโยบายเดียว แต่การกระจายอำนาจเป็นหัวใจหรือต้นตอสำคัญของการแก้ไขหลายปัญหา เช่น ถ้าเราอยากให้เศรษฐกิจเติบโต เป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่กระจายอำนาจเพื่อให้เกิดการสร้างงานในแต่ละพื้นที่ ถ้าอยากแก้ความเหลื่อมล้ำระหว่างแต่ละจังหวัด เราไม่สามารถกระจายความเจริญไปทั่วประเทศได้หากไม่กระจายอำนาจ ถ้าเราอยากทำให้บริการสาธารณะมีคุณภาพมากขึ้น ก็ต้องให้ท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เป็นคนรับผิดชอบ ถ้าเราอยากสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและไว้ใจประชาชนเราต้องเริ่มต้นจากการไว้ใจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ก่อน ดังนั้น หากลองจินตนาการภาพสุดท้าย สร้างบ้านหลังใหม่ที่ชื่อประเทศไทยแต่ละห้องในบ้านหลังนั้นคือมิติของคุณภาพชีวิตแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดี การกระจายอำนาจไม่ใช่แค่ห้องห้องเดียวในบ้านหลังนั้น แต่เป็นกุญแจที่ทำให้เราเข้าไปสู่บ้านหลังนั้น
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สามารถร่วมลงชื่อปลดล็อกท้องถิ่นได้เลยที่จุดลงชื่อทั่วประเทศไทย หรือ ลงชื่อทางออนไลน์ได้ที่: https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization/