มช.ตั้ง ‘พงษ์รักษ์’ นั่งอธิการบดีคนใหม่ ทั้งที่ผลหยั่งเสียงต่ำสุด แถมปิดกั้นแสดงความเห็น

สภา มช. เสนอ ‘พงษ์รักษ์’ อธิการบดีคนใหม่ ชาวเน็ตแห่ถาม เพจมหา’ลัย ปิดแสดงความเห็นทำไม? ทั้งที่ สโมสรนักศึกษาจัดทำผลหยั่งเสียง ได้คะแนนต่ำสุด

 

การสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผ่านมาได้รับการพูดถึงอย่างมากจากสังคม ถึงการมีส่วนร่วมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในกระบวนการสรรหา ก่อนที่สุดท้าย แคนดิเดตว่าที่ผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี โดยไม่เปิดให้สาธารณะรับทราบวิสัยทัศน์ จนกระทั่งมีการประกาศรายชื่อ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประกาศรายชื่อที่สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีมติเห็นชอบในการเสนอ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนที่ 16 ต่อไป โดยจะส่งชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจทางการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้โพสต์ข้อความประกาศรายชื่ออธิการบดี มช.คนใหม่เช่นเดียวกัน โดยได้ปิดไม่ให้แสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม พบว่ามีกดแชร์ไปกว่า 827 ครั้งแล้ว หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่เป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง

โดยหลายความเห็นระบุว่า ปิดคอมเมนต์แล้ว1, ปิดเม้นทะมายยย 555555555555555555 มีแต่คนร่วมยินดีนา, พูดได้ไหมพี่จี้~~~ ถ้าเป็นหวยนะถูกเน้น ๆ เป็นเศรษฐีไปแล้วววว, ส่งเสริมการแสดงความคิดเห็น(ไม่) ปิดการคอมเม้น (ถูก), ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสวนดอกไปเลยมั้ยล่ะ, มีแค่ฝั่งสวนดอกที่เป็นอธิการได้เหรองง สวนสักกับแม่เหียะล่ะ?, ถ้าไม่ฟังจะถามทำไม5555555555555

ท่าทีดังกล่าว ทำให้เฟซบุ๊กเพจ VarnaSilpa CMU ซึ่งดำเนินการโดยชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงในประเด็นดังกล่าว ระบุว่า

“ชมรมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอแสดงความยินดีแก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากการแต่งตั้ง
.
เราขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณอธิการบดีคนใหม่เพื่อเป็นเกียรติอย่างน้อยแก่มหาวิทยาลัยของเรามาก กับการที่ท่านได้รับการ ‘แต่งตั้ง’ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยไม่ได้รับความนิยมจากประชาคม ไม่ผ่านการรับรองโดยสาธารณะ และไม่ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์เพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อสาธารณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบที่ขาดการมีส่วนร่วมไร้สิทธิไร้เสียงของชาวประชาคมที่จะกำหนดทิศทางชุมชนด้วยตนเอง
.
ขอให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยของเราให้ดียิ่งขึ้นไป ทั้งในทางคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของนักศึกษาตลอดจนสังคมให้สมกับการเป็นอธิการบดีที่ได้รับมอบอำนาจมาจากการแต่งตั้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ภายใต้การบริหารของท่านจะเจริญงอกงามซึ่งเสรีภาพทางวิชาการและเป็นพื้นที่ที่พร้อมสนับสนุนการเปิดกว้างทางความคิดสมกับเป็นสถาบันอุดมศึกษา สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและรับใช้สังคม นอกจากนี้ยังเป็นการกู้เกียรติผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากการแต่งตั้งและเป็นการพยายามพิสูจน์ตนเองให้เป็นที่ยอมรับต่อชาวประชาคมต่อไป”

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อาสาเป็นองค์กรกลาง จัดการหยั่งเสียงขึ้นมา เพื่อแสดงเจตนารณ์ของประชาคมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเป็นการหยั่งเสียงผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา แม้การหยั่งเสียงไม่มีผลผูกพันอย่างเป็นทางการ แต่สะท้อนถึง การฝังเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยที่เริ่มจะงอกเงยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจริญงอกงามในอนาคตอย่างสง่าผ่าเผย สโมสรนักศึกษาจะนำผลการหยั่งเสียงที่ได้ รายงานสู่สาธารณะและยื่นแก่กรรมการสรรหาอธิการบดีเพื่อประกอบการพิจารณาคัดสรรอธิการบดีต่อไป ซึ่งผลการหยั่งเสียงหลังหมดเวลา ผู้ลงทะเบียนเพื่อคะแนน 1,375 คน

คิดเป็นกลุ่มบุคลากรสายวิชาการ 80 คน บุคลากรสายสนับสนุน 58 คน นักศึกษา 1,237 คน

เลือก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล 368 คน (26.76%)

เลือก ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล 38 คน (2.76 %)

เลือก ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี 516 คน (37.53%)

เลือก รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 441 คน (32.07%)