ตะลึง! อังกฤษพบผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง ติดเชื้อนาน 505 วัน

ตะลึง! อังกฤษพบผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง ติดเชื้อนาน 505 วัน

 

นักวิจัยในอังกฤษเผยว่า พบผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างรุนแรงติดเชื้อโควิด-19 ยาวนานเกือบหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการปกป้องกลุ่มที่ถือเป็นผู้เปราะบางจากไวรัสดังกล่าว

ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ติดเชื้อเรื้อรังที่ยาวนานที่สุด ตรวจพบผลเป็นบวกเมื่อต้นปี 2563 และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 2564 โดยนักวิจัยปฏิเสธที่จะระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิต เพียงแต่บอกว่าผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยด้วยโรคอื่นๆ อีกหลายโรค

อย่างไรก็ดีไม่ทราบแน่ชัดว่าการติดเชื้อโควิด-19 ดังกล่าวจะถือเป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่ยาวนานที่สุดหรือไม่ เพราะไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการตรวจอยู่เป็นประจำเช่นกรณีที่เกิดขึ้นนี้

ดร.ลุค แบล็กดอน สเนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมูลนิธิ NHS Foundation Trust Guy’s & St.Thomas กล่าวว่า การติดเชื้อเรื้อรังถึง 505 วัน น่าจะเป็นการติดเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่องยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีการรายงานมา

ทีมของดร.สเนลล์เตรียมที่จะนำเสนอรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อ โควิด-19 เรื้อรังในหลายกรณีที่เกิดขึ้น ในการประชุมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อที่จะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่โปรตุเกส

การศึกษาของพวกเขาได้ทำการตรวจสอบการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบว่าไวรัสกลายพันธุ์ได้พัฒนาไปอย่างไร ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลายาวนานมากๆ

ทั้งนี้มีผู้ป่วย 9 คนที่มีผลตรวจไวรัสเป็นบวกเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ซึ่งทุกคนมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไม่ว่าจะจากการปลูกถ่ายอวัยวะ เอชไอวี มะเร็ง หรือการรักษาโรคอื่นๆ แต่ไม่มีการเปิดเผยตัวผู้ป่วยเนื่องจากเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว

จากการทดสอบซ้ำหลายครั้งพบว่าการติดเชื้อจะคงอยู่โดยเฉลี่ย 73 วัน โดยในจำนวนนี้สองคนมีเชื้อโควิด-19 นานกว่าหนึ่งปี ขณะที่นักวิจัยระบุว่าก่อนหน้านี้มีกรณีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อด้วยการทดสอบพีซีอาร์ยาวนานที่สุด 335 วัน

ดร.สเนลล์กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 แบบเรื้อรังนั้นหายากและแตกต่างจากลองโควิด เพราะลองโควิดเชื้อไวรัสจะหมดไปจากร่างกายแล้วแต่อาการยังคงอยู่ ขณะที่การติดเชื้อแบบเรื้อรังจะเกิดการติดเชื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ทุกครั้งที่นักวิจัยได้ทำการทดสอบกับผู้ป่วยพวกเขาจะวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัส เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นสายพันธุ์เดียวกันและผู้คนจะไม่ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่การจัดลำดับทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าไวรัสเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตามการปรับตัวของมัน

ดร.สเนลล์กล่าวว่า การกลายที่พบในตัวผู้ป่วยโควิดเรื้อรังคล้ายขึ้นกับการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ดีไม่มีผู้ป่วยรายใดที่เกิดการกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสที่กลายเป็นตัวแปรที่น่าเป็นห่วง นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาได้แพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นด้วย

ในจำนวนนี้ผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง 5 คนรอดชีวิต สองคนหายจากอาการป่วยโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา สองคนหายหลังเข้ารับการรักษา และอีกหนึ่งคนยังคงติดโควิด-19 ในการติดตามผลครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปีนี้ การติดเชื้อของผู้ป่วยรายดังกล่าวกินเวลานานถึง 412 วัน

นักวิจัยหวังว่าจะมีการพัฒนาวิธีการรักษาเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ติดโควิดเรื้อรังสามารถเอาชนะไวรัสได้ โดยดร.สเนลล์ย้ำว่าเราจำเป็นต้องระลึกไว้เสมอว่ามีบางคนที่อ่อนไหวต่อปัญหาเหล่านี้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ