ทบ.แจง เรือเหาะ340ล้านปิดฉาก เหตุเป็นผ้าใบ เจออากาศร้อน หมดอายุ ต้องปลดระวาง

วันนี้ (15 ก.ย.)พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงกรณี ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า เรือเหาะหมดอายุการใช้งานแล้ว และจะไม่ซื้ออีก ส่วนอุปกรณ์ต่างๆก็นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงนำไปประมูล โดยสังคมมีการวิจารณ์อย่างหนัก เรื่องการใช้งานที่ไม่คุ้มค่า และไร้คนรับผิดชอบ

โดยระบุว่า กรณี ทบ.จะจำหน่ายหยุดใช้งานเรือเหาะ ซึ่งที่ผ่านมาตัวเรือเหาะเป็นเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ และอากาศยาน ถือเป็นยุทโธปกรณ์เครื่องมือพิเศษ นำมาเสริมประสิทธิภาพให้กับ จนท. ในระบบเฝ้าตรวจของพื้นที่ จชต. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในช่วงนั้นคือเพื่อลดการสูญเสียกำลังพล เพิ่มขีดความสามารถในเรื่องการมองเห็น มีคุณสมบัติในทางยุทธวิธี แต่งต่างจาก เครื่องบิน หรือยูเอวี คือมีความเงียบในการเคลื่อนที่ สามารถบินช้าและลอยตัวได้นาน ลักษณะการจัดหามาใช้งานมีลักษณะเป็นระบบ มีองค์ประกอบหลักของระบบโครงการนี้มีอยู่ 2 รายการ ซึ่งใช้วงเงินรวมราว 340 ล้านบาท

รายการแรกคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ ใช้วงเงิน 209 ล้านบาท มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน คือ ส่วนตัวเรือเหาะ ใช้วงเงินจัดหา 66.8 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนมูลค่า19%) ส่วนที่สอง คือระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 2 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ วงเงิน 87 ล้านบาท ส่วนที่สามคือระบบสถานีรับสัญญาณ แบบสถานีประจำที่ และสถานีเคลื่อนที่ด้วยรถหุ้มเกราะ วงเงิน 40 ล้านบาท ส่วนที่สี่คือ โรงเก็บเรือเหาะและอุปกรณ์บริภัณฑ์ภาคพื้น วงเงิน 9 ล้านบาท

สำหรับรายการที่สองคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยอากาศยาน (ฮ) ใช้วงเงิน 131 ล้านบาท มีระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 3 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 3 ชุด เพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยานที่มีอยู่แล้วในอัตราปกติของ ทบ.

โดยที่ผ่านมาภาพรวมของระบบมีเพียงตัวเรือเหาะที่มีปัญหาขลุกขลักบ้างในระยะแรกๆ รวมถึงเคยมีการชำรุดหนักเนื่องจากการลงจอดฉุกเฉินรุนแรงด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อ ช่วงปลายปี 54 แต่ ทบ.ได้ดำเนินการจนกระทั่งเรือเหาะสามารถกลับใช้งานได้ แต่ด้วยตัวเรือเหาะ มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แต่งต่างจากเครื่องบิน หรือ ยูเอวี ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่นมีความเงียบ หรือ สามารถลอยตัวได้นาน แต่ด้วยที่มีวัสดุทำตัวเรือเหาะมีลักษณะเป็นผ้าใบ จึงอาจมีข้อจำกัดบ้างในเรื่องของอายุการใช้งาน โดยเฉพาะเจอสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งในอนาคตกรณีมีการหยุดงดใช้เรือเหาะในภารกิจของระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายแล้ว ตัวระบบหลักที่เหลือมีสัดส่วนอีก 80% ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ โดยอาจเน้นไปใช้ระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายโดยทางอากาศยานเป็นหลัก