อุทธรณ์ลดโทษ จำคุกเหลือ 7 ปี “ศุภชัย” อดีตปธ.สหกรณ์คลองจั่น ยักยอกทรัพย์ เหตุชดใช้ค่าเสียหาย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 กันยายน ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ60 ปี อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ผู้อื่น และจัดการทรัพย์สินผู้อื่นโดยทุจริตในฐานะเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ 354 คดีนี้อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 และที่ประชุมมีมติเลือกนายศุภชัย จำเลย เป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 29 อยู่ในตำแหน่ง 2 ปี ต่อมานายทะเบียนสหกรณ์ได้ตรวจสอบพบว่าการเรียกประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และกฎหมาย นายทะเบียน จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รับรองตำแหน่งประธานกรรมการจากการประชุมดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ยูเนี่ยนฯ ได้ประชุมใหญ่วิสามัญและมีมติให้การรับรองนายศุภชัย จำเลย เป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์อีกครั้ง และยังเปิดประชุมคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 2 สมัยสามัญ ครั้งที่ 1/2556 และมีมติแต่งตั้งนายศุภชัย จำเลย ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์ฯ อีกตำแหน่งด้วย

กระทั่งวันที่ 10 เมษายน- 8 ตุลาคม 2556 จำเลย ซึ่งเป็นประธานกรรมการสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ได้กระทำการทุจริต โดยให้เจ้าหน้าที่บัญชีเบิกเงินสดของสหกรณ์ ผู้เสียหาย หลายครั้งหลายหนรวม 8 ครั้งๆ ละระหว่าง 184,000-6,000,000 บาท รวม 22,132,000 บาทเข้าบัญชีของจำเลย หรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต เหตุเกิดที่ทำการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ทั้งนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด

โดยคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 จำเลยได้ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา352 วรรคแรก, 353, 354 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 8 กระทง จำคุกกระทงละ ระหว่าง 3-5 ปี รวมจำคุก32 ปี คำให้การจำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 16 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วนับเป็นเรื่องร้ายแรง โทษจำคุกจึงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

วันนี้ศาลเบิกตัวนาย ศุภชัย จำเลย จากเรือนจำบางขวาง มาฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าได้ชดใช้ค่าเสียหายก่อนถูกฟ้องและผู้เสียหายได้รับเงินคืนแล้ว ถือเป็นเรื่องทางแพ่งที่มีการชดใช้ครบถ้วนแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาจากการที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อปี 2557 ขอให้ปราณีจากการที่ศาลชั้นต้นลงโทษสูงไปนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีการชดใช้ค่าเสียหายถือว่ามีการบรรเทาความเสียหายจากการกระทำ ที่ศาลชั้นต้นไม่หยิบยกมาพิจารณานั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

ส่วนอุทธรณ์ให้รอการลงโทษหรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยเป็นประธานสหกรณ์ฯ เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่จำเลยยักยอกทรัพย์มีผลกระทบต่อกิจการของสหกรณ์ ทำให้ขาดความไว้วางใจ การยักยอกทรัพย์ดังกล่าวยังทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง จนต้องฟื้นฟูกิจการ แม้มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ก็ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ และที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงไม่มีการยกมาว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบ 354 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 8 กระทง กระทงละ 1-2 ปี รวมจำคุก 14 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 7 ปี

ภายหลัง นายวันชัย บุนนาค ทนายความของนายศุภชัย เปิดเผยว่า ในคดีนี้ตอนแรกศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา 352 วรรคแรก, 353, 354 แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของนายศุภชัยเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้มีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นมาตราเดียว แต่ศาลก็ยังเห็นว่าที่จำเลยมีการชดใช้เงินที่ยักยอกจำนวน 27 ล้านบาท คืนแก่ผู้เสียหาย เป็นการบรรเทาความร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้ลดโทษเหลือ 14 ปี ประกอบกับจำเลยรับสารภาพ ลดโทษจำคุกเหลือ 7 ปี ซึ่ง โดยในส่วนนี้ที่ตนได้เคยโต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย จนเป็นเหตุในการถอนฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์เคยไม่รับพิจารณาในประเด็นนี้ เนื่องจากเห็นว่าการถอนฟ้องคดีเป็นอำนาจของนายทะเบียน เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ จึงจะนำข้อโต้แย้งดังกล่าวขึ้นสู่ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลได้ยกคำร้องของศาลอุทธรณ์ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและการร้องทุกข์นายศุภชัย โดยศาลได้ยกคำขอถอนฟ้อง เนื่องจากตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วนของสหกรณ์ หรือให้งดเว้นการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิก ดังนั้นการดำเนินการใดต้องเป็นไปโดยนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถทำการที่จะเป็นการระงับสิทธิ์ของสหกรณ์แทนได้ ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีความเสียหายมูลค่ามาก