เผยแพร่ |
---|
“เพื่อไทย” จี้ “ประยุทธ์” ต้องเลิกปล่อยเบลอกรณีการควบรวม True- DTAC ป้องกันการผูกขาด ชี้ ผลกระทบจากการควบรวม True-DTAC จะขยายวงกว้างไปมากกว่าธุรกิจโทรคมนาคม แนะ ต้องป้องกันการผูกขาดในทุกธุรกิจ
วันที่ 27 มีนาคม 2565 นาย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดเลย และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระงับการควบรวมกิจการของ True- DTAC เพื่อป้องกันการผูกขาด ซึ่งปัจจุบันมีการออกข่าวเหมือนว่าการควบรวมได้เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งที่ล่าสุด ซุปเปอร์บอร์ด กสทช. ได้ร้อง ต่อ ประธานคณะกรรมการ กสทช. ชุดที่รักษาการอยู่ โดยระบุว่า การควบรวมทรู-ดีแทค ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ และมีผลเสียหลายด้านตามที่ตนบอกไว้แล้ว
นอกจากนี้ ผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True-DTAC จะขยายวงกว้างไปในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มโอกาสในการผูกขาดตลาดในภาคธุรกิจอื่นๆ นอกจากโทรคมนาคม ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการค้าปลีกซึ่งก็เคยเกิดข้อถกเถียงจากการควบรวมกิจการระหว่าง ซีพี กับ โลตัส ที่หลังจากการควบรวมได้ครองตลาดการค้าปลีก-ค้าส่งถึง 75.8 % ของตลาด อีกทั้งในประเด็นเรื่องการที่ยังไม่มีการเข้าทำหน้าที่ของ คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ แทนชุดปัจจุบันซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่งปี 2557 เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยเฉพาะเมื่อตัวผู้นำเองไม่เข้าใจและไม่รับฟังคำแนะนำจากผู้อื่นเลย
ในการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC มีการยกกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมในหลายประเทศตั้งแต่อดีตมาเพื่อเปรียบเทียบและพิจารณาถึงผลกระทบ แต่ข้อมูลดังกล่าว แตกต่างจากการควบรวม True-DTAC อย่างมาก โดยจากข้อมูลประกอบกรณีต่างประเทศนั้น ไม่มีประเทศใดที่เคยอนุญาต ให้มีการควบรวมกิจการที่จะทำให้เกิดการครองตลาดมากกว่า 30% แต่ในกรณีของการควบรวม True-DTAC นั้น
จะทำให้เกิดการครองตลาดมากกว่า 52 % และจะทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยเกิดการครองตลาดจากคู่แข่งเพียง 2 รายสูงกว่า 90% ของตลาด แต่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า จะสามารถควบคุมหรือป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการได้มากน้อยเพียงใด จะคุ้มครองประชาชนที่เป็นผู้บริโภคอย่างไร และประชาชนต้องเสี่ยงจากผลกระทบจากการที่ข้อมูลการใช้งานอาจจะถูกนำไปหาประโยชน์โดยไม่รู้ตัว
ในประเด็นที่อาจจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดในภาคธุรกิจอื่นๆ หน่วยงานของรัฐมิได้คำนึงถึงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากควบรวมกิจการระหว่าง True-DTAC นั้น เนื่องจากในปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมและกิจการผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเปรียบเสมือนระบบโครงสร้างพื้นฐานของโลกดิจิทัล โดยเฉพาะในประเทศไทย การเข้าถึงโอกาส การพัฒนา กลุ่มลูกค้าของธุรกิจต่างๆในปัจจุบันและการบริการของภาครัฐเอง ต่างต้องอาศัยการเข้าถึงผ่านช่องทางโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ต หากปล่อยให้เกิดการครองตลาดในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งส่วนแบ่งตลาดของ 2 ผู้เล่นรายใหญ่เกินกว่า 90% จะทำให้ในอนาคต ธุรกิจต่างๆที่มีการใช้ข้อมูลโทรคมนาคมเป็นส่วนประกอบได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น หากนำข้อมูลเลขหมายหลังจากการรวมกิจการไปใช้ร่วมกิจการอื่นๆ เช่น การค้าปลีกหรือการให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่มีการการครองตลาดในภาคธุรกิจอื่นๆต่อไปอีกในอนาคต โดยที่ภาครัฐและผู้นำประเทศไม่รักษาผลประโยชน์ให้ประชาชนได้
ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด อย่าปล่อยให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และจะต้องป้องกัน และ กำจัดการผูกขาดทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะ True – DTAC นี้ เพื่อไม่ใช่มีการเอาเปรียบประชาชนที่เป็นผู้บริโภค อีกทั้งจะต้องเปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยสามารถพัฒนาเติบโตขึ้นไปได้ในอนาคต ไม่ให้ถูกกีดกันโดยธุรกิจผูกขาดทีปัจจุบันมีอยู่ในหลายธุรกิจ