‘ช่อง 5’ พบทูตรัสเซีย หารือจ่อร่วมมือรายงานข่าว แต่ศาลรัสเซียสั่งแบน ‘เฟซบุ๊ก-ไอจี’ ซัดหัวรุนแรง

2 เหตุการณ์ในวันเดียวกัน! ทีมผู้บริหาร ททบ.5 พบทูตรัสเซียประจำประเทศไทย หารือแลกเปลี่ยนข่าวสาร เพื่อรายงานอย่างเท่าเทียม แต่ศาลรัสเซียสั่งแบน “เฟซบุ๊ก-ไอจี” เป็นกลุ่มหัวรุนแรง เหตุปรับกฎให้ด่าประณามกองทัพ-รัฐบาลรัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.5 โดย นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้ประกาศข่าวได้รายงาน ผ่านรายการ ช่อง 5 ข่าวเป็นข่าว ว่า จะร่วมมือกับรัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาชน 2 ประเทศ โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ให้การต้อนรับ พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 ที่นำคณะผู้บริหาร เข้าพบปะและสนทนา หารือในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกันกับสำนักข่าวของรัสเซีย และ ททบ.5 ตามข้อเท็จจริงในทุกด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริโภคข่าวสารของประชาชนโดยตรง รอบด้านอย่างถูกต้อง แม่นยำ ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการสร้างข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ที่แพร่หลาย โดยมีการนำมาเป็นสงครามข่าวปลอม จนนำไปสู่ความสับสนของประชาชน และยังมีผลกระทบต่อประชากรในโลกในวงกว้าง หากไม่มีการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องอย่างจริงแท้

โดยการพบกันระหว่างผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กับทูตรัสเซีย ยังมี นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน มาร่วมในการหารือด้วย

ทีมผู้บริหาร ททบ.5 พร้อมให้ร่วมมือและความเท่าเทียมกับรัสเซีย ในการเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง นอกเหนือจากที่ ททบ.5 รับข่าวสารสถานการณ์ต่างประเทศจากสำนักข่าวต่างประเทศ อย่างรอยเตอร์ สำนักข่าวตะวันตกเพียงฝ่ายเดียว โดยเราจะให้ความเท่าเทียมกับรัสเซียด้วย เพื่อให้ประชาชนคนไทยทราบข่าวที่ถูกต้องครบทุกด้าน ทั้งมิติด้านประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งจะร่วมมือกันส่งเสริมแลกเปลี่ยน นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวและการเกษตร ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างถูกต้อง

ขณะที่เอกอัครราชทูตรัสเซียยืนยันว่า ทางรัสเซียเคารพจุดยืนรัฐบาลไทย และพร้อมสนับสนุนข้อมูลข่าวสารเพื่อเสนอความเป็นจริง และต่อต้านข่าวปลอม โดยเน้นการมีหลักฐานอ้างอิง แหล่งข่าวที่ถูกต้อง ซึ่งทางสถานทูตรัสเซียพร้อมยืนยันข้อมูลก่อนเผยแพร่ไปสู่สาธารณะ และมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนงานแลกเปลี่ยนข่าวสาร และงานอื่นๆ กับ ททบ.5 โดยจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักข่าวของรัสเซียกับ ททบ.5 ในเร็ววันนี้

ภาพจาก สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

นายสันติสุขระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ททบ.5 ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การท่องเที่ยว และสินค้าเกษตร กับสำนักข่าวจีน หรือ CMG และสำนักข่าวอิหร่านมาแล้ว ทั้งนี้ นับเป็นการสานต่อนโยบายในการสมดุลด้านข่าว ให้มีความหลากหลายแหล่งข่าวที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมที่จะมีข้อมูลครบทุกมิติทุกแหล่งข่าว เพื่อให้สามารถพิจารณาตัดสินใจตามข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ติดตามได้ที่นี่ ททบ.5

“วันก่อนที่สถานทูตรัสเซียเปิดแถลงข่าว ท่านเอกอัครราชทูตรัสเซียแจกแจงเลย เล่าถึงเกร็ดเบื้องลึกเบื้องหลัง แล้วท่านยังขอบคุณรัฐบาลไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยจะลงมติในที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้กองกำลังทหารบนแผ่นดินยูเครน แต่ท่านก็เข้าใจประเทศไทย และรัฐบาลไทยที่ไม่ประณาม ไม่ตำหนิ ขอบคุณมาก อันนี้เป็นความสัมพันธ์อันดี เพราะไทยเจตนาอยากให้เจรจากัน” นายสันติสุขกล่าวทิ้งท้าย

การพบกันระหว่างสถานีข่าวของทางการไทยกับรัฐบาลรัสเซียครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย จัดการแถลงข่าวกับสื่อไทยบางค่ายที่ได้รับอนุญาต แต่สื่อต่างชาติจำนวนมากโดยเฉพาะสื่อตะวันตก ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมงาน และเนื้อหาในการแถลงของทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเมื่อถูกรายงานออกไป กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างคำกล่าวของทูตรัสเซียและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างข้อกล่าวหาใช้นกอพยพเป็นอาวุธชีวภาพ หรือการโจมตีใส่พื้นที่พลเรือนยูเครน
ทำให้ต่อมาไม่นาน อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทยได้ออกมาจัดแถลงข่าวซึ่งถือเป็นการตอบโต้เนื้อหาของทูตรัสเซียประจำประเทศไทยด้วย ซึ่งสื่อไทยและต่างชาติทุกค่ายร่วมงานกันอย่างเนื่องแน่น และเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์และความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมกับได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับชาวเมืองซิโตมีผ่านวิดีโอคอลล์

แบน “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ซัดหัวรุนแรง ตอบโต้ไฟเขียวรุมด่าประณามรัสเซีย

ศาลรัสเซียสั่งห้ามการใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตราแกรม (ไอจี) ภายในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า บริษัทเมตา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโซเชียลมีเดียทั้ง 2 เป็นพวกหัวรุนแรง ในการกระทำที่ถูกมองว่าเป็นการปราบปรามเล่นงานสื่อตะวันตก

ศาลรัสเซียระบุว่า เฟซบุ๊กและไอจี ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในรัสเซียได้ดำเนินกิจกรรมของพวกหัวรุนแรง อย่างไรก็ดี WhatsApp ซึ่งเป็นของเมตาเช่นกันจะไม่ถูกระงับการใช้งาน เพราะจัดเป็นช่องทางในการสื่อสาร ไม่ใช่แหล่งข้อมูล

ระหว่างการไต่สวนคดีในศาล หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัสเซียกล่าวหาว่า เมตาได้สร้างความเป็นจริงทางเลือกซึ่งทำให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวรัสเซียขึ้น โดยกิจกรรมของเมตาพุ่งเป้าไปที่รัสเซียและกองกำลังรัสเซีย

ด้านอัยการรัสเซียระบุว่า พวกเขาจะไม่ตั้งข้อหาพลเมืองและองค์กรของรัสเซียที่เข้าถึงแพลตฟอร์มที่ถูกสั่งแบนทั้ง 2 เนื่องจากมีชาวรัสเซียหลายแสนคนพยยามที่จะเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่ถูกแบนดังกล่าวผ่าน VPN โดยจะไม่ถือว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกสั่งห้ามทั้ง 2 นี้ถือเป็นการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพวกหัวรุนแรง

อย่างไรก็ดี ไม่ชัดเจนว่าชาวรัสเซียหรือบริษัทรัสเซียที่ซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กและไอจีจะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายรัสเซียว่ด้วยการจัดหาเงินทุนให้กับองค์กรของกลุ่มหัวรุนแรงหรือไม่ ขณะที่ทนายความของเมตายืนยันในศาลว่า บริษัทต่อต้านการปลุกกระแสหวาดกลัวหรือต่อต้านรัสเซียในทุกรูปแบบ และไม่เคยดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการส่งเสริมลัทธิหัวรุนแรง

ทั้งนี้ รัสเซียได้มีการจำกัดการเข้าถึงการใช้งานของเฟซบุ๊กและไอจีตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม หลังจากที่เมตาได้ผ่อนคลายนโยบายเกี่ยวกับการใช้คำพูดซึ่งสร้างความเกลียดชังต่อกองทัพรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพื่อตอบโต้การทำสงครามในยูเครน ก่อนที่เมตาจะบอกภายหลังว่า กฎดังกล่าวจะบังคับใช้กับผู้ที่โพสต์ข้อความจากในยูเครนเท่านั้น

สำหรับรัสเซีย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ถือเป็นประเทศที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง ไม่ว่าการเซ็นเซอร์เนื้อหา ท่ามกลางสถานีข่าวของรัสเซียที่เกือบทั้งหมดเป็นสถานีข่าวภายใต้รัฐบาลเครมลินที่เสนอเนื้อหาเชิงโฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่สื่ออิสระของรัสเซียเสียเปรียบในกฎหมาย และเป็นประเทศที่มีรายงานนักข่าวแนวสืบสวนถูกคุกคามทั้งทางกฎหมายจนถึงเอาชีวิตถึงตาย อย่างกรณีของอิวาน โกลูนอฟ นักข่าวสืบสวนที่ถูกจับในข้อหาลักลอบขนยาเสพติดแต่ข้อหาดังกล่าวถูกมองว่าการเป็นยัดข้อหาเพื่อปิดปากอิวาน เหตุไปทำข่าวสืบสวนการคอรัปชั่นของบรรดาเศรษฐีและนักการเมืองระดับสูงของรัสเซีย ก่อนที่รัสเซียเจอการกดดันขนานใหญ่จนอิวานถูกปล่อยตัวในปี 2562

จนมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงคุกรุ่น รัสเซียออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า รัสเซียก่อสงคราม หรือรัสเซียรุกรานยูเครน ให้โทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี เพื่อป้องกันและสกัดความเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาลรัสเซียที่พยายามผลิตซ้ำในการรุกรานยูเครนว่าเป็น “ปฏิบัติพิเศษทางทหาร” เพื่อปลดปล่อยชาวยูเครนจากการปกครองของรัฐบาลนีโอนาซี จนทำให้สื่ออิสระในรัสเซียต้องปิดตัวด้วยความกังวลต่อการถูกจับกุมด้วยกฎหมายอันป่าเถื่อนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกบางประเทศ ได้ประกาศแบนทุกช่องทางกับ สถานีโทรทัศน์อาร์ทีของทางการรัสเซีย ซึ่งมีการนำเสนอเนื้อหาข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดหรือมีลักษณะปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน