‘ไทยสร้างไทย’ โรงเรียนขนาดเล็กเหลื่อมล้ำ เหตุหาครูอัตราจ้างบนสัดส่วนนักเรียนตามจำนวน

“ครูโจ-ไทยสร้างไทย” ชี้ วิธีการจัดสัดส่วนครูนักเรียนตามจำนวนหัว สร้างความเหลื่อมล้ำโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องจ้างครูอัตราจ้างตามศักยภาพ สะท้อนความล้มเหลวทางการศึกษา

 

วันที่ 13 มีนาคม 2565 นายธนะรัช นพรัตน์ หรือ “ครูโจ” คณะทำงานพรรคไทยสร้างไทย จังหวัดร้อยเอ็ด อดีตครูผู้สอนภาษาจีน กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนตามโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศว่า เกิดจากวิธีการจัดสัดส่วนครูต่อนักเรียนที่นับเอาตามจำนวนหัว หากมีนักเรียนน้อยจำนวนครูก็น้อย แต่หากมีจำนวนนักเรียนมาก จำนวนครูก็เยอะตามสัดส่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงรายละเอียดว่านักเรียนมีกี่ระดับชั้นกี่ห้องเรียน ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็ก 12,000 แห่ง หรือ 40% ของโรงเรียนทั้งหมด มีบุคคลากรครูไม่ครบชั้น

รวมถึงการจัดวางตำแหน่งข้าราชการครู พนักงานครูอัตราจ้าง หรือพนักงานการสอนอื่นๆ ก็ไม่ได้คำนึงถึงบริบทสภาพความยากลำบากของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละโรงเรียน จึงทำให้ครูจำนวนมากถูกนำไปกองรวมกันในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรและบุคลากรสมบูรณ์พร้อม จนเกิดคาบว่างในห้องพักครูอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับการเหลียวแลและถูกหลงลืม ปล่อยให้ครูตัวเล็กๆ ไม่กี่คนทำหน้าที่ทุกอย่าง เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสมเท่าที่จะทำได้

สภาพความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล 1 ไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่จำเป็นต้องให้ครูแต่ละคนช่วยกันวนสอนในหลายวิชา และบางครั้งยังต้องนำนักเรียนในแต่ละระดับชั้นมาเรียนคละกัน ซึ่งยิ่งสร้างความยากลำบากให้กับการจัดรูปแบบการเรียนการสอนของครูยิ่งขึ้น ซ้ำเติมด้วยการที่งบประมาณด้านการศึกษาปีล่าสุด ในส่วนของพนักงานการสอนที่ไม่ใช่ข้าราชการครูถูกตัด จนทำให้เหล่าพนักงานการสอนต้องพากันย้ายไปสอนที่อื่นหมด

“โรงเรียนขนาดเล็ก จึงแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการจัดหางบประมาณจากภายนอก เช่นเงินผ้าป่า เงินบริจาค มาเป็นค่าจ้างครูอัตราจ้างดังที่ปรากฎในสื่อโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง เช่นมีการเปิดรับสมัครครูอัตราจ้างจบปริญญาตรี เงินเดือน 3,800 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าจ้างก็ไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้บริหารโรงเรียนนั้นๆ ว่าจะหาเงินมาได้มากเพียงใด ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนการจัดการศึกษาที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องทำการสำรวจโรงเรียน เพื่อให้จำนวนครูสอดคล้องกับจำนวนนักเรียนแต่ละชั้นปี และ สพฐ ต้องเร่งดำเนินการจัดสรรอัตรากำลังครูให้ครบตามเกณฑ์ อีกทั้งต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา”นายธนะรัชกล่าว