‘อนุทิน’ ยันไม่รักษาคนติดโควิดปนโรคอื่น จ่อปรับระบบแจ้งยอดตาย เน้นปอดอักเสบเป็นหลัก

อนุทิน ยันไม่รักษาคนติดโควิดปนโรคอื่น ขอบคุณ ปชช.เข้า เจอแจกจบ 5 วัน จ่ายยาแล้ว 8 พันราย จ่อปรับระบบแจ้งยอดตาย เน้นปอดอักเสบเป็นหลัก เหตุ 30% รายงานสาเหตุไม่ชัด

 

วันที่ 10 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ตามนโยบาย เจอ แจก จบ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ว่า ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดีมากพอสมควร

“เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่า หากผู้ติดเชื้อเข้ารักษาแบบเจอ แจก จบ หรือโอพีดี เราสามารถดูแลได้ โดยไม่ต้องเข้ามาในโรงพยาบาล (รพ.) เพื่อรอคิว และเป็นการช่วยกันดูแลระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพิ่มภาระให้กับ รพ.และบุลคลากรแพทย์ ซึ่งผู้ที่เข้าตามระบบเจอแจกจบ เป็นคนที่เสียสละไม่รับอาหาร 3 มื้อ ทำให้การบริหารจัดการบุคลากรดีขึ้น สามารถไปดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ถือเป็นความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยการจะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เราต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค เลี่ยงส่วนที่เป็นอันตราย ส่วนที่จะทำลายได้ เช่น วัคซีน เราก็เร่งการฉีดให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราเสียหายลดลง จนเข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่น ที่ต้องมีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ใน 1,000 ราย หรือ ร้อยละ 0.1” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ตั้งแต่ สธ.เปิดให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยนอก วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา แต่เป็นการดูแลเฉพาะพื้นที่ แต่เนื่องจากสายด่วน 1330 มีคนโทรศัพท์เข้าไปมาก โดยประมาณ ร้อยละ 60 เป็นสายจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม จึงเปิดใน 14 จังหวัด ที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ สามารถรองรับวันละ 8,000 ราย

ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี จันทบุรี ชลบุรี และ สมุทรปราการ โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม เราให้บริการสะสมแล้ว 8,000 ราย โดยสัดส่วนของการจ่ายยาที่พบว่า เมื่อประชาชนได้ปรึกษากับแพทย์แล้ว ก็มีความเข้าใจมากขึ้น รับยารักษาตามอาการ ร้อยละ 50 ยาฟ้าทะลายโจร ร้อยละ 22 และยาฟาวิพิราเวียร์ ร้อยละ 28

ผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลของประชาชนที่จะต้องเข้า รพ.พร้อมๆ กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นโอพีดี นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากแต่ละ รพ.มีพื้นที่สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น หอผู้ป่วยโควิด-19 (Cohot ward) คลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) มีห้องแยกผู้ติดเชื้อ เพื่อไม่ได้เข้าใกล้กับพื้นที่ผู้ป่วยโรคทั่วไป เนื่องจากทาง รพ.ต้องระวังการติดเชื้อในบุคลากรของตัวเองด้วย ฉะนั้น ไม่มีเหตุอย่างนั้นแน่นอน

จ่อปรับระบบการนับยอดตาย

ส่วนประเด็นที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า จะต้องดูสาเหตุของการเสียชีวิตตามที่ สธ.กำหนดว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีโรคร่วม จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าการจะนับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ควรดูอาการหลัก เช่น ผู้ที่ติดเชื้อต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ เชื้อลงปอดชัดเจน ถือว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงองค์ประกอบที่ทำให้เสียชีวิต

“เช่นกรณีผู้ป่วยติดเตียง เดิมพักอยู่บ้าน ป่วยหนักอยู่แล้ว แต่พบว่าติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิด เมื่อเสียชีวิต เราก็จะต้องดูกันว่า คงต้องแยกกรณีนี้ออกมา เพื่อให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ที่คุกคามในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปอดอักเสบมาก เราจะแยกจำนวนออกมาให้เห็น ซึ่งปลัด สธ. และอธิบดีกรมควบคุมโรคได้หารือกันเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากตัวเลขการเสียชีวิตในปัจจุบัน พบว่ามีประมาณร้อยละ 10-30 มีสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด-19 เนื่องจากอาการของโควิด-19 น้อย บางกรณีตรวจพบโควิด-19 หลังจากเสียชีวิตแล้ว หรือการเก็บตัวอย่างเชื้อจากร่างผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่พบว่า ผู้เสียชีวิตที่มีโรคประจำตัวร่วมกับโควิด-19 เช่น มะเร็ง โรคตับ ไตวายเรื้อรัง

“จะมีการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิต ที่จะแยกเป็นผู้เสียชีวิตปอดอักเสบ ไม่มีปอดอักเสบ และไม่ระบุสาเหตุแต่จะมีการรายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง” ปลัด สธ. กล่าว