“ไทยสร้างไทย” ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไทยต้องใช้เงินมียุทธศาสตร์ กังขาเงินกู้ 1.5 ล้านล้าน ทำไมศก.ฟื้นต่ำ?

“ไทยสร้างไทย” จี้รัฐบาลไทยใช้เงินอย่างมียุทธศาสตร์ หลังเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงสัยกู้เงินมหาศาลกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่ทำไมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่ำ หากเทียบกับประเทศอื่น

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายนพดล มังกรชัย กรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าปัญหาการทำสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้กู้เงินผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา รวม 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อประเมินประสิทธิผลของการบริหารจัดการเงินกู้แล้วมีความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยจำนวนเงินกู้นี้ คิดเป็นร้อยละ 9.55 ของขนาดเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 เติบโตเพียงร้อยละ 1.6 จากตัวเลขของสภาพัฒน์ที่ออกมาล่าสุด

ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้ลดลงถึงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกที่เผชิญความบอบช้ำจากการระบาดของโรคโควิดอย่างหนัก แต่ในปี 2563 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาลดลงเพียงร้อยละ 3.4 ต่อมาได้มีการกู้เงินเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (American Rescue Plan Act) จำนวน 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ 9.07 ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2563 แต่ในปี 2564 สามารถเติบโตสูงถึงร้อยละ 5.7

“ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถนำเงินกู้จำนวนมหาศาลซึ่งมีสัดส่วนการใช้เงินฟื้นฟูในอัตราส่วนที่มากกว่าสหรัฐอเมริกา แต่กลับไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือพอเศรษฐกิจหดตัวก็หดมากกว่า แต่พอเศรษฐกิจฟื้นตัวก็ฟื้นตัวช้ากว่า ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ควรพิจารณาตัวเองได้แล้วว่าทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ใช้เงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เห็นได้ชัดจากการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดปัญหาในแทบทุกด้าน พลเอกประยุทธ์ควรทบทวนตนเองและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามาบริหารจัดการวิกฤติครั้งนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีสงครามเข้ามาซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้งบอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่เน้นการแจกแบบหว่านแหเหมือนที่ผ่านมา เพราะถ้าทำแบบนั้นอีกเศรษฐกิจไทยจะไม่มีวันฟื้นตัวได้เลย” นายนพดล กล่าว