สกสว. เยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง (EC-ATMPs)

          สกสว. นำคณะผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง (EC-ATMPs) พร้อมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันกับวาระแห่งชาติ เรื่อง BCG Model ด้านการแพทย์

เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแผนงานการส่งเสริมบริการทางการแพทย์ด้วย ATMPs ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สกสว. และ ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของ สกสว. เข้าเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง (EC-ATMPs) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภาชาดไทย โดยมี รศ.ดร.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง (EC-ATMPs) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภาชาดไทย อธิบายถึงแนวทางการดำเนินการจัดสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ก่อนนำคณะเยี่ยมชมว่า ผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง ได้รับการจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพทั้งด้านแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการวิจัย พัฒนา และค้นคว้าวิธีการรักษา สิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์การรักษาแบบใหม่ด้านอวัยวะและเนื้อเยื่อสังเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ที่สามารถใช้วินิจฉัยในการรักษา หรือพยากรณ์และทำนายผลการตอบสนองต่อการรักษา เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเยี่ยมชม ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยน ถึงแนวทางการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง ภายใต้การสนับสนุนและแนวทางการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ที่สอดคล้องกับวาระแห่งชาติ เรื่อง BCG Model ด้านการแพทย์ หนึ่งในสาขาสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ให้เกิดความยั่งยืน และมีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลต่อไป