“พลภูมิ” หนุนคงสิทธิรักษาโควิดใน UCEP ไปยาวๆ เหตุ รพ.รัฐ-ปชช.ยังไม่พร้อม

“พลภูมิ” หนุนคงสิทธิ UCEP รักษาโควิดฟรีทุกที่ เป็นหลักประกัน ปชช.ที่จำเป็นต้องทำมาหากินจุนเจือครอบครัว แนะขยายต่อจนกว่าจะคลี่คลาย หรือไร้คนเสียชีวิต เน้นบุคลากร รพ.รัฐต้องมีความพร้อม เผยปัจจุบันเริ่มวิกฤตเตียงขาดแทบทุก รพ.อีก วอนรัฐหาทางแก้ อย่าผลักไสให้ไปดูแลตัวเองที่บ้าน ที่ส่วนใหญ่สถานที่ไม่เอื้อ เสี่ยงกระจายเชื้อ ห่วงเด็กเล็กที่ยอดติดเชื้อพุ่ง

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้มีการเลื่อนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อกำหนดเกณฑ์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน หรือยูเซ็ป (UCEP) ซึ่งจะมีการปรับให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาฟรีตามสิทธิสุขภาพของตนเองที่เดิมกำหนดไว้วันที่ 1 มี.ค.65 นั้น

นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ครม. ตน และพรรคเพื่อไทยได้ท้วงติงมาโดยตลอดถึงแนวคิดการยกเลิกสิทธิรักษาโควิดทุกที่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็สอดคล้องกับมติ ครม.ล่าสุดที่ให้คงสิทธิ UCEP ไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ที่ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกครั้งถึงวันละ 2 หมื่นคน รวมกับกลุ่มเสียงที่ตรวจเชื้อโดย ATK อีกไม่ต่ำกว่าหมื่นคน อีกทั้งไม่สามารถคิดว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อกันง่าย จะไม่มีความรุนแรงเด็ดขาด ถึงยอดผู้เสียชีวิตปัจจุบันจะมีอัตราส่วนน้อยเมื่อเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อ แต่ก็ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิต 20-30 รายทุกวัน ส่วนตัวมองว่า แม้แต่ชีวิตเดียวก็ไม่ควรสูญเสีย รัฐบาลจึงควรดูแลประชาชนภายใต้สิทธิ UCEP ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

“สรับสนุน ครม.ที่คงสิทธิสิทธิรักษาโควิดทุกที่ไว้ ไม่ผลักภาระให้ประชาชน ซ้ำเติมคนทุกข์ยากไปมากกว่านี้ รัฐบาลมีหน้าที่ในการให้หลักประกันในชีวิตของเขาว่า ถ้าโชคร้ายไปติดโควิด ก็ยังสามารถรักษาฟรีได้ทุกที่ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมเหมือนที่ผ่านมา” นายพลภูมิ ระบุ

นายพลภูมิ กล่าวต่อว่า ส่วนจะยกเลิกสิทธิ UCEP เมื่อใดนั้น ส่วนตัวมองว่า อย่างน้อยต้องให้สถานการณ์คลี่คลายจนแทบไม่มีผู้ป่วยหนัก หรือเสียชีวิต รวมทั้งต้องวางแผนในการทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ที่สำคัญรัฐบาลต้องพิจารณาในทุกมิติ โดยเฉพาะศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ เตียง และอุปกรณ์โรงพยาบาลรัฐ ว่าเพียงพอต่อสถานการณ์หรือไม่ เพราะขณะนี้ที่ยังคงสิทธิ UCEP อยู่ ก็มีปัญหาเตียงไม่พอทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลรัฐ แม้แต่ศูนย์พักคอยของภาคประชาสังคมต่างๆ ก็ยังเต็มแทบทุกที่ หรือกรณีสายด่วน 1330 ก็มีผู้แจ้งเข้าไปถึงวินาทีละ 500 สาย ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเองก็ได้ทดลองติดต่อสายด่วน 1330 ในระหว่างประชุม ครม.ก็ประสบปัญหาในการติดต่อเช่นกัน ดังนั้นแทนที่จะลดระดับกรรดูแลประชาชน กลับกันรัฐบาลต้องยกระดับให้เข้มข้นครอบคลุมยิ่งขึ้นมากกว่า

“ประชาชนไม่มีใครอยากเป็นโควิด ทุกคนอยากใช้ชีวิต ทำกิจกรรม ประกอบอาชีพ เรียนหนังสือได้ตามปกติอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ทุกข์มากพอแล้วที่ไปไหนมาไหนต้องหวาดระแวง และยังต้องเสียเงินซื้อ ATK เอง โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำ เพราะหากติดเชื้อ หรือแม้แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องกักตัว ก็เท่ากับไม่สามารถทำงาน ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว” นายพลภูมิ กล่าว

นายพลภูมิ เปิดเผยด้วยว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและทีมงานได้รับการร้องเรียน และขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก จากกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถหาเตียงโรงพยาบาล หรือศูนย์พักคอย เพื่อเข้ารับการรักษาได้ ผู้ป่วยหลายคนถูกผลักไสให้กลับไปกักตัวและรับยาไปรักษาเองที่บ้าน โดยอ้างว่าอาการไม่รุนแรง แต่ความเป็นจริงควรพิจารณาความพร้อมของผู้ป่วย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อม สถานที่ บ้านพัก ห้องพัก ไม่เอื้ออำนวย สุ่มเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อให้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะยิ่งระยะหลังยังพบว่า เด็กเล็กติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เพราะการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็กอาจจะยังไม่ทั่วถึง