“ประยุทธ์” ยืนกราน คสช.ชอบธรรม ใช้ ม.44 แก้ปมเหมืองทองอัครา ลั่นผมไม่ลาออก!

“ประยุทธ์” โต้แหลก ยันรัฐบาลคสช. ใช้ม.44 อย่างชอบธรรม แก้ปมเหมืองทองอัครา ปรามคดีอยู่ระหว่างชั้นอนุญาโตตุลาการ ยืนกรานผมไม่ลาออก

วันที่ 18 ก.พ.2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อครม. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันที่สอง โดยเมื่อเวลา 11.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงประเด็นเหมืองทองอัคราว่า สถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535-44 รัฐบาลช่วงนั้นได้เห็นชอบตามกฎหมายตามพ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2510 เชิญชวนให้มีการลงทุนด้วยการลดค่าภาคหลวงแร่ ออกใบสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม สนับสนุนให้ทำเหมืองทองในจ.พิจิตร ซึ่งนายกฯ ขณะนั้น ได้ไปเปิดเหมืองผลิตทองคำเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ

ปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดิมอยู่ กระทั่งปีพ.ศ. 2554 รัฐบาลต่อมาได้ระงับต่อใบอนุญาตประทานบัตร 1 แปลง ด้วยเหตุความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาการฟ้องร้อง ขั้นตอนการออกใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ และสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหาร ในขณะนั้น ถือว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ รัฐบาลได้พิจารณาการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนั้นยังมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. ต้องทบทวนข้อกฎหมาย และกรอบ นโยบายการทำเหมือง เพื่อลดปัญหาที่หมักหมม รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็น

หลังจากมีการปรับปรุงพ.ร.บ.ประกอบกิจการเมืองแร่ พ.ศ.2560 มีบริษัทเอกชนที่สนใจทำเหมืองได้ขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย ก็มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปในลักษณะของคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งบริษัทเมืองทอง อัครา จำกัด ก็เป็นบริษัทหนึ่ง แต่มีคดีความฟ้องร้องกับรัฐบาลไทยก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสิทธิ์ที่จะเดินเรื่องต่อขอใบอนุญาต และทำตามขั้นตอนเหมือนบริษัทอื่นๆ และไม่ได้เป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลทั้งสิ้น และรัฐบาลไม่ได้ตั้งเงื่อนไขใดๆ เป็นไปตามกฏหมายทุกขั้นตอน

ถ้าตนจะถูกตีความว่า การต่อใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติและยกสมบัติของชาติให้กับบริษัทเอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้เป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้น หรือเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่อดีตที่ผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน ตนพยายามจะแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าให้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการดำเนินการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ รัฐบาลยินดีต้อนรับนักลงทุนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ และประชาชน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม เรื่องนี้ตนขอย้ำว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

นายกฯ กล่าวว่า ขอให้การอภิปรายนี้เป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของประเทศเรา คำถามหลายข้อเกิดจากความอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามจะบิดเบือนให้ประชาชนเห็นว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ส่วนการใช้มาตรา 44 ตนไม่เข้าใจว่าผู้อภิปราย มีความพยายามและความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ เหมือนต้องการให้ประเทศเราเสียหาย อยากให้ตนมีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติตามคำแนะนำของกระทรวงยุติธรรม ถ้าผู้อภิปรายเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรมาผูกกับเรื่องเหมืองทอง เพื่อประโยชน์ของใครก็แล้วแต่

“ผมขอถามว่า ปัญหาที่นำมาอภิปรายในวันนี้ บางเรื่องเคยได้รับการแก้ไขหรือไม่ บางอย่างอยู่ในกระบวนการ ถามว่าประเทศไทยจะไปตรงไหน มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้หรือไม่ ตามที่ท่านระบุตามมาตรา 152 เสนอมาได้ทุกเรื่อง ถ้าพูดง่ายๆ ตีกันไปแบบนี้ ไม่เกิดอะไรกับประเทศชาติสักอย่าง ผมขอให้สภา เป็นสถานที่รับฟัง ผมพร้อมรับข้อเสนอแนะ แต่ถ้าท่านมุ่งหวังว่าจะตีรัฐบาล จะล้มรัฐบาล จะเอานายกฯ ออกให้ได้ ผมว่าไม่ถูก ไม่ใช่น่าหน้าที่ของท่าน เมื่อวาน (17 ก.พ.) มีการเอาใบลาออกมาให้เซ็น ขอให้เก็บไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน เพราะผมยังไม่ลาออกทั้งนั้น” นายกฯ กล่าว