มว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้าง เหตุไซต์ก่อสร้างลุมพินีถล่ม สั่งกสร. ตรวจสอบ พร้อมประสานหน่วยงานภาครัฐให้การช่วยเหลือทันที

          รมว.แรงงาน ห่วงลูกจ้างโครงการก่อสร้างโรงแรมหรู วัน แบงค็อก เขตลุมพินี กรุงเทพมหานคร เหตุไซต์ก่อสร้างถล่ม ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ พร้อมประสานหน่วยงานกระทรวงแรงงานช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เกิดเหตุไซต์งานก่อสร้าง โครงการ วัน แบงค็อก ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เกิดอุบัติเหตุโครงสร้างค้ำยันแบบหล่อคอนกรีตพังถล่มขณะกำลังเทคอนกรีต ทำให้มีลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ใต้จุดค้ำยันเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บนั้น กระทรวงแรงงานไม่นิ่งนอนใจ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบทันที

          นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ตนได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ โดยได้ข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบถามผู้รับผิดชอบงานความปลอดภัยของบริษัทฯ พบว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ใต้จุดค้ำยันดังกล่าว และลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บได้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านแล้ว และในส่วนของสาเหตุที่โครงสร้างค้ำยันแบบหล่อคอนกรีตเกิดพังถล่มอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง

          “วันนี้ผมได้รับรายงานจากนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 พร้อมทั้งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือในวันนี้ เรื่องของการประสานดูแลรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และด้านคุ้มครองแรงงาน พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อสอบข้อเท็จจริงนายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. 2564 หรือไม่ ซึ่งถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย