“เพื่อไทย” ยัน #สมรสเท่าเทียม ต้องไปต่อ ชี้ร่างกม.สำคัญของปชช.ผ่านได้ ไม่จำเป็นต้องถ่วงเวลา

‘เพื่อไทย’ ขอสนับสนุนการทำงานของ ส.ส. จากกลุ่มอัตลักษณ์ผู้นำเสียงประชาชน LGBTQ มาประกาศยังใจกลางพื้นที่รัฐ ยัน #สมรสเท่าเทียม ต้องไปต่อทุกการต่อสู้ในสภาและภาคประชาชน พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้อง LGBTQ เตรียมยกร่างกฎหมายร่วมกับประชาชน ผลักดันเข้าสภา

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ชานันท์ ยอดหงษ์ นักวิชาการและผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีกฎหมายสำคัญของประชาชน แต่ ‘สภาล่ม’ อยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า การประชุมสภาวันนี้มีร่างกฎหมายสำคัญต่อปากท้อง สิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคของประชาชนหลายฉบับที่นำเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งมี ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้เกิด #สมรสเท่าเทียม (marriage equality) ทว่ารัฐบาลกลับถ่วงรั้งกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ด้วยการอ้างต่อสภาขอรับไปพิจารณาก่อนเป็นเวลา 60 วัน

ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการพื้นฐานและสามัญสำนึก ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 60 วันเพื่อไปพิจารณาลงมติรับหลักการ และก่อนหน้านี้มีประชาชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมสมรสเท่าเทียม จัดเสวนาหลายครั้งว่ากฎหมายสมรสที่มีอยู่ละเมิดและพรากสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากรัฐบาลใส่ใจให้ความสำคัญกับประชาชน ย่อมพร้อมแก้ไขปัญหากฎหมายนี้ทันที ไม่อุ้มร่างกฎหมาย พฤติการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเลี้ยงไข้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ่วงเวลา และถ่วงสิทธิความเสมอภาคปากท้องชีวิตของประชาชนต่อไป

ในประเด็นข้อถกเถียงเรื่องกลไกที่ทำให้สภาล่มนั้น ชานันท์ยืนยันว่าการที่รัฐบาลไร้ความสามารถคุมเสียงข้างมากในสภา จนทำให้รัฐบาลซึ่งต้องเป็นเสียงข้างมากกลับกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา องค์ประชุมของฝ่ายรัฐบาลไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ คือ 237 เสียง ฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างน้อย ย่อมไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุม จึงที่มาของเหตุ ‘สภาล่ม’ ส่งผลกระทบต่อการผลักดันกฎหมายสำคัญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

รัฐบาลเล่นเกมถ่วงเวลาร่างกฎหมายจากฝ่ายค้านไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้านนั้นจะมุ่งให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก ได้รับการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นคน โดยเฉพาะกฎหมายอย่างสมรสเท่าเทียม นำเสียงของประชาชน LGBTQ ที่เดือดร้อนจากการถูกรัฐกดทับ เลือกปฏิบัติ มาประกาศยังใจกลางพื้นที่รัฐก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ขอสนับสนุนการทำงานของ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ โดยเฉพาะการที่ ส.ส. มาจากกลุ่มอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งเองนั้น ย่อมเข้าใจความรู้สึกและได้แบกรับปัญหาอันเจ็บปวดที่หลายคนมองข้ามของ LGBTQ และได้ออกมามาเปิดเผยพร้อมกับหลั่งน้ำตา

“การร้องไห้ไม่ใช่ความอ่อนแอ หรือการใช้อารมณ์ไร้เหตุผล หรือเปราะบาง เพราะเพศสภาพตามมายาคติของสังคม อันที่จริง ส.ส.ไม่จำเป็นต้องตอนเพศตัวเอง ตัดความเป็นมนุษย์ อารมณ์ความรู้สึกออกราวไร้เพศสภาพไร้ตัวตนเมื่ออยู่กลางสภา หากแต่การธำรงอัตลักษณ์ทางเพศต่างหากที่สำคัญด้วยตัวของมันเอง เพื่อประกาศว่ารัฐสภาไม่ใช่พื้นที่เก็บซ่อนอารมณ์ หรือของอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่ง เพราะ ส.ส. สามารถเป็นปากเป็นเสียงได้เท่ากับถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน จากนั้นค่อยปาดน้ำตา แล้วเดินหน้าต่อสู้ไปด้วยกัน” ชานันท์กล่าว

กับวิวาทะการต่อสู้ในระบบสภานั้น ชานันท์ยืนยันว่าแต่ละพรรคฝ่ายค้านย่อมมียุทธศาสตร์และการต่อสู้รูปแบบแตกต่างกัน แต่มีหัวใจและอุดมการณ์ร่วมกันคือเพื่อสวัสดิการและศักดิ์ศรีประชาชนอันหลากหลายอัตลักษณ์ ตรวจสอบและยุติบทบาทรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน

และเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิ ความเสมอภาค สวัสดิการ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ ตามหลักของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้อง LGBTQ ทุกคน พร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อสมรสเท่าเทียมที่ได้ร่วมกับภาคประชาชนจัดทำร่างฉบับภาคประชาชน และจะถูกนำเสนอโดยประชาชนในไม่ช้านี้