‘เพ็ญพิสุทธิ์’ ชี้ผลกระทบโควิด-19 มีรอบด้าน จี้รัฐช้าไม่ได้ต้องรีบจัดการ

เพ็ญพิสุทธิ์ ชี้ผลกระทบโควิด-19 มีรอบด้าน จี้รัฐช้าไม่ได้ต้องรีบจัดการ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตบางคอแหลม และนักธุรกิจจิตอาสา ซึ่งได้ร่วมงานกับกลุ่มเส้นด้ายในการจัดส่งผู้ป่วยในพื้นที่ ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด ที่กลับมาระบาดใหญ่ในพื้นที่เขตบางคอแหลม และกรุงเทพ ปริมณฑลทุกเขต ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปี 2565 เรื่อยมาว่า ยอดจำนวนผู้ป่วยกลับมาทวีสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธ์ุโอมิครอน ที่แพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว

เพ็ญพิสุทธิ์ อธิบายว่า ในระยะแรกช่วงต้นปี 65 การประสานงานส่งต่อผู้ป่วยให้โรงพยาบาลต่างๆ รับตัวไปรักษา ไม่ว่าจะเป็นเคสสีเหลืองซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรง หรือเคสสีเขียวที่ส่งไปรักษาที่ฮอลพิเทลนั้น เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยเมื่อทีมงานออกไปตรวจATKให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงตามบ้าน ซึ่งส่วนมากจะติดต่อมาทางเพจ หรือโทรศัพท์ ถ้าตรวจแล้วพบเชื้อ ก็จะตรวจคนทั้งบ้านด้วย แล้วจากนั้นจึงประสานงานไปยังโรงพยาบาลเอกชนส่งผลตรวจ ATK ให้ ซึ่งจะนำรถมารับตัวภายในเวลาไม่เกินหนึ่งวัน หลังจากรับผู้ป่วยออกจากบ้านไปแล้ว ทีมงานก็จะมาพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสให้ภายในบริเวณบ้าน และมอบถุงยังชีพให้ผู้กักตัว

แต่ในขณะนี้การประสานงานกับโรงพยาบาลต่างๆเริ่มมีข้อติดขัด โรงพยาบาลบางแห่งรับเฉพาะผู้ป่วยที่มีผลตรวจ RT-PCR เท่านั้น บางแห่งแจ้งมาว่าไม่รับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง บางแห่งตั้งกฏเกณฑ์ใหม่ๆในการรับผู้ป่วยเช่น สอบถามมีประกันสุขภาพ มีประกันโควิด ทำให้ประชาชนมีความสับสนกับกฏเกณฑ์ และการรอคอยเข้าสู่ระบบการรักษาที่นานขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามาต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการประสานงานกับหน่วยงานหรือโรงพยาบาลของรัฐค่อนข้างมีความล่าช้า

เพ็ญพิสุทธิ์ ยืนยันว่า ตัวเองเข้าใจในข้อจำกัด ด้านต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องกฏระเบียบ จึงทำให้การจัดการปัญหา ไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น จึงอยากเรียกร้องให้ทางรัฐบาลผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งในการตรวจ ATK ตามศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และถ้าพบผลออกมาเป็นบวก ให้ส่งต่อไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจRT-PCR หรือจะรับตัวเข้ารักษาตามระบบทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบสาธารณะสุขที่รวดเร็วขึ้น เพื่อลดการแพร่เชื้อในพื้นที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ ได้ลงพื้นที่ ร่วมกับ มูลนิธิเส้นด้าย เพื่อประสานความร่วมมือ ในการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับโควิด รวมถึงด้านต่างๆ และได้นำนมสดพร้อมดื่ม มอบให้เด็กๆ ตามชุมชน เพื่อลดภาระผู้ปกครอง ผลจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ยิ่งทำให้เห็นภาพปัญหาต่างๆ อย่างชัดเจน แม้ว่า ทางภาครัฐหลายหน่วยงาน จะประเมินว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิคอน จะไม่รุนแรง และเตรียมปรับตัวเป็นโรคประจำถิ่น

“รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น เร่งการตรึงราคาสินค้า และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทย เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน หรือกู้หนี้ยืมสินในการใช้จ่ายเรื่องอุปโภค บริโภค และ เร่งแก้ปัญหาการว่างงานของคนไทย ซึ่งปัจจุบันนี้มีจำนวนคนตกงานเยอะขึ้น และ สูงที่สุดในรอบ 20 ปี ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจตอนนี้คือเรื่องใหญ่ที่รัฐต้องให้ความสำคัญมาเป็นเรื่องแรก ไม่เช่นนั้นปัญหาเศรษฐกิจจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ ประชาชนจะยิ่งเดือดร้อน บวกกับความตึงเครียดของโรคโควิดหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นรัฐสวัสดิการเรื่องสาธารณะสุขต้องรีบแก้ไข ควบคู่กับความวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน” ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายอย่างกังวล

ขอบคุณภาพจาก : เส้นด้าย Zen-dai