“ยุทธพงศ์” อัดสภาล่มบ่อยน่าอาย เหตุ รบ.เสียงปริ่มน้ำ แนะ “ประยุทธ์” ชิงยุบสภา

“ยุทธพงศ์” อัดสภาล่มบ่อยน่าอับอาย เหตุจาก รบ.เสียงปริ่มน้ำ แนะ “ประยุทธ์” ชิงยุบสภาก่อน 22 พ.ค. พร้อมแนะจับตา ครม.”ประยุทธ์” ทิ้งทวนขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 แสนล้าน แย้มตัวละครสำคัญ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเวลา 10.00 น.  ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคพท.แถลงกรณีสภาล่ม 2 ครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่ทำให้สภาล่ม ตนเคยวิเคราะห์สถานการณ์ไว้แล้วว่าเกิดจากปัญหาเสียงปริ่มน้ำและกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ออกไปอีก 21 เสียง

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำสภาล่มทั้งหมด 16 ครั้งถือว่าล่มมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ปัญหาที่สภาล่มซ้ำซาก ล่มแล้วล่มอีกเกิดจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นแกนนำรัฐบาลวันนี้มีไม่ถึง 100 เสียงเพราะแยกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย 21 เสียง และพรรคเศรษฐกิจไทยก็ไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ร่วมโหวตเป็นองค์ประชุมให้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สภาล่ม ถือเป็นเรื่องน่าอับอายที่สภาล่มซ้ำซากลมทุกอาทิตย์ที่มีการประชุมกัน ตอนนี้เรือเหล็กของ พล.อ.ประยุทธ์มีทั้งหมด 245 เสียง

ถามว่าทำไมสภาถึงล่มง่ายนัก ล่มได้ตลอดเวลา เนื่องจากปัจจุบันมีเสียง ส.ส.ทั้งหมด 473 เสียง ครึ่งหนึ่งคือ 237 เสียง เรือเหล็กลุงตู่มี 245 เสียง เมื่อหักเสียงเกินกึ่งหนึ่ง และหักเสียงประธานสภาและรองประธานสภาอีก 3 เสียง เท่ากับรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 5 เสียง ซึ่งทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีมีภารกิจ มีหน้าที่ที่ต้องไปปฏิบัติงาน ดังนั้นถ้านับองค์ประชุมเมื่อไหร่ก็ล่มเมื่อนั้นเพราะไม่ครบตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาล่ม

“พล.อ.ประยุทธ์มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. แต่นายกฯ ประกาศแล้วว่าไม่ปรับ และไม่เอา ร.อ.กลุ่มธรรมนัสเข้าร่วมด้วย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องชิงยุบสภาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคมเพราะเป็นสมัยประชุมสภาที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151 อาการแบบนี้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมตายกลางสภา แน่นี่คือสถานการณ์ทางการเมือง ทางเลือกของพล.อ.ประยุทธ์คือจะต้องยุบสภาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะไปไม่รอด จึงทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ 4 แสนล้าน โดยในการประชุม ครม. 8 กุมภาพันธ์นี้จะมีวาระขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 40 ปีให้กับบีทีเอสมูลค่า 4 แสนล้าน เพื่อให้ ครม.อนุมัติในช่วงที่กำลังชุลมุน เรื่องนี้มีความผิดปกติมากเพราะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือน พฤษภาคม ถามว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ผูกพันอนาคตคนกรุงเทพฯ ออกไปอีก 40 ปีข้างหน้า ทำไมไม่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาตัดสินใจ แบบนี้เรียกว่าทิ้งทวนหรือไม่ก่อนหมดวาระเพราะตรงนี้เป็นผลประโยชน์มหาศาล

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า สำหรับความไม่โปร่งใสในการต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 40 ปีนั้น ในเส้นทางหลักของบีทีเอสจะหมดสัญญาในปี 2572 ถามว่าแล้วจะเร่งรีบต่อสัญญาไปทำไม ขณะที่ กทม.จะขยายสัญญาสัมปทานโดยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ของ รฟม. โดย กทม.ควรชำระหนี้ให้ รฟม.เรียบร้อยก่อน เพราะส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. กทม.ยังไม่ได้รับโอน แล้วถามว่า กทม.จะยกส่วนนี้ไปให้บีทีเอสได้อย่างไร ผิดกฎหมายชัด และหาก กทม.บอกว่าตัวเองเป็นหนี้เพราะเปิดให้นั่งฟรีตั้งแต่ปี 60 ไม่อยากให้บริการส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้แล้ว ก็ควรเสนอครม.ให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 26 พฤศขิกายน 61 และให้ รฟม.ไปดำเนินการเองเพราะเขาเป็นเจ้าของ การจะโอนกรรมสิทธิ์มาโดยไม่จ่ายเงินนั่นทำได้หรือ หากตัวเองไม่อยากทำหรือเป็นหนี้ก็โอนกลับไปให้ รฟม.ดำเนินการ และหากบีทีเอสอยากต่อสัญญาในเส้นทางหลัก ต้องแจ้งกทม.ไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินห้าปี ซึ่งแจ้งได้ตั้งแต่ช่วงปี 68 แต่ตอนนี้เพิ่งปี 65 ยังไม่ถึงเวลาที่บีทีเอสต้องแจ้งต่อสัญญาสัมปทาน

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า และที่ กทม.บอกมีภาระหนี้จากการจ้างเอกชนมาติดตั้งระบบการเดินรถ และว่าจ้างให้เอกชนวิ่งรถในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ซึ่งทำตั้งแต่ปี 59 ควรตรวจสอบว่าสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เพราะไม่มีการประกวดราคา ยกให้บีทีเอสวิ่งรถเลย หนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ เรื่องอะไรที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ไปสร้างหนี้ขึ้นมาเป็นหมื่นล้าน ปล่อยให้ประชาชนนัางฟรี ตนจึงสงสัยในเรื่องความโปร่งใส เป็นการจัดฉากสร้างหนี้เพื่อให้ครม.ต่อขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่ ทั้งนี้ หนี้ก้อนแรกคืองานเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล 2 หมื่นล้านบาท นี่ก้อนที่สองอีก 1 หมื่นล้าน เกิดจากผู้ว่าฯ อัศวินให้คนนั่งฟรีตั้งแต่เปิดมาปี 60 จึงเป็นสาเหตุที่จะยกสัมปทานให้เขา

“เรื่องนี้มีผลประโยชน์ก้อนใหญ่โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อขยายสัมปทานให้บีทีเอสตั้งแต่ปี 2572 ไปจบที่ปี 2602 กรณีนี้ต้องมีการศึกษาว่าถ้าให้เอกชนดำเนินการ หรือเอากลับมาเป็นของรัฐดำเนินการเอง ตัวเลขกำไรขาดทุนแบบไหนจะดีกว่ากัน แบบไหนประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์มากกว่ากัน มีตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมไปศึกษามา พบว่าหาก กทม.ดำเนินการเองหลังหมดปี 72 ไม่ต่อให้บีทีเอส ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ 4.67 แสนล้านบาท ถ้าเอกชนดำเนินการจะมีกระแสเงินสดสุทธิแค่ 3.26 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐดำเนินการเองมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่าถึง 4.35 แสนล้านบาท ” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า มีตัวละครสำคัญไปเจรจาสายสีเขียวคือนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือดร.เอ้ โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 62 มีคำสั่ง คสช.ที่3/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีดร.เอ้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จากนั้นวันที่ 5 มิถุนายน 62 มีการแต่งตั้งดร.เอ้เป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นชอบให้ต่อสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่คนค้านเต็มบ้านเต็มเมือง ถามว่าดร.เอ้สนิทแนบแน่นกับใคร

ถ้าไปขึ้นรถไฟฟ้าทุกสถานีก็จะมีรูปโฆษณาดร.เอ้ทุกสถานีรวม 450 ป้าย แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่หรือเปล่า จ่ายเงินกันหรือไม่ เอาเงินที่ไหนมาจ่ายก็จะเกี่ยวพันกันกับบัญชีทรัพย์สินของดร.เอ้อีก ดังนั้นในวันที่ 8 ก.พ.นี้พรรคร่วมรัฐบาลจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ พรรคปชป.จะเห็นชอบให้ผ่านสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปีหรือไม่ เพราะดร.เอ้เป็นตัวแทนสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคปชป.

แล้วทำไมพล.อ.ประยุทธ์ถึงต้องทิ้งทวนโครงการต่อขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีกในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หากต่อสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 65 บาทผูกพันไปถึง 40 ปีข้างหน้า และต้องถามหาจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่คัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะผิดกฎหมายหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำค่าโดยสารแพงเกินจริง เป็นการผูกขาดตัดตอนเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียวโดยที่ไม่มีการแข่งขัน และสัญญายังเหลือเวลาไปถึงปี 2572 ไม่มีอะไรต้องเร่งด่วน ถามว่าหมูแพง วัวตาย ชาวบ้านไม่มีจะกินทำไมไม่เร่งด่วนไปช่วย แล้วต่อสัมปทานรถไฟฟ้าด่วนอย่างไร เรียกทิ้งทวนหรือไม่

ทั้งนี้ พรรคพท.เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.อนุพงษ์ในเรื่องนี้ ข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว ชัดเจนมาก ตนคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนความขัดแย้งทำให้รัฐบาลพัง หากคุณไปต่อสัญญาให้เขาอีก 40 ปี ไม่มีทางที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะถูกลงได้ หากปี 2572 รถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐและผู้ว่าฯกทม.คนต่อไปให้สัมปทานกลับมาเป็นของ รฟม. ก็ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า บัตรใบเดียวก็ไปได้ทุกสาย ค่ารถไฟฟ้าจะถูกลงอย่างแน่นอน ตอนนี้คนไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แล้ว จะมาทิ้งทวนเพื่อเป็นภาระคนกรุงเทพฯ อีก