สาธิต ม.ธรรมศาสตร์ : “ประยุทธ์” สั่งจับตา อ้างมีบิดเบือนปวศ.-สถาบัน คณบดี-อจ.แย้งกลับ ชี้ต้องให้นร.รู้จักคิดทุกมุม

“ประยุทธ์” สั่งจับตา รร.สาธิต มธ.อ้างมีบิดหลักสูตรประวัติศาตร์-สถาบัน ขอบคุณครูทุกคน เสียสละดูแลนร.ถึงบ้านช่วงโควิด-19 คณบดี-อาจารย์ แย้งแบบเจ็บๆ ชี้กล่าวหาเลื่อนลอย แนะต้องให้ข้อมูลหลายด้าน-สอนให้เด็กรู้จักคิดทุกแง่มุม

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ว่า กำลังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปดูอยู่กรณีที่มีข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน นี่คือเรื่องการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญการศึกษาจะต้องมีเป้าหมายที่ดี ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ มีความคิดอย่างเป็นระบบ มีมาย์เซ็ทที่ดี สิ่งเหล่านี้ตนกำลังแก้ โดยได้มีการสั่งการ กำหนดนโยบายไปยังรัฐมนตรีว่าการกระะทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด ทั้งหลักสูตร การศึกษา การสอนของครู การเพิ่มสมรรถนะ ทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องปรับกลไกบางตัวให้ทันสมัยขึ้น และองคาพยพเหล่านั้นต้องทำตามนี้ พัฒนาตนเอง

“ถือโอกาสนี้ขอบคุณบรรดาครู อาจารย์ ในช่วงโควิด-19 ผมได้รับรายงานจากหลายพื้นที่ หลายจังหวัด ที่มีครูไปสอนในพื้นที่ถึงบ้าน ถือเป็นการเสียสละ เอารถไปเอง ติดตามการบ้าน นี่คือคนที่เราต้องไม่ลืมเขา การเรียนมี2อย่าง ออนไลน์ออนไซด์ บางคนออนไลน์ไม่พร้อม รัฐบาลก็ต้องไปเติม ต้องขอบคุณครูเหล่านี้ เหมือนเป็นแนวหน้าหน้าด่านด้านการศึกษา ไม่เช่นนั้นโรงเรียนปิดหมด แล้วจะไปกันอย่างไร เมื่อปิดก็ปิด พร้อมเปิดก็ต้องเปิด ถ้ายังงเปิดไม่ได้ก็ต้อวมีวิธีการสอนใหม่ ผมรู้ว่าครูเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่ตัวเองก็มีภาระส่วนตัวมากมาย แต่ต้องขอบคุณจริงๆแม่ผมจะไม่ได้พูดถึง ยืนยันว่าทั้งหมดอยู่ในกระบวนการ”นายกฯ

ท่าทีดังกล่าว มีขึ้นจากกระแสดราม่าที่ก่อตัวขึ้นไม่นานมานี้ จากฝั่งผู้เรียกตัวเองว่านักวิชาการอิสระและผู้สนับสนุนรัฐบาล ที่มีทัศนะแบบขวาสุดโต่งซึ่งมีความยึดมั่นกับระบบการศึกษาของรัฐแบบดั้งเดิมที่เน้นเชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรูปแบบการสอนของรร.สาธิตแห่งนี้ และเรียกรูปแบบการสอนดังกล่าว เป็นการ “ล้างสมอง”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีการตอบโต้จากอาจารย์และผู้บริหารที่ดูแลรับผิดชอบรร.สาธิต ต่อกระแสการรับไม่ได้จากฝ่ายตรงข้าม โดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

ช่วงนี้ร.ร.สาธิตถูกสปอตไลต์จากทั้งสองฝั่งส่อง จนกระทั่งมีทัวร์จากฝั่งสลิ่มมาลงวันละหลายรอบ

ตั้งแต่เรื่องการเชิญ อ.ธงชัย วินิจจะกูล (ศาสตราจารย์กิตติคุณ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐฯ) มาเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ของมัธยม ต่อด้วยบทสัมภาษณ์อ.อ้อ (รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี) ประธานบริหารโรงเรียน เรื่องการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความเหมาะสมกับโลกและชีวิตของนักเรียนในยุคนี้

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่อ.ธงชัยที่ฝั่งสลิ่มกลัวนักกลัวหนา กลับเป็นคนที่ยืนยันว่า เราต้องสอนเด็กให้รู้จักวิธีคิดของทุกฝ่าย ไม่ใช่ยัดเยียดความเชื่อของเราฝ่ายเดียวให้กับเค้า เราต้องไม่ทำหน้าที่คิดแทนพวกเค้า แต่ให้ข้อมูลจากหลายๆ ด้าน (รวมทั้งด้านที่เราไม่เห็นด้วย) เพื่อให้พวกเค้าได้ใช้ความคิดพิจารณา โดยมีครูทำหน้าที่คอยตั้งคำถาม ชวนเค้ามองให้เห็นว่า การที่เค้าเลือกที่จะเชื่อประวัติศาสตร์หรือความคิดชุดใด มันมีที่มาที่ไป มีเหตุผลประกอบอย่างไร และมันส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเค้าและคนในสังคม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตบ้าง

ในขณะที่อ.อ้อจะกล่าวเสมอว่า ทุกการตัดสินใจเลือกที่จะปรับวิชาใด มันคือการทำงานของทีมครูผู้สอนที่จะช่วยกันพิจารณาว่า ความรู้หรือทักษะแต่ละเรื่องนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์ยังไงกับชีวิตทั้งในวันนี้และในอนาคตของนักเรียนบ้าง แต่ละรายวิชามีคุณค่าและตอบโจทย์ชีวิตของนักเรียนอย่างไร กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและรายวิชาจึงเป็นเรื่องการตั้งคำถามต่อเป้าหมายปลายทางของการเรียนรู้ที่เราต้องการจะพานักเรียนของเราไปถึง

ที่สำคัญโรงเรียนของเราไม่เคยปฏิเสธการสอนเรื่องวินัยและศีลธรรม แต่เรารู้ว่า การสอนเรื่องวินัยและศีลธรรมด้วยการบังคับและลงโทษ ไม่ได้สร้างให้เกิดวินัยอย่างแท้จริง แต่คือการบ่มเพาะความกลัวต่ออำนาจที่ปราศจากเหตุผลและการรับฟัง

การสอนวินัยและศีลธรรมของร.ร.สาธิตมธ.จึงเป็นเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และการสร้างความรับผิดชอบที่ไม่ต้องให้ใครมาคอยกำกับ แต่ตัวเราเองที่จะต้องเป็นผู้กำกับดูแลตัวเอง โดยเฉพาะในยามที่ไม่มีใครเห็น

น่าเสียดาย ที่ผ่านมาระบบการศึกษาในบ้านเราใช้การบังคับลงโทษมาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กกลัว และเรียนรู้ที่จะ “รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง” ซึ่งแทนที่จะเป็นการบ่มเพาะวินัยและศีลธรรมในตัวเด็ก กลับกลายเป็นการสอนทางอ้อมให้เด็กเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากกฎระเบียบเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดโดยไม่มีใครจับได้

สิ่งที่ ร.ร.สาธิตทำจึงไม่ใช่การล้างสมองของเด็กๆ เพราะสมองของพวกเขาถูกพยายามล้างมานานแล้วจากระบบการศึกษา สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมและการพร่ำเพ้อถึงศีลธรรมอันดีงามจากพวกผู้ใหญ่ตั้งแต่เล็กจนโต

น่าแปลกที่ไม่มีใครเอะใจตั้งคำถามบ้างว่า ถ้าการล้างสมองทำได้ง่ายขนาดนั้น ทำไมชาวสลิ่มถึงไร้ความสามารถที่จะล้างสมองให้เด็กเห็นคล้อยตามตรรกะและความเชื่อของฝั่งตัวเองได้?

หรืออันที่จริง การล้างสมองเด็กก็เป็นแค่เรื่องเล่าที่ชาวสลิ่มช่วยกันสร้างขึ้นมาบนจินตนาการและความหวาดกลัวของกลุ่มคนที่ยืนอยู่บนความเบาบางของเหตุผลในการดำรงชีวิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ต้องพยายามปิดหูปิดตาหลอกตัวเองให้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถามอีกต่อไป

ขณะที่ครูท่านหนึ่งของรร.สาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อกระแสต่อต้านการเรียนการสอนทางเลือกนี้ว่า

จากดราม่า “สาธิตธรรมศาสตร์ล้างสมอง” สิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้คือ

1.คอมเมนต์ส่วนมากมักไม่พอใจรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการที่ “นิ่มเกินไป” “ใจดีเกินไป” หรือ “ปล่อยปละละเลย” โรงเรียนนี้ไว้

  1. มีบางส่วนที่เรียกให้ ฝ่ายความมั่นคง/ทหาร เข้ามาจัดการ (ว้าว ๆ ไปเลย)

3. จากข้อ 1-2 สะท้อนภาพความนิยมแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกับวงจรอุบาทว์ทางการเมือง เมื่อเกิดปัญหาใดขึ้นแทนที่จะใช้กลไกปกติจัดการ กลับชอบเรียกร้องให้ทหารเข้ามาจัดการ แบบนี้สิถึงเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว ถูกใจ (เพิ่งสอนเรื่องวงจรอุบาทว์ทางการเมืองกับนักเรียน ม.3 ไป แต่กล่าวหาว่าสอนเรื่องนี้เป็นการล้างสมองไม่ได้หรอกนะ เพราะตอนฉันเรียนมัธยม รร.สพฐ. เค้าก็สอนเรื่องนี้)

4. เราเองคิดไม่ถึงว่าคนจะคอมเมนต์ด่า/ติติงรัฐบาลเยอะขนาดนี้ คะแนนนิยมลุงตู่และพลังประชารัฐคงตกแล้วจริง ๆ

5. ถ้าคิดว่าหน่วยงานรัฐไหนมีหน้าที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลโรงเรียนสาธิต ขอแจ้งว่าไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นกระทรวงอุดมศึกษาฯ อันนี้ก็ถือเป็นความรู้รอบตัวที่น่ารู้และเกี่ยวพันกับเรื่องโครงสร้างการบริหารราชการ กระทรวง อันถือเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ในวิชาสังคมศึกษา

6. ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ขาดข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ไม่มีเครื่องแบบ จริง ๆ ก็มีเสื้อโปโลที่เป็นเครื่องแบบ เสื้อนี้ใส่บางวัน ครู นักเรียน เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารมีเสื้อแบบเดียวกันนี้ ในวันทั่วไปครูกับเด็กเลือกชุดเองได้

การมีข้อเสนอมาลอย ๆ ขาดข้อความหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นพอ เสนอความเห็นในสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ถ้าเป็นนักเรียนส่งงานมาให้ตรวจ ฉันจะถือว่าไม่ผ่าน ต้องไปปรับปรุง

7.ในฐานะคนที่อยู่ในทีมสอนประวัติศาสตร์และจากการพูดคุยกับ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เราอยากบอกว่าอาจารย์ใจกว้างกับประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการมากพอควร ไว้จังหวะเหมาะ ๆ มีเวลาสะดวกจะนำเสนอข้อเสนอแนะของอาจารย์ให้ได้ศึกษา แลกเปลี่ยน ถกเถียงกันต่อไป

8. สำหรับนักวิชาการชื่อดังและคนร่วมคอมเมนต์ที่อินเรื่องการศึกษาจัด ๆ ก็แนะนำให้อ่านหนังสือเพิ่มเติมกันหน่อย เช่น ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น (ไพฑูรย์ สินลารัตน์) พื้นฐานการศึกษา:หลักการและแนวคิดทางสังคม (ชนิตา รักษ์พลเมือง) สังคมศาสตร์การศึกษา (ศิวรักษ์ ศิวารมย์)

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์