ลุงตู่ กำชับ! รมว.เฮ้ง ช่วยเหลือดูแลลูกจ้างเดอะวัน ประกันภัย

         นายกรัฐมนตรีกำชับสุชาติ รมว.แรงงาน ช่วยเหลือดูแลลูกจ้าง บมจ. เดอะ วัน ประกันภัย หลังตัวแทนลูกจ้างแจงชุมนุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน คปภ. จำนวน 4 เรื่อง พนักงานตรวจแรงงานแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง การเป็นทนายความฟ้องคดีให้กับลูกจ้างและดำเนินคดีอาญานายจ้าง

            นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 นายอเนก โพธิ์ศรี กับพวกรวม 70 คน ซึ่งเป็นลูกจ้าง บมจ. เดอะ วัน ประกันภัย ได้มาชุมนุมที่หน้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ถนนรัชดาภิเษก เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัยของ คปภ. จำนวน 4 เรื่อง คือ เรื่องการขอให้ คปภ. คืนเงินของลูกจ้างที่นายจ้างหักไว้จากเงินเดือนลูกจ้างเพื่อเป็นเงินชำระหนี้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ การขอให้ คปภ. คืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 3 วัน ที่หักจากค่าจ้างลูกจ้างไว้ ตามหนังสือที่ยื่นไว้กับ คปภ. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 และเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย 3 วัน ในวันที่ 11-13 ธันวาคม 2564 ค่าชดเชย เงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 2/2565 ลงวันที่ 13 มกราคม 2565 ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยลูกจ้างกลุ่มนี้จึงกำชับให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด จึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ประสานให้คำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและคำร้องขอแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทนายความตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อฟ้องบังคับตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน โดยนายอเนกฯ ตัวแทนลูกจ้าง บมจ. เดอะ วัน ประกันภัย แจ้งว่าในสัปดาห์หน้าจะมารับคำขอรับเงินสงเคราะห์ฯ และคำร้องขอแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทนายความฯ เพื่อดำเนินการต่อไป

            นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานตรวจแรงงาน มีคำสั่ง ที่ 2/2565 ลงวันที่ 13 มกราคม พ.. 2565 สั่งให้บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี นายจ้าง จ่ายค่าจ้างของการทำงานวันที่ 11 – 13 ธันวาคม 2564 เป็นเงิน 1,012,446.90 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง เป็นเงิน 1,770,327.46 บาทค่าชดเชย 64,715,348 บาท และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,186,703.50 บาท ให้กับลูกจ้าง 354 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 82,684,825.86 บาท โดยจะครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 หากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและไม่นำคดีไปสู่ศาล (เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทนายความฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และดำเนินคดีอาญานายจ้าง ซึ่งในระหว่างนี้ลูกจ้างสามารถมายื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้