องค์กรสิทธิฯ ร้องไฟเซอร์ เพิ่มกำลังผลิต “แพกซ์โลวิด” ให้ประเทศกำลังพัฒนา หวั่นเข้าถึงไม่เท่าเทียม

วันที่ 26 มกราคม 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า องค์กร Public Citizen ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์สิทธิผู้บริโภคทรงอิทธิพล ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ ไฟเซอร์ บริษัทเวชภัณฑ์ชื่อดัง เพิ่มกำลังการผลิตยาแพกซ์โลวิดที่ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงการรักษาและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจากวัคซีนต้านโควิดที่ยังคงมีประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างครบถ้วน

โดยจดหมายจ่าหน้าถึง อัลเบิร์ต บัวร์ร่า ประธานบริหารของไฟเซอร์ ขอให้บริษัท จัดสรรการผลิตยาแพกซ์โลวิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ใน 3 ในปีนี้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในราคาที่เหมาะสม (อ่านรายละเอียดจดหมายได้ ที่นี่ )

ปีเตอร์ เมย์บาร์ดุค ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงเวชภัณฑ์ของ Public Citizen กล่าวในจดหมายว่า กลุ่่มกำลังเปิดตัวการรณรงค์ที่คาดว่าจะเป็นการรณรงค์ทั้งปี

“นี่จะเป็นหนึ่งในปัญหาการเข้าถึงยาอันดับต้น ๆ ของปีที่จะถึงนี้ มันจะเป็นการซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมของวัคซีนอย่างน่าท้อใจ อย่างน้อยในตอนแรก และพวกเราหลายคนเร่งมือเพื่อจะพยายามบรรเทาปัญหานี้” เมย์บาร์ดุค กล่าว

ขณะที่บริษทไฟเซอร์เอง เปิดเผยว่าได้รับจดหมายเรียกร้องแล้วแต่ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร และยังไม่เปิดเผยแผนปริมาณการผลิตยาแพกซ์โลวิด ซึ่งคาดว่าจะขายให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางผ่านระบบขั้นบันไดซึ่งประเทศที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อยกว่ารายได้ระดับกลางบนและประเทศที่มีรายได้สูง

อีกทั้ง ไฟเซอร์ยังจะอนุญาตสิทธิในการผลิตให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในประเทศระดับรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งคิดเป็น 48% ของประชากรโลก แต่บริษัทไม่คาดหวังว่าบริษัททั่วไปเหล่านั้นจะสามารถจัดหาปริมาณยาที่มีนัยสำคัญได้จนถึงปี 2566

นอกจากนี้ Public Citizen ยังเรียกร้องให้ไฟเซอร์ช่วยเร่งการเข้าถึงให้กับผู้ผลิตยาด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและแบ่งปันข้อมูลด้านกฎระเบียบ และเพื่อขยายจำนวนประเทศที่ผู้ผลิตยาสามัญจะได้รับอนุญาตให้ขายยาได้

ทั้งนี้ วัคซีนสำหรับประเทศยากจนมีอย่างจำกัดจนถึงปี 2022 ส่วนใหญ่ เนื่องจากขาดวัคซีน เนื่องจากรัฐที่ร่ำรวยกว่าได้ปริมาณยาส่วนใหญ่ที่มีในขั้นต้น โดยการจัดส่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้โครงการแบ่งปันวัคซีนทั่วโลกของ COVAX สามารถจัดส่งได้ถึง 1 พันล้านโดสไปยัง 144 ประเทศ

สำหรับยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์ หลังการทดสอบทางคลินิก พบว่าสามารถลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูงถึง 90% ซึ่งสูงกว่ายาต้านโควิดของบริษัทคู่แข่งอย่างโมลนูพิราเวียร์ของเมิร์สค แต่ปริมาณการผลิตของแพกซ์โลวิดยังจำกัดในระยะสั้น โดยไฟเซอร์กล่าวว่า สามารถผลิตเพื่อการรักษาได้ 120 ล้านชุดในปีนี้ แต่ลดลงจากที่บริษัทประมาณการทิศทางการตลาดปี 2565 ที่ตั้งเป้าปริมาณยาทั่วโลกไว้ที่ 250 ล้านชุด