‘ประยุทธ์’ เข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย เสียใจปมคดีเพชรซาอุฯ ยันพยายามสะสางที่สุดแล้ว

‘ประยุทธ์’ เข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร ซาอุดิอาระเบีย แสดงความเสียใจโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในไทย ระหว่าง พ.ศ. 2532-2533 ยันพยายามสะสางอย่างที่สุดแล้ว โวฟื้นฟูความสัมพันธ์สมบูรณ์แล้ว คาดดึงนักท่องเที่ยว สะพัดปีละ 5 พันล้านบาท ยันจะดูแลคนไทยในซาอุฯ เป็นอย่างดี

วันที่ 25 ม.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางถึงกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อเวลา 11.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด (เวลา 15.20 น. ตามเวลาประเทศไทย)

จากนั้นเวลา 13.30 น. (เวลา 17.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) นายกรัฐมนตรีและคณะ เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ พร้อมเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือข้อราชการ ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ (Al Yamamah Palace)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียทรงให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างสมเกียรติ โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ รวมทั้งยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับชาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 (รู้จักในชื่อคดีเพชรซาอุฯ) ยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่างๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยคนในชาติของกันและกันในแต่ละประเทศ

ต่อมานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ผมได้เดินทางมาเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

“โดยในวันนี้ ผมได้เข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อจากนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาในช่วงที่ผ่านมา”

ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งในระยะแรกจะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตและการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี เพื่อรื้อฟื้นและส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ สิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันที่จะร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบพหุภาคีต่างๆ อาทิ องค์การ OIC (โอไอซี) อาเซียน GCC (จีซีซี) รวมถึงการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ด้วย

ในการเดินทางมาเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมคณะมาด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างสองประเทศ เพื่อวางแผนและกำหนดสาขาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศอย่างเป็นระบบและมีการบูรณาการ ซึ่งจะเป็นกลไกการติดตาม ประเมิน และทบทวนผลการดำเนินความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับการอนุญาตให้แรงงานไทยกลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียได้ รวมถึงการส่งเสริมแรงงานฝีมือและเฉพาะทางของไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศทั้งในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไทยและซาอุดีอาระเบียสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนาของกันและกัน โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย และวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ.2030

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะ “ครัวโลก” เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย และในฐานะ “ศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยว” ของไทย

โดยคาดว่า นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย ในฐานะที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันอันดับต้นของโลก

นอกจากนี้ เมื่อการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันกลับมาเป็นปกติ ก็จะสามารถรื้อฟื้นการกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียของแรงงานฝีมือ แรงงานภาคบริการ และแรงงานเฉพาะทางของไทย ซึ่งก่อนการลดความสัมพันธ์ระหว่างกัน เคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน และสร้างรายได้ส่งกลับประเทศไทยมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า “ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ผมได้มีโอกาสพบปะและสอบถามความเป็นอยู่ของชุมชนไทยในซาอุดีอาระเบียและได้ยืนยันกับพี่น้องคนไทยทุกคนว่า รัฐบาลไทยจะให้ความดูแลคนไทยในซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดีอย่างเช่นที่ผ่านมาแน่นอน”

“สุดท้าย ผมขอแสดงความยินดีกับการเริ่มต้นศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย อีกครั้ง การเยือนครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์และเป็นการเปิดโอกาสสำหรับทั้งสองประเทศในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันต่อจากนี้ จะนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกันของพี่น้องคนไทยและชาวซาอุดีอาระเบียอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรี กล่าว