“เพื่อไทย” ถาม “ประยุทธ์” ไทยได้อะไร เป็นเจ้าภาพเอเปค ชวนจับตาใช้งบ 3.2 พันล้าน คุ้มค่า หรือ ล้างผลาญ?

“เพื่อไทย” ถาม “ประยุทธ์” ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคคนไทยได้ประโยชน์อย่างไร ชวนประชาชนจับตาใช้งบ 3,200 ล้านบาทตลอดวาระการประชุมคุ้มค่า หรือละลายแม่น้ำ

วันที่ 25 มกราคม 2565 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและที่ปรึกษาคณะทำงานต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายนพ ชีวานันท์ ส.ส. พระนครศรีอยุธยา และนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ ได้ออกมาแถลงข่าว หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565 พร้อมระบุว่า หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้คือ “Open Connect Balance” หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยจะเน้นความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) เป็นต้น

นายวรวัจน์ กล่าวว่า ว่าการบริหารประเทศในประชาคมโลก ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือระหว่างประเทศได้ มีนายกรัฐมนตรีที่ไร้ภาวะความเป็นผู้นำ หัวข้อการประชุมจึงดูไม่สง่างาม ไม่สมบทบาทกับการเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุมเอเปคเทียบเท่ากับผู้นำในครั้งที่ผ่านมา

ดังจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการส่งออกของไทยในระยะ 7 ปี ที่ผ่านมา มีการหดตัวอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีการระบาดของโรคโควิด -19 เช่นกัน แต่ผลกระทบของนานาประเทศกลับมีน้อยกว่าที่ประเทศไทยได้รับ สาเหตุหลักเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลเอง จนทำให้ผลกระทบรุนแรง แผ่ขยายเป็นวงกว้างกินเวลายาวนานขนาดนี้

ทั้งนี้ ในการเตรียมการประชุมเอเปคซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในรอบ 10 ปี แต่ประเทศไทยในฐานะผู้จัดงานใหญ่กลับไม่เคยประกาศถึงวิธีการและเป้าหมายในการบรรลุข้อตกลงร่วมแบบทวิภาคีกับกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากฝีมือของรัฐบาล ไม่เคยมีแผนดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากประเทศสมาชิก

เทียบไม่ได้กับการประชุมในฐานะประธานเอเปคของประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ดำเนินการจัดการประชุมอย่างสมบูรณ์แบบทุกด้าน ผู้นำแต่ละประเทศเห็นความสำคัญกับวาระการจัดงานของประเทศไทย เกิดผลการเจรจาจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากมาย

แต่ในขณะนี้ไทยซึ่งรับตำแหน่งเจ้าภาพอย่างเป็นทางการมาแล้ว 2 เดือน บรรยากาศกลับเงียบสงัด จึงอยากทราบว่ารัฐบาลว่าได้มีการเตรียมความพร้อมมากน้อยเพียงใด กำหนดเป้าหมายในการประชุมในแต่ละประเด็นที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและคนไทยอย่างไรบ้าง แม้แต่ในขณะที่การบริหารภายในรัฐบาลเองยังมีปัญหาแตกแยก ไม่สามารถบริหารให้มีความน่าเชื่อถือได้ ในฐานะประธานผู้จัดงาน จะสามารถสร้างความเชื่อมมั่นให้ชาวต่างชาติได้อย่างไร หรือสุดท้ายไทยเป็นเพียงประเทศผู้จัดงานในนาม แต่ไม่สร้างประโยชน์ใดๆ ให้กับคนไทยเลยหรือไม่

“พลเอกประยุทธ์ คือ ผู้นำที่ทำตัวทองไม่รู้ร้อน รู้ปัญหาแต่ไม่หาทางแก้ไข ปล่อยให้คนไทยผจญความทุกข์กันเอง เกือบ 8 ปีที่เป็นนายกรัฐมนตรีมา เข้าร่วมเวทีการประชุมในระดับนานาชาติหลายประเทศ มีเพื่อนสนิทเป็นผู้นำโลกมากมาย สุดท้าย คนไทยได้แต่อาวุธยุทโธปกรณ์กลับมา เสียโอกาส เสียงบประมาณ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบแทบกู่ไม่กลับ หยุดสร้างปัญหาเถอะครับ สร้างโอกาสให้กับคนไทยบ้างสักครั้ง” นายวรวัจน์กล่าว

นายนพ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ส่งผลให้ข้อตกลงต่างๆ ชะงักลง อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป เพราะประเทศไทยมีผู้นำที่อ่อนแอและไร้ความสามารถในการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไร้ความสามารถทางการทูต ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเปรียบทางการค้าในสุด ดังนั้น สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเพิ่มบทบาทในฐานะผู้จัดงานเอเปค โดยเฉพาะการพัฒนาระบบธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันในยุค New Normal ได้แก่

1.สร้างความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทย

2.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้และขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลก

3.จัดหาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและปรับให้โครงสร้างภาษีต่ำเพื่อให้ธุรกิจดิจิทัลรายย่อยสามารถเติบโตได้

4.สร้างกฎหมายและมาตรการรองรับควบคุมดูแลให้การค้าการลงทุนในระบบดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย

“เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เอาแต่ใช้กฎหมายไล่จับเว็บเถื่อน เก็บภาษีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพียงเพราะหาเงินไม่เป็น เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า รัฐบาลในฐานะผู้จัดงานเอเปคต้องเตรียมความพร้อมประเทศด้วยแผนพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ที่ชัดเจนและจับต้องได้มากกว่านี้ ก่อนที่นักลงทุนรุ่นใหม่จะเทเม็ดเงินไปลงทุนในต่างประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนใหม่ๆ ไปหมด”นายนพ กล่าว

ขณะที่ นายจักรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในประเด็นด้านการฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวอันประกอบด้วย (1) การจัดทำ APEC Frequent Travel Card หรือ AFTC (2)ข้อเสนอ APEC COVID-19 Health Certification Mutual Recognition และ (3) การขับเคลื่อนประเด็น safe passage นั้น

เวทีเอเปคได้พยายามหาแนวทางร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 มาตลอด แต่ประเทศไทยไม่พร้อมในทุกๆด้าน โดยพลเอกประยุทธ์กลับเป็นผู้นำที่เมินเฉยต่อปัญหาเดิม เพิ่มเติมคือสร้างปัญหาใหม่ พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอ “กุญแจ 3 ดอก” เพื่อฟื้นฟูการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศไทย ผ่านการประชุมเอเปคในครั้งนี้

1.มาตรการสาธาณสุขในประเทศ ได้แก่ ฉีดเข็ม 3 สั่งยาและผลิตยา เตรียมบริการทางการแพทย์ เตรียม

2.หามาตรการทางการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนจากการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินมาเป็นการตรึงประกันภัยโควิด สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวแบบหรูหรา

3.เร่งจัดหานโยบายเพื่อลดและจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวทั้งระบบและโครงสร้าง จากเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น รับรองและพัฒนา อย่าเน้นแจกตังค์ ควรหาวิธีหาตังค์แทรกซึมเข้าไปด้วย

ส่วนในประเด็นโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ไม่พบว่าแผนพัฒนาของประเทศไทยที่จะนำไปสู่ Zero Carbon ที่จะเป็นแผนการที่ระบุตายตัว หรือมีรายละเอียดที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่เป้าหมาย จากการตัดงบประมาณในส่วนของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลควรมีความจริงใจและแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน มีหลักเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านอากาศสะอาดกับนานาประเทศ

“การประชุมเอเปคในครั้งนี้จะตัดสินได้ว่าประเทศไทยจะเป็นแนวหน้าในโลกหรือรั้งท้ายเหมือนเดิม ขอความร่วมมือรัฐบาลอย่าทำให้ประเทศไทยตกต่ำไปมากกว่านี้ในสายตาประชาคมโลก รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยใช้ความสัมพันธ์ทางการฑูต ในการเจรจา ด้านการต่างประเทศของไทยอ่อนแอ ไม่เคยใช้ให้เป็นประโยชน์ หากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องใหญ่ๆ คงไม่เกิดขึ้น กรอบงบประมาณ 3,283.10 ล้านบาท ตลอดวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้ จะคุ้มค่าหรือละลายแม่น้ำอยู่ในน้ำมือท่าน ท่านจะทำให้ประเทศไทยเผชิญอยู่ในสภาวะใด” นายจักรพล กล่าว