“ชัยวุฒิ” เปิดศึก META THAILAND 2022 ยันยกระดับอีสปอร์ตไทยทั้งระบบ

รมว.ดีอีเอสเปิดศึก META THAILAND 2022 ยันยกระดับอีสปอร์ตไทยทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตรายการ “META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFF” ครั้งที่ 1 รอบหลัก (Main Event) ในรูปแบบ Metaverse พร้อมทั้งการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “The Transforming to META Digital : 4YFN”

การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตรายการ “META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFF” จัดโดย บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด ที่นำ 2 เกมยอดฮิตอย่าง Arena of Valor (RoV) และ FREEFIRE มาแข่งขันทั่วประเทศในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาได้แข่งขันรอบคัดเลือกภูมิภาค ในรอบ Regional Qualifier จนได้ทีมผ่านเข้าสู่รอบหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า META THAILAND 2022 จัดขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลก ที่กำลังวิวัฒนาการไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วง 4 ปีข้างหน้า ทั้งเรื่อง Technology Disruption และโอกาสในแวดวงกีฬาอีสปอร์ต กระทรวงในฐานะที่ดูแลในแง่นโยบาย และการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคม และพัฒนาทุกอุตสหกรรมที่เกี่ยวข้อง ต้องส่งเสริมกีฬาอีสปอร์ตให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับอย่างกว้างข้างยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญ เป็นช่องทางสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักพัฒนาเกม ให้เกมเมอร์ไทยก้าวสู่เวทีระดับโลกได้

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า การจัดงาน META THAILAND 2022 ในรูปแบบออนไลน์ จะนำทุกคนไปพบกับโลกแห่งเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลด้วยเทคนิคโลกจำลองเสมือนจริง ซึ่งจะได้รู้เรื่องราว Digital Transformation ในแง่มุมต่างๆ ภายใต้แนวคิด 4YFN Conference และ Esport road to professional พร้อมรับชมศิลปะแสดงภาพในรูปแบบ NFT Artspace หรือภาพวาดในโลก Blockchain รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Coding และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และที่พลาดไม่ได้คือ การแข่งขันอีสปอร์ตใน 2 ประเภททั้ง Arena of Valor (RoV) และ FREEFIRE ที่จะมีทุนการศึกษาให้กับผู้ชนะจำนวน 1 ล้านบาท

“อีสปอร์ตถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง แต่เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันในหลายเกมหลายระดับ เหมือนการแข่งขันกีฬาอื่นทั่วไป ที่นักกีฬาจะต้องมีการฝึกซ้อม มีวินัยในการฝึก มีการใช้ทักษะส่วนตัวในการแข่งขัน และที่สำคัญต้องมีการวางแผนสร้างทีม และวางกลยุทธ์ในการต่อสู้เหมือนกีฬาอื่นๆ ทั่วไป ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ทั้งเงินรางวัลจากการแข่งขัน หรือรายได้ประจำในฐานะนักกีฬาในทีม รวมถึงรายได้จากสเปอร์เซอร์ หรือการสตีมมิ่ง ที่อาจมีรายได้ถึงหลักแสนหรือหลักล้านบาทต่อเดือน”

รมว.ดีอีเอส กล่าวเพิ่มว่า ในแง่เศรษฐกิจอุตสหกรรมอีสปอร์ต มีตัวเลขการเติบโตสูง และจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต โดยมีการคาดว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 กลับสู่สภาวะปกติ ในปี 2024 รายได้ของอีสปอร์ตน่าจะอยู่ที่ 1,617 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 53,400 ล้านบาท ในอนาคตอีสปอร์ตจะได้รับความนิยมอย่างสูง และสร้างรายได้มหาศาล โดยเฉพาะประเทศที่มีนักกีฬาจำนวนมาก ทั้งสหรัฐ, จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยต้องก้าวตามให้ทันให้ได้ ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมเกมในไทยมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างเช่น การพัฒนาเกมออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน ผู้ประกอบไทยเองก็พัฒนาเกมจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากเม็ดเงินลงทุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงความนิยมในกีฬาอีสปอร์ตเหล่านี้จะต่อยอด และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกมเข้ากับภาคธุรกิจอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ในแง่การยอมรับ กีฬาอีสปอร์ตเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการถูกบรรจุเข้าไปในกีฬาซีเกมส์ ในปี 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และในไทยเอง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกีฬาอาชีพเรื่องกำหนดชนิดกีฬา หรือประเภทกีฬาอาชีพ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2564 โดยกำหนดให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี และเป็นประสบการณ์สำคัญ ที่ประชาชนทุกคนจับตามอง และอยากส่งเสริมให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยเองล่าสุดทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต เพิ่งคว้าแชมป์ Arena of Valor International Championship 2021 (AIC) ได้เงินรางวัลกว่า 13 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าอีสปอร์ตสามารถสร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ตเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเห็นถึงความสำคัญกับการเติบโตของอุตสหกรรมนี้ ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวง ได้ดำเนินการส่งเสริมอุตสหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะวงการอีสปอร์ต โดยมีโครงการ Depa game online academy เป็นการจับมือกับพันธมิตรอย่าง สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย, บริษัท อินโฟเฟด จำกัด และพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศมาช่วยสร้างความรู้แก่กับบุคลากรอุตสาหกรรมเกมในไทยผ่านหลักสูตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ และโมบายส์แอพพลิเคชั่น เนื้อหาหลักสูตรจะเป็นการออกแบบเกม สร้างเนื้อเรื่องสร้างสภาพแวดล้อมเหมือนจริง สร้างคาแรกเตอร์ โดยวิทยากรชั้นนำระดับโลกจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างสรรค์พัฒนาต่อไปได้

“อีกหนึ่งโครงการคือ Depa game accelerator program เป็นความร่วมกับ บริษัท การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย และบริษัท อินโฟเฟด จำกัด เป็นโครงการที่วางรากฐานความเป็นมืออาชีพให้กับผู้ที่สนใจ เพิ่มขีดความสามารถ และพัฒนาฝีมือของบุคลากรด้านอุตสหกรรมเกม เป็นการสร้างสรรค์รูปแบบเกมที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะเน้นไปที่ 4 หมวดหมู่เกมคือ Action, Adventure, Strategy และ Sport (Casual Game) การดำเนินโครงการนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายการพัฒนางานทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมความเป็นมืออาชีพให้เทียบเท่าระดับสากลอีกด้วย”

นายชัยวุฒิ กล่าวในตอนท้ายว่า อีสปอร์ตผ่านการเปลี่ยนผ่านจากเกมสันทนาการไปสู่การแข่งขันเชิงกีฬา และเปลี่ยนจากงานอดิเรกมาเป็นกีฬาอาชีพ ซึ่งที่สำคัญจะสร้างอาชีพให้กับผู้เล่น สร้างโอกาสทางธุรกิจ และทำให้เกิดอาชีพที่เกี่ยวข้องอีกมากมายเช่น คอนเทนต์ ครีเอเตอร์, อินฟลูเอนเซอร์, นักพากย์, โค้ช และผู้จัดการทีม รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นสปอร์นเซอร์ไม่ต่างกับกีฬาอื่นๆ ดังนั้นอีสปอร์ตจึงไม่ใช่การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมโทรศัพท์ แต่จะมีผลผูกพันทางธุรกิจของประเทศ และระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปในอนาคต

“ปัจจุบันภาครัฐ และเอกชนได้ให้ความสนใจในการจัดตั้งหลักสูตรการศึกษา เพื่อบุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมอีสปอร์ต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เยาวชนเดินในเส้นทางนี้ได้อย่างถูกต้อง และเป็นอาชีพได้ โดยในอนาคตเรามีเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมเกมของไทย ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา จากประเทศผู้ใช้งานมาเป็นผู้ผลิต และแข่งขันเกมในระดับสากล ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล” รมว.ดีอีเอสกล่าวปิดท้าย