กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ลุยเชียงราย ติดตามความช่วยเหลือแรงงาน-ผู้ประกอบการรับผลกระทบโควิด

กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ติดตามความช่วยเหลือภาคแรงงาน ผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด-19 ฟื้นเศรษฐกิจชายแดน จ.เชียงราย

วันที่  21 มกราคม 2565 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มอบหมายให้ นายจิรชัย มูลทองโร่ย โฆษกคณะกรรมาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธิการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินการบริหารจัดการด้านแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

และศึกษาดูงาน การบูรณาการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงราย โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ อนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ร่วมคณะในครั้งนี้ด้วย

นายจิรชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานฯ มีภารกิจหลักในการติดตามการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ (ด้านแรงงาน) ซึ่งในวันนี้ผมได้นำคณะอนุกรรมาธิการฯ เข้าพบนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวสถานการณ์ทั่วไปด้านแรงงานและการบูรณาการส่งเสริม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุของส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

จากนั้นเข้าพบผู้บริหารสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ณ จุดผ่านแดนถาวรแม่สาย ซึ่งเป็นสถานที่กักแรงงานต่างด้าว ที่ถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมืองและรอการส่งกลับ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานในภาพรวมและการสกัดกั้นการเดินทางเข้าออกของแรงงานต่งด้าว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และในวันพรุ่งนี้จะได้เดินทางไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย เพื่อดูการวางแผนกระบวนการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ ความศรัทธา และสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน

“ท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้รับทราบความเดือดร้อนของภาคแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 และท่านมีความห่วงใยผู้รับกระทบต่อสถานการณ์ดังกล่าว ในวันนี้จึงให้คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะ และติดตามแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาภาคแรงงานจากผลกระทบโควิด -19 รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่

ตลอดจนการติดตามการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ด่านชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานแก่ผู้ประกอบการ แรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมายป้องกันการนำเชื้อเข้ามา ที่สำคัญจะทำให้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจการค้า การลงทุนตามแนวชายแดนให้แก่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย” นายจิรชัย กล่าวในท้ายสุด

ด้านนายฉัตรชัย พัฒนานุภาพ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก การที่ภาครัฐมีโครงการที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการจังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการใน SMEs ซึ่งผมคิดว่าสามารถช่วยเหลือได้มาก อย่างน้อยเราสามารถที่จะคงอัตราการจ้างงานโดยการช่วยเหลือด้านการสมทบร่วมจ่ายของทางภาครัฐในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งหากผู้ประกอบการที่ได้ทราบข้อมูลสามารถเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ ซึ่งเราเจอปัญหามาตลอดระยะเวลา 2 ปี

เรายังถือว่าปัญหายังไม่หมดไป ตอนนี้ยังอยู่ในสภาวะเริ่มฟื้นตัว แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น SMEs ก็ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะพิจารณาขยายระยะเวลาการช่วยเหลือเพิ่มอีก 3 เดือน ก็จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ แรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการคงอัตราการจ้างงาน แรงงานก็จะสามารถรักษาตำแหน่งงานของตัวเองไว้ได้ สุดท้ายนี้ ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการนี้ ซึ่งทางผู้ประกอบการได้รับประโยชน์มาก ยังรวมถึงแรงทุกคนด้วย ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ถูกทาง ทำให้ SMEs สามารถฟื้นตัวและสามารถดำเนินต่อไปได้

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีกำลังแรงงาน 577,440 คน เป็นผู้มีงานทำ 564,320 คน ผู้ว่างงาน 12,707 คน มีแรงงานนอกระบบ 417,080 คน มีสถานประกอบกิจการในระบบประกันสังคม 6,683 แห่ง ผู้ประกันตน 147,240 คน มีผู้สูงอายุ 250,712 คน มีคนพิการ 42,457 คนมีแรงงานต่างด้าว 28,476 คน

ในช่วงโควิด -19 ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยแก่สถานประกอบการที่รัฐสั่งปิด จำนวน 2,552 แห่ง เป็นเงิน 8,528,369.30 บาท นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการจากโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs แก่ผู้ประกอบการ 3,011 ราย ซึ่งสามารถช่วยรักษาการจ้างงานแก่ลูกจ้างได้ถึง 27,820 คนอีกด้วย