วิวาทะสภาปมหมูแพง “จุลพันธ์” ตกใจรมช.เกษตรบอกไม่มีโรค ASF-หมูไม่หาย ‘ประภัตร’ โต้รบ.ไม่ปกปิด

พท.อัดเละ รบ. ปกปิดโรคระบาดหมู ทำปชช.เดือดร้อนทั้งประเทศ ด้านประภัตร ยันรบ.ไม่ปกปิด พร้อมโชว์ผลแล็ปตรวจซากหมูตาย เตรียมหอบข้อมูลสต็อกหมูส่งนายกฯ พรุ่งนี้

วันที่ 20 มกราคม 2565 เมื่อเวลา 11.45 น.  ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องสถานการณ์โรคระบาดหมู ว่า โรคอหิวาต์แอฟริกา หรือเอเอสเอฟในหมู ที่มีความรุนแรง ทำให้หมูราคาแพงกระทบทั้งผู้เลี้ยงหมูและทำให้กระทบราคาสินค้าอื่นๆด้วย เช่น ไก่ ไข่ และสินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆแพงตามไปด้วย

มีการปกปิดการระบาดของโรคมา 3 ปี เพราะราคาหมูถีบตัวสูงขึ้น ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ และเมื่อจำนนต่อหลักฐานกรมปศุสัตว์ก็ออกมายอมรับว่ามีโรคเอเอสเอฟจริง จึงอยากถามว่าทำไมรัฐบาลจึงปกปิดโรคดังกล่าว จนทำให้ประโยชน์ไปตกกับผู้ค้ารายใหญ่ และรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไรในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อไม่ให้ราคาหมูแพง

ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2562 เจอซากสุกรลอยน้ำในแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตนลงพื้นที่ด้วยตนเอง และได้ตรวจพิสูจน์ซากหมู เชื่อว่าเป็นโรคระบาดในสุกรที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นต้องกำจัดด้วยการทำลายสุกร ทั้งนี้ การป้องกันโรคระบาด ช่วงแรกเอกชนลงขันเป็น เงินหลัก 100 ล้านบาท และคิดเป็นค่าเผาทำลายสุกร ประมาณ 90 ล้านบาท สุกรยังไม่เป็นโรค แต่ต้องสกัดกั้นการระบาด และหยุดยั้งให้ได้

“ผลแล็ประบุว่าไม่พบอหิวาห์แอฟริกาเป็นการตรวจไวรัสแต่พบพีอาร์อาร์เอส ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับ แต่ผลแล็ปยืนยันมาแบบนี้ ผมขอทำความเข้าใจกรณีการปกปิด ทั้งนี้ โรคในสุกรที่ตายจำนวนมาก คือ โรคเอเอสเอฟ, โรคพีอาร์อาร์เอส ระบบสืบพันธุ์และระบบหายใจ และ ซีเอสเอฟ อหิวาห์ในสุกร ซึ่งอาการของโรคนั้นเหมือนกัน และตายภายใน 1 วัน โดยเอเอสเอฟ ไม่มีวัคซีน ส่วนโรคพีอาร์อาร์เอส เกษตรกร ไม่อยากฉีดเพราะยามีราคาแพง ส่วนซีเอสเอฟ ฉีดได้ทุกตัวเพราะราคาถูก ทั้งนี้ ผลแล็ป อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ที่หมูตายพอสมควร ระบุว่าเป็นพีอาร์เอส ยังไม่พบเอเอสเอฟ ส่วนโรคซีเอสเอฟ เพิ่งเจอปี 2565 ที่โรงฆ่าสัตว์นครปฐม ยืนยันว่าตนไม่มีเจตนาจะปกผิด และรัฐบาลไม่มีการปกปิดเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่เสียหายทั้งระบบ สำหรับหมูที่ตายทั้งสิ้น 2.7 แสนตัว ผลแล็ปบอกว่าเป็นพีอาร์อาร์เอส” นายประภัตร กล่าว

นายประภัตร ชี้แจงด้วยว่าปริมาณหมูในประเทศมีจำนวน 19 ล้านตัว มีกลุ่มผู้เลี้ยงรวม 1.9 แสนราย แบ่งเป็นรายย่อยและรายเล็ก 1.8 แสนราย มีปริมาณหมูที่เลี้ยง ประมาณ 4 ล้านตัว ขณะที่รายใหญ่ 200 ราย และ รายกลาง 3,000 ราย มีปริมาณหมูที่เลี้ยง 15 ล้านตัว ส่วนราคาหมูที่มีราคาแพง ซึ่งกรมการค้าภายใน เป็นผู้กำหนดราคา โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพง เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ และ ราคาลูกหมู โดยพบว่าเดือนพฤศจิกายน64 ราคาต้นทุนการเลี้ยง 82 บาท เขียงหมูขาย 160 บาท แต่ในเดือนธันวาคม64 – มกราคม 65 ต้นทุนขึ้น 91 บาท ราคาหน้าฟาร์ม 110 บาท ราคาขายเนื้อแดง 215 บาท ทั้งนี้การที่หมูตาายมีส่วนทำให้เนื้อหมูแพง แต่ไม่ใช่ขาดหายไปเลย

“ยืนยันว่าข้าราชการไม่ได้ปกปิดเพื่อใครเพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร พวกเราทำงานเต็มที่ท่านจะเห็นว่าผมออกไปต่างจังหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ไม่ว่างผมไปเอง ท่านรมว.ฯ ท่านเป็นประธานบิ๊กบอร์ด ท่านพยายามชี้แจงว่าต้องแก้ไขอย่างไร และวันนี้ผมมาเพื่อชี้แจงไม่ใช่มาแก้ตัว ว่า โรค 3 โรคนี้ ใบแล็ปออกมาเป็นพีอาร์อาร์เอส ไม่ใช่เอเอสเอฟ ผมไม่ใช่สัตวแพทย์จะไปแย้งเขาไม่ได้ เพราะเขารายงานมาอย่างนี้จริงๆ” นายประภัตร กล่าว

นายจุลพันธุ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐมนตรีมาสรุปว่าไม่มีโรคเอเอสเอฟ และหมูไม่ได้หายไปไหน ตนตกใจมากเพราะสถานการณ์ชี้ชัดว่ามีปัญหา เป็นการปกปิดเรื่องของโรคระบาดอย่างเป็นระบบ ขอท้าพิสูจน์ให้ขนศพหมูขึ้นมาตรวจอีกครั้ง รับประกันว่าเจอโรคเอเอสเอฟแน่นอน นอกจากนั้นในส่วนของราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้น เชื่อว่ามีผู้ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากราคาที่ถีบตัวสูงขึ้น จากผู้ค้าที่เก็บสต๊อกเนื้อหมู ซึ่งตนพร้อมจะพาไปแหล่งที่เก็บสต๊อกเนื้อหมู ไม่ใช่ไปตรวจสต๊อกที่โรงเนื้อแกะและเนื้อวัว แล้วจะเจอสต๊อกเนื้อหมูได้อย่างไร

นายประภัตร กล่าวว่า “ผมไม่ได้แกล้งเซ่อ บางทีเราก็ตามไม่ทันเหมือนกัน” ส่วนการแก้ไขทางกระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ และวันนี้ตนต้องเอาตัวเลขสต๊อกหมูและเลขอื่นๆ นำไปให้นายกฯดูว่าเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลที่นายกฯจะได้ตัดสินใจในวันที่ 21 มกราคม และได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดต้องส่งตัวเลข รวมกับกระทรวงมหาดไทยในวันพรุ่งนี้ว่าสต๊อกหมูฟาร์มเล็ก ฟาร์มใหญ่มีอยู่เท่าไหร่ จะได้ประเมินถูกว่าเรากินวันละ 5 หมื่นตัว ยังขาดอยู่เท่าไหร่ จำเป็นหรือไม่จะต้องนำเข้าหมูหรือไม่ เพื่อให้พอกับผู้บริโภค ราคาหมูจะได้ลง