“จาตุรนต์” ชี้ผลเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ สะท้อนรอยแยก “พลังประชารัฐ-พรรคร่วม” จับตาสนามหลักสี่-จตุจักร

วันที่ 19 มกราคม 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสภาวะการเมืองไทยและรัฐบาลปัจจุบันภายหลังความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐในสนามการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลาเมื่อ 16 มกราคม ที่ผ่านมาว่า

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้อาจจะยังไม่สะท้อนภาพความเสื่อมของรัฐบาลได้เท่าใดนัก

เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แต่ผลการเลือกตั้งก็บอกอะไรเราหลายอย่าง…

ตามที่มีการเปิดโปงกันเองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันทำให้น่าเชื่อได้ว่ามีการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างมาก แต่จะบอกว่าการใช้อำนาจรัฐและเงินไม่มีผลในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ได้เพราะเป็นการแข่งกันระหว่างพรรคการเมืองที่ต่างก็สามารถใช้อำนาจรัฐและเงินได้ ต่างฝ่ายต่างก็มีกลเม็ดเด็ดพรายใกล้เคียงกัน

แต่การเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้แสดงถึงความไม่ขลังของพรรคพลังประชารัฐให้เห็นอยู่บ้าง ทั้งยังเห็นถึงความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐที่มากขึ้น ประกอบกับมามีการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไปร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ยิ่งทำให้เห็นความเสื่อมของพรรคมากขึ้น

และที่สำคัญเรื่องนี้อาจโยงถึงสถานะของพลเอกประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะเป็นแคนดิเดทนายกฯในนามพรรคไหน และไม่ว่าจะเป็นแคนดิเดทของพลังประชารัฐหรือพรรคใหม่ พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางได้เสียงเท่าเดิมอีกแล้ว

การเลือกตั้งในภาคใต้ครั้งนี้ ได้เพิ่มปัญหาให้พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลอีกปัญหาหนึ่ง คือรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การเผชิญหน้าในระหว่างการเลือกตั้งทำให้ต่างฝ่ายต่างเห็นแผลของกันและกัน และต่างก็รู้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องเกรงใจกันอีกแล้ว จากนี้ไปความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะยิ่งมากขึ้น

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คงต้องมาดูกันที่การเลือกตั้งซ่อมที่จตุจักรหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่าพรรคพลังประชารัฐจะแพ้อีกหรือไม่ พรรคพลังประชารัฐคงจะทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาพแพ้รวดทั้ง 3 เขต โดยเฉพาะการเลือกตั้งในเขตนี้พลังประชารัฐไม่ได้แข่งกับพรรครัฐบาลด้วยกัน แต่แข่งกับพรรคฝ่ายค้าน พลังประชารัฐจึงสามารถใช้อำนารัฐได้เพียงฝ่ายเดียว

แต่การแข่งกับพรรคฝ่ายค้านก็จะทำให้พลังประชารัฐตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ในความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของประชาชนได้มาก ในฐานะที่เป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลและยังเป็นพรรคที่เสนอพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯด้วย โดยเฉพาะเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูงที่รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ทั้งนายกฯยังแสดงถึงความบ้องตื้นอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน การเลือกตั้งในเขตนี้ พรรคพลังประชารัฐจึงอาจตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะจะเป็นการฝืนใจประชาชนอย่างมากที่จะสนับสนุนรัฐบาลในขณะที่ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้นอยู่ทุกวันจากความล้มเหลวของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม การที่จะต่อสู้กับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ใช้อำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องเน้นการเข้าถึงประชาชนซึ่งเป็นจุดแข็งอยู่ก่อนแล้วให้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็คงต้องตอกย้ำความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล และอันตรายที่จะเกิดขึ้นจาการที่รัฐบาลเอาชัยชนะในเขตนี้ไปอ้างว่าประชาชนยังนิยมรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอยู่ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่เอือมระอากับรัฐบาลนี้เต็มทีแล้ว